“ท้องผูก” อย่าปล่อยไว้ เพราะยาระบายไม่ใช่คำตอบ
“ท้องผูก” เป็นอาการที่พบได้ค่อนข้างบ่อย โดย 1 ใน 7 ของประชากรที่มีสุขภาพดีต้องเผชิญหน้ากับอาการนี้ ทั้งๆ ที่บางทีอาจจะยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ ยืนยันได้จากรายงานของทีมนักวิจัยจากคิงส์คอลเลจ ลอนดอน ที่ชี้ว่าคนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าตัวเอง “ท้องผูก” เนื่องจากเกณฑ์ทางการของโรคอธิบายไม่ครอบคลุม จึงดูเหมือนว่าควรจะต้องมีการให้คำบรรยายอาการท้องผูกใหม่ เพราะไม่อย่างนั้นกว่าจะรู้ตัวอีกทีก็อาจมีโรคอื่นๆ เข้ามาแทรกแซง หรือไม่ก็สะสมจนเป็นท้องผูกเรื้อรังนานนับปี ยิ่งกับบางคนที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคหัวใจด้วยแล้วการท้องผูกบ่อยๆ คงไม่ใช่เรื่องดีเท่าไหร่นัก แล้วแบบนี้จะแก้ท้องผูกได้ยังไง คงต้องให้เป็นหน้าที่ของ นพ.อุดมรัช โกวิททวิพัฒน์ หรือ คุณหมอโตโต้ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหารและตับ จากโรงพยาบาลพญาไทนวมินทร์ มาคลายปมความเข้าใจ แก้ (ไข) อาการท้องผูกกันดีกว่า
อาการนี้ที่เรียกว่า “ท้องผูก”
คุณหมอโตโต้ อธิบายว่า ลักษณะของอาการท้องผูกส่วนใหญ่ ก็คือ มีความลำบากในการขับถ่าย หรือถ้าให้พูดง่ายๆ ก็คือถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ รวมถึงมีความยากลำบากในการถ่ายก็ถือเป็นท้องผูกได้เหมือนกัน ซึ่งสาเหตุของท้องผูกจะแบ่งเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่
1. แบบที่ทราบสาเหตุชัดเจน คือ มีสิ่งกีดขวางในลำไส้ใหญ่ มีก้อนในลำไส้ หรือเป็นมะเร็งลำไส้ ก็จะทำให้มีอาการท้องผูกได้ รวมถึงสาเหตุที่มาจากยาบางชนิด ก็ทำให้ท้องผูกได้ เพราะยาประเภทนี้จะทำให้การบีบตัวของลำไส้ไม่ค่อยดี สำหรับกรณีเหล่านี้หมอก็ต้องถามประวัติการทานยา หรือโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน พาร์กินสัน หรือโรคระบบประสาทต่างๆ ซึ่งยาที่ได้รับจะมีผลทำให้การบีบตัวของลำไส้ไม่ค่อยดี ก็เป็นที่มาของท้องผูกได้ นอกจากนี้ก็อาจจะเป็นในเรื่องของเกลือแร่ต่างๆ หรือโรคไต มีโพแทสเซียมต่ำ หรือเรื่องของแคลเซียมสูง ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นในเรื่องของสาเหตุที่แก้ไขได้ โดยมากแล้วจะเพิ่งเป็น อาจจะไม่เกิน 3 – 6 เดือน
2. แบบที่ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน สำหรับกลุ่มนี้ ถ้าได้ลองไปดูประวัติมักพบว่ามีอาการท้องผูกมาเป็นปี สองปี หรือบางคนเป็นสิบๆ ปีเลยก็มี โดยส่วนใหญ่แล้วมักมีสาเหตุเกิดจากพฤติกรรม การไม่กินผัก การดื่มน้ำน้อย หรือการกลั้นอุจจาระ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ รวมถึงมีเรื่องของการเบ่งไม่สุด เบ่งไม่เป็น หรือบางคนก็มีเรื่องของลำไส้บีบตัวช้าแต่กำเนิด ซึ่งถ้าเทียบสัดส่วนกลุ่มแรกจะน้อยกว่า ประมาณ 20 – 25% แต่กลุ่มหลังนี่ประมาณ 70 – 80% เลย เรียกว่าเป็นกลุ่มท้องผูกเรื้อรัง ซึ่งก็จะรักษายากกว่า
ท้องผูกต้องแก้ อย่าปล่อยให้แย่ไปกว่านี้
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าที่คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าการท้องผูกนานๆ จะทำให้เป็นมะเร็ง จริงๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้น แต่ว่าปัญหาที่จะตามมาก็คือเรื่องของท้องผูกเรื้อรัง ซึ่งทำให้คุณภาพชีวิตลดลง คือส่วนใหญ่คนที่พอท้องผูกนานๆ เขาก็จะรู้สึกไม่สบายตัว ด้วยอาการปวดท้อง เป็นๆ หายๆ หรือบางคนก็เกิดความเครียด กังวลว่าจะเป็นนั่นเป็นนี่ จนกระทบต่อคุณภาพชีวิต หรือถ้าหากว่ามีโรคประจำตัว ก็อาจจะทำให้โรคประจำตัวแย่ลงได้ เพราะว่าคนที่ท้องผูกเรื้อรังก็จะมีปัญหาอื่นๆ ตามมา อย่างเช่น เป็นริดสีดวง ทำให้ต้องเบ่งนาน หรือบางทีเบ่งๆ อยู่เป็นลมไปเลยก็มี
เช่นเดียวกับโรคหัวใจ ซึ่งถึงแม้ว่าจริงๆ แล้วท้องผูกจะไม่ได้ทำให้เกิดโรคหัวใจโดยตรง แต่บางครั้งอาการท้องผูกก็ทำให้อาการของโรคหัวใจที่เป็นอยู่กำเริบมากขึ้นได้ ยกตัวอย่างคนที่เป็นโรคหัวใจ คุณหมอก็จะไม่อยากให้เบ่งเยอะ เพราะว่าเวลาเราเบ่งมันจะไปกระตุ้นระบบประสาท จนอาจทำให้เป็นลมได้ หรือบางคนก็มีอาหารใจสั่น ส่วนในทางกลับกัน คนที่เป็นโรคหัวใจบางทีก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ท้องผูกได้เหมือนกัน เพราะคนที่เป็นโรคหัวใจมักจะกินยาเยอะ และยาบางชนิดของโรคหัวใจก็ทำให้กล้ามเนื้อมันบีบตัวลดลง
ผูกได้ก็แก้ได้
"แนวทางในการรักษาท้องผูกคือ อย่างแรกต้องยอมรับก่อนว่าตัวเองมีอาการท้องผูก แล้วก็ต้องกล้าที่จะเดินมาหาหมอ ไม่ต้องเขินอาย เพราะอาการท้องผูกไม่ใช่เรื่องแปลก เราสามารถเจอได้ประมาณ 10 – 20 % ของประชากรเลย ส่วนยาระบายนี่เป็นเรื่องรอง คือยาระบายไม่ใช่คำตอบทุกอย่าง เพราะเวลาที่คนไข้มาหาหมอ หมอก็จะหาสาเหตุก่อน ถ้าเกิดจากสาเหตุที่แก้ไขได้ก็ไม่ต้องกินยาระบายอีกต่อไป ท้องผูกก็จะดีขึ้น แต่ถ้าหาสาเหตุไม่เจอ หรือเกิดจากสาเหตุที่ไม่ชัดเจน หมอก็จะเน้นในเรื่องของการปรับพฤติกรรม ซึ่งก็ต้องมาคุยกันให้ละเอียดถึงพฤติกรรม และไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของแต่ละคน"
สำหรับบางคนก็อาจจะต้องตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจเรื่องของการเบ่ง และถ้าหากว่าทั้งหมดนี้ก็ยังไม่ใช่สาเหตุ ก็ถึงค่อยใช้ยาระบาย ซึ่งการใช้ยาระบายจริงๆ ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติของการรักษาท้องผูก โดยยาระบายในกลุ่มที่รักษาท้องผูกนี้ก็จะมีค่อนข้างเยอะ ประมาณ 6 – 8 กลุ่ม ดังนั้นการใช้ยาระบายแต่ละชนิดเพื่อให้เหมาะสม ก็เป็นเรื่องที่หมอจะต้องพูดคุยให้ละเอียดอีกครั้งหนึ่ง แต่บางคนก็เลือกที่จะไปซื้อเองจนทำให้อาการแย่ลง เช่นเดียวกับยาสวน ซึ่งใช้ได้ในกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องการเบ่ง โดยไม่ว่าจะเป็นยาระบายหรือยาสวนก็จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เพื่อที่จะสามารถเลือกยาได้เหมาะสมกับตัวเอง ทำให้ไม่ต้องเปลี่ยนยาไปเรื่อยๆ รวมถึงสามารถใช้ได้อย่างถูกวิธีเพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บที่จะตามมาได้