“ฝันร้าย” สัญญาณอันตรายของปัญหาสุขภาพ (จิต)
“ความฝัน” อาจไม่ได้มีความสำคัญเพียงแค่การนำไปแปลงเป็นตัวเลขเท่านั้น ยิ่งถ้าเป็น “ฝันร้าย” ด้วยแล้ว เพราะได้มีงานวิจัยชิ้นล่าสุดของทีมนักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยเจนีวา โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเจนีวา ในสวิตเซอร์แลนด์ และมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ในสหรัฐฯ ซึ่งได้ร่วมกันศึกษาจนพบผลลัพธ์ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Human Brain Mapping ระบุว่าฝันร้ายช่วยให้คนเราตอบสนองต่อสถานการณ์ที่น่ากลัวได้ดีขึ้น หรือพูดอีกอย่างว่าความฝันถือเป็นการซักซ้อมปฏิกิริยาตอบสนองในอนาคต และเตรียมพร้อมเผชิญหน้ากับอันตรายที่จะเกิดขึ้นในชีวิตจริงได้ เช่นเดียวกับทางการแพทย์ ที่พบว่า “ฝันร้าย” อาจเป็นสัญญาณเตือนของร่างกาย เพื่อให้เตรียมระวังและรับมือกับปัญหาสุขภาพจิต ที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้
ที่มาของ “ฝันร้าย”
ฝันร้ายมักเกิดขึ้นในช่วงหลับฝัน (Rapid Eye Movement: REM) ซึ่งโดยทั่วไปจะเริ่มขึ้นเมื่อเกิดการส่งสัญญาณจากก้านสมองไปยังสมองส่วนธาลามัส เพื่อถ่ายทอดสัญญาณดังกล่าวไปยังชั้นสมองส่วนนอกที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ กระบวนการคิด และการจัดการข้อมูล ในระหว่างที่เซลล์สมองส่งสัญญาณร่างกายจะหยุดการทำงานของเซลล์ประสาทตรงไขสันหลัง ทำให้กล้ามเนื้อแขนขาขยับไม่ได้ชั่วขณะ ซึ่งหากมีบางสิ่งเข้ามากระทบกระบวนการนี้ ร่างกายจะเกิดปฏิกิริยาตอบโต้ออกมานอกฝัน โดยผู้ที่ฝันร้ายมักเกิดภาวะดังกล่าวตอนใกล้เช้า เนื่องจากช่วงหลับฝันกินระยะเวลาของการนอนหลับยาวขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งในช่วงหลับฝันจะเป็นระยะนอนหลับที่สมองตื่นตัวและประมวลความจำหรือเรียนรู้ข้อมูลใหม่ ทำให้ปรากฏภาพเหมือนจริงและส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกเมื่อนอนหลับฝันที่แตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่แล้วมักมีรูปแบบฝันร้ายที่เจอได้บ่อยเหมือนกัน
ฝันร้ายแบบไหนบอกว่ากำลังป่วย
ฝันร้ายของแต่ละคนก็มีเรื่องราวและรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่แล้วฝันร้ายที่บ่งบอกถึงปัญหาหรือความผิดปกติของสภาพจิตใจ มักมีลักษณะ
►จดจำรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ในฝันได้อย่างชัดเจน ฝันถึงเรื่องราวซ้ำๆ หรือมักฝันถึงเหตุการณ์ที่ทำให้หวาดกลัวอย่างมาก และมักจะเกี่ยวกับการเอาตัวรอด ความปลอดภัย หรือความมั่นคงของชีวิต โดยมักจะเกิดขึ้นบ่อยตอนงีบหลับสั้นๆ
►ผู้ฝันจะรู้สึกตื่นตัวและมักสะดุ้งตื่นจากฝันร้ายอยู่เสมอ
►ส่งผลต่อเนื่องทำให้ไม่มีความสุขในการใช้ชีวิต ทำกิจกรรม หรือเข้าสังคม
►ฝันร้ายบ่อยทั้งที่ไม่ได้มีการใช้ยารักษาโรค หรือสารเสพติดที่ก่อให้เกิดอาการดังกล่าว
ฝันร้าย...สัญญาณอันตรายของสุขภาพจิต
เมื่อเกิดฝันร้ายในลักษณะดังกล่าว นอกจากจะส่งผลกระทบต่อการนอนหลับพักผ่อน อันเป็นเหตุให้ร่างกายอ่อนเพลีย ภูมิคุ้มกันต่อโรคภัยต่างๆ ลดลงแล้ว ยังเป็นสัญญาณอันตรายของปัญหาสุขภาพจิตต่างๆ อย่าง
• โรควิตกกังวล โดยมักจะเกิดอาการฝันซ้ำๆ ภาพในความฝันเป็นเรื่องราว ยาวและละเอียด ซึ่งเนื้อเรื่องอาจจะเป็นเหตุการณ์เดิมๆ ใกล้เคียงเดิม หรืออาจเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์ที่พบเจอในปัจจุบันก็ได้
• โรคซึมเศร้า ภาพความฝันมักเกิดขึ้นในสถานที่มืด น่ากลัว หรือฝันถึงคนตาย อาจปะติดปะต่อเรื่องราวไม่ได้ และอาจฝันถึงหลายๆ เรื่องราวในคืนเดียวกัน
• ภาวะผิดปกติทางจิตใจที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) ผู้ป่วยอาการทางจิตในลักษณะนี้มักจะฝันถึงเหตุการณ์ร้าย ที่เคยพบเจอมา มักจะเป็นภาพฉายซ้ำๆ วนไปมา โดยมีจุดจบแบบเดิม หรือบางครั้งอาจเห็นภาพแค่บางส่วน
• โรคไบโพล่าร์ มักจะเป็นความฝันที่สดใส เต็มไปด้วยรายละเอียด น่าจดจำ สามารถปะติดปะต่อกันเป็นเรื่องยาว โดยอาจเกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ หรือละครที่ดูแล้วชื่นชอบก็ได้
อยากบอกลาฝันร้าย ลองทำตามนี้
1. จัดระเบียบเวลาเข้านอนและตื่นนอน โดยควรตั้งให้เป็นเวลาเดียวกันเป็นประจำ และไม่ควรงีบหลับระหว่างวัน
2. ออกกำลังกายเป็นประจำ สำหรับผู้ที่ฝันร้ายจากอาการวิตกกังวลหรือความเครียด โดยอาจเลือกเล่นโยคะหรือทำสมาธิ เพื่อช่วยให้จิตใจสงบก่อนเข้านอน
3. สร้างบรรยากาศการนอนที่สบาย ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมอุณหภูมิห้องให้พอดี เพราะอากาศที่ไม่สบายอาจรบกวนการนอนหลับได้ รวมถึงสภาพแวดล้อมอื่นๆ ทั้งความสว่าง ระดับความสูงของหมอน เพื่อมอบความผ่อนคลายให้ในช่วงเวลาการนอน
4. เลี่ยงสารกระตุ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน เพราะสารกระตุ้นทั้งสองอย่างอาจตกค้างอยู่ในร่างกายนานกว่า 12 ชั่วโมง จนอาจไปรบกวนการนอนได้
5. แชร์เรื่องราวในใจ เพราะฝันร้ายอาจเกิดขึ้นได้จากความเหนื่อยล้า ความเครียด และประสบการณ์ไม่ดีที่เคยพบเจอมา ซึ่งการแบ่งปันเรื่องราวจะเป็นการระบายความเครียดหรือความรู้สึกไม่ดีที่เก็บเอาไว้แล้ว จนอาจนำเอาไปฝันได้