“สายตายาว” เรื่อง (น่า) เศร้าของสาว 40+

“เพราะว่าสายตา (ยาว) มันหลอก (ตัวเอง) กันไม่ได้” ถึงจะพยายามบอก (หลอก) ตัวเองว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อถึงวัยนึงใครๆ เขาก็เป็นกัน เพราะถ้าไปดูสถิติจากทั่วโลกที่ The Brien Holden Vision Institute ได้ทำการศึกษาเมื่อปี 2016 ก็สรุปผลไว้ว่ามีประชากรจำนวนโลกถึง 2,000 ล้านคนที่มีภาวะเกี่ยวกับสายตา โดยยังคาดการณ์ไว้อีกว่าในอีกกว่า 30 ปี หรือในปี 2050 จะเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 5,000 ล้านคนที่มีปัญหาสายตา แต่ถึงอย่างนั้นก็อย่าเพิ่งทำใจยอมรับ แต่คงต้องมาทำความรู้จักกันสักนิด



สายตายาว (อาจ) ไม่ใช่แค่ชาว 40 ที่ต้องระวัง
สายตายาว (Hyperopia) เป็นปัญหาความบกพร่องทางสายตา ที่ไม่สามารถมองเห็นภาพในระยะใกล้ได้ชัดเจน แต่กลับมองเห็นภาพในระยะไกลได้ชัดเป็นปกติ หรือบางรายอาจมองเห็นภาพได้ไม่ชัดเจนทั้งในระยะใกล้และไกล ซึ่งสามารถเกิดได้ทั้งกับผู้ที่มีอายุน้อย ไปจนถึงผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยในกลุ่มคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปนี้จะเรียกว่าเป็นสายตายาวตามอายุ (Presbyopia) แต่สำหรับผู้ที่เป็นตั้งแต่เด็กๆ หรือแรกเกิด จะเรียกว่า สายตายาวโดยกำเนิด (Farsightedness) ซึ่งภาวะสายตายาวนี้จะเกิดจากการที่กระจกตามีความโค้งน้อยจนเกินไป หรือกระบอกตามีขนาดสั้นจนเกินไป ทำให้เมื่อแสงเข้าสู่ดวงตา การหักเหของแสงจึงน้อยลง ส่งผลให้จุดรวมแสงตกกระทบที่ด้านหลังจอประสาทตา วัตถุในระยะใกล้จึงมองเห็นเบลอกว่าวัตถุระยะไกล และสาเหตุโดยส่วนใหญ่มักเกิดจากลักษณะทางพันธุกรรม รวมถึงปัญหาสุขภาพ เช่น โรคเบาหวาน การเป็นมะเร็งรอบดวงตา หรือโรคตาเล็ก (Microphthalmia) ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดปัญหาสายตายาวได้ 

เช็คสิ! มีอาการแบบนี้หรือยัง
ถ้าเมื่อไหร่ที่มีอาการเหล่านี้ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจกำลังเข้าสู่ชมรมคนสายตายาวเข้าแล้ว 
  • ปวดศีรษะ ปวดตา จนต้องหรี่ตา หรือหากต้องทำงานในระยะใกล้จะรู้สึกล้าที่ดวงตาได้ง่าย
  • มองเห็นภาพซ้อน เพราะต้องเพ่งสายตา
  • แสบตา หรือตาสู้แสงไม่ได้ เนื่องจากตามีความไวต่อแสงมากขึ้น 
  • ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการใช้สายตาเวลากลางคืน
  • ผู้ที่อยู่ในวัยเด็ก อาจมีอาการตาเหล่ ตาเขร่วมด้วย เพราะต้องเพ่งสายตาตลอดเวลา
  • ปัญหาสายตายาวในเด็ก อาจทำให้มีอาการขยี้ตาบ่อยครั้ง และส่งผลกระทบต่อการอ่านหนังสือได้
  • มีปัญหาในการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การอ่านหนังสือ เย็บผ้า ขับรถยนต์ เป็นต้น


สายตายาวแล้วไง แก้ไขได้แล้วกัน!
เพราะเหตุที่สายตายาวตามวัยไม่ใช่โรค แต่เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงของดวงตาที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เนื่องจากเลนส์แก้วตามีความยืดหยุ่นน้อยลง โดยจะเกิดขึ้นกับทุกคนไม่ว่าจะมีค่าสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาปกติมาก่อนอายุ 40 ปีก็ตาม อีกทั้งในปัจจุบันยังไม่สามารถป้องกันได้ ดังนั้นทางเลือกในการแก้ไขสายตายาวตามวัยจึงสามารถทำได้หลายวิธี โดยเริ่มตั้งแต่การใส่แว่นสายตายาวสำหรับอ่านหนังสือ (Reading Glasses) หรือในคนที่มีภาวะสายตาสั้นอยู่ก่อนแล้วก็สามารถใช้แว่นชนิดโปรเกรสซีฟ หรือแว่น Bifocal ที่จะช่วยปรับการมองเห็นได้ทั้งระยะใกล้-ไกล นอกจากนี้ยังมีคอนแทคเลนส์สำหรับสายตายาวตามวัย ที่ออกแบบโดยเน้นพื้นที่การมองเห็นบนคอนแทคเลนส์ให้เหมาะสมกับขนาดรูม่านตา 

“มอง (การณ์) ไกล” ถ้าไม่ใช่เกี่ยวกับสายตา ก็คงว่าเป็นเรื่องดี แต่ถึงจะมีปัญหาถ้ารู้จักยอมรับ...และแก้ไข “สายตายาว” ก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ (ของวัย 40+) สักหน่อย  
-->