“ฝีขึ้น” บ่อย สัญญาณร้ายของร่างกายหรือเปล่านะ
“ฝี” แม้จะเป็นจุดเล็กๆ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่อักเสบขึ้นมาก็สร้างความรำคาญและเจ็บปวดไม่น้อยเลย แถมจะบีบก็ไม่ได้อีก เพราะยิ่งไปบีบก็มีแต่จะทำให้อักเสบมากขึ้น ดีไม่ดีติดเชื้อขึ้นมา จากฝีเม็ดเล็กๆ เกิดแบคทีเรียลุกลามกลายเป็นงานใหญ่เลยทีนี้ ซึ่งบางคนที่นานๆ ฝีจะมาทักทายทีก็ยังพออดใจไม่ไปบีบ แคะ แกะ เกา ไหวอยู่หรอก แต่ในรายที่ฝีขึ้นบ่อยชนิดเว้นอาทิตย์ เรียกว่าฝีเก่ายังไม่ทันหายดี ฝีใหม่ก็ขึ้นมาใหม่อีกแล้ว แบบนี้จะให้ปล่อยไว้ได้ยังไง

รู้มั้ยว่าการที่ฝีขึ้นบ่อยนอกจากจะสร้างความหงุดหงิดรำคาญใจแล้ว ยังเป็นอีกสัญญาณเตือนของโรคเบาหวาน โดยมีข้อมูลจากสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยระบุว่า ปัจจุบันคนไทยเราป่วยเป็นโรคเบาหวานสูงถึง 4.8 ล้านคน และมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคเบาหวาน 200 คนต่อวัน
รู้อย่างนี้เห็นทีจะมองข้าม “ฝี” ไม่ได้แล้วล่ะ!
แยกให้ออก...อันไหน “สิว” อันไหน “ฝี”
สิว กับ ฝี บางทีก็คล้ายกันจนแทบจะแยกไม่ออก แต่โดยทั่วไปแล้ว ฝี (Abscess) คือตุ่มหนองอักเสบสะสมใต้ผิวหนัง มีกลิ่นเหม็น และเจ็บปวดเมื่อสัมผัสโดน สามารถขยายขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ประกอบด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาว เนื้อเยื่อที่ตายแล้ว และเชื้อโรค ซึ่งมักเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย สามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกาย ส่วนสิวมักเกิดที่ใบหน้า คอ หน้าอก หลัง หรือไหล่ ฝีจะมีขนาดใหญ่ และทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บกว่าสิว ทั้งยังอาจมีไข้สูงหรือหนาวสั่นร่วมด้วย ซึ่งเป็นสัญญาณอาการของการติดเชื้อ โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ฝีที่ผิวหนัง เป็นฝีที่ก่อตัวขึ้นบริเวณใต้ผิวหนัง โดยบริเวณรากผมหรือขนที่เกิดการติดเชื้อจะพัฒนาจนเกิดฝี มีอาการอักเสบบวมแดง ทำให้รู้สึกเจ็บปวด และฝีที่อวัยวะภายใน การแสดงอาการจะขึ้นอยู่กับบริเวณที่เกิดฝี โดยฝีภายในร่างกายมักเกิดจากอาการเจ็บป่วยอย่างอื่นที่ส่งผลทำให้เกิดฝี

Credit: www.greatitude.live
ฝี กับ สัญญาณเตือนที่ต้องระวัง!
สำหรับผู้ป่วยเบาหวานมักจะพบ “แผลเบาหวาน” เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้มากที่สุด โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ต้องควบคุมอาการของโรคเบาหวาน แต่ทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระดับ จาก 0 – 3 โดยที่ในระดับ 3 ซึ่งจะเป็นระยะที่แผลมีการลุกลามในบริเวณกว้าง และมีฝีเกิดขึ้น ซึ่งนอกเหนือจากโรคเบาหวานแล้ว ฝี ยังเกิดขึ้นได้ง่ายกับผู้ป่วยที่เป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง เช่น สิว โรคเรื้อนกวาง ผู้ที่เคยผ่านการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยที่ทำเคมีบำบัด ผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีสุขอนามัยไม่ดี รวมถึงผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือผู้ที่เพิ่งได้รับการรักษาจากโรงพยาบาล พูดง่ายๆ ว่าเมื่อไหร่ที่ร่างกายอ่อนแอ ฝีก็พร้อมที่จะฉวยโอกาสผุดขึ้นมาได้ทุกเมื่อ และที่สำคัญผู้ที่มีฝีบริเวณใบหน้า หรือบริเวณกระดูกสันหลัง จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียที่อาจกระจายขึ้นสู่สมองและบริเวณไขสันหลังก่อนจะสายเกินไป
รักษา “ฝี” ก่อนที่จะสาย
ก่อนจะรักษาต้องรู้จักการป้องกันโดยฝีที่ผิวหนังสามารถป้องกันได้ด้วยการรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพราะฝีมักจะฉวยโอกาสโจมตีในยามที่ร่างกายอ่อนแอ รวมทั้งรักษาความสะอาดและดูแลสุขอนามัยในด้านต่างๆ ซึ่งหากว่ายังมีฝีขึ้น เบื้องต้นก็สามารถรักษาด้วยตัวเอง ดังนี้
1. ประคบฝีด้วยผ้าชุบน้ำอุ่น ครั้งละ 10-15 นาที วันละ 2-3 ครั้ง เพื่อเป็นการกระตุ้นเส้นเลือดบริเวณที่เกิดฝีให้ไหลเวียน ทำให้ฝีแตกเองได้ง่ายขึ้น
2. หมั่นล้างมือให้สะอาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อลุกลาม
3. ไม่บีบ เค้น หรือเจาะฝีที่ยังไม่ขึ้นหัวหนอง ซึ่งจะทำให้เชื้อโรคลุกลามไปยังบริเวณใกล้เคียงได้
4. ถ้าภายใน 2 สัปดาห์ อาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีขนาดใหญ่ผิดปกติ ให้ไปพบแพทย์เพื่อทำความสะอาด และทำการรักษาฝีให้ถูกต้อง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และการเป็นซ้ำซาก