“ชาร้อน” หรือ “ชาเย็น” แบบไหนอันตรายมากกว่า

ดูเหมือน “ชา” จะกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง จากสถิติพบว่าในปี 2016 ทั่วโลกมีการบริโภคชารวมถึง 37 ล้านลิตร และคาดการณ์กันว่าในปี 2021 จะสูงถึง 41 ล้านลิตรเลยทีเดียว

สำหรับคนที่ชอบ “ชาร้อน” ก็จะบอกว่าเครื่องดื่มสุดโปรดของตัวเองดีกว่าสุขภาพเป็นไหนๆ ขณะที่สาวก “ชาเย็น” หรือแม้กระทั่งชานมไข่มุกก็ก้มหน้าก้มตายอมรับผลเสียที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพโดยมีเครื่องดื่มแก้วโปรดเป็นต้นเหตุ

ที่เราอยากบอกคือ “ไม่มีอะไรดีที่สุด” นอกจากชาร้อน ชาเย็น หรือแม้แต่ชาในอุณหภูมิห้อง จะให้รสชาติแตกต่างกันแล้ว แต่ละแบบยังส่งผลต่อสารต้านอนุมูลอิสระ อุณหภูมิร่างกาย ระบบเผาผลาญ รวมถึงการก่อตัวของเซลล์มะเร็งแตกต่างกันอีกด้วย

Photo by Matthew Henry on Unsplash
• อุณหภูมิในการต้ม ส่งผลต่อสารต้านอนุมูลอิสระในชา
ชามีชื่อเสียงว่าเป็นเครื่องดื่มที่ช่วยชะลอวัย เพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่สูงแต่ในงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Food Science เมื่อปี 2015 พบว่าระดับของสารต้านอนุมูลอิสระ ขึ้นอยู่กับชนิดของใบชาและความร้อนที่ใช้ในการต้ม
“ชาขาว” ต้องแช่ไว้นานๆ ไม่ว่าน้ำร้อนหรือน้ำเย็น “ชาเขียว” จะมีมากสุดเมื่อแช่ในน้ำเย็นนานๆ “ชาดำ” เหมาะกับการต้มในน้ำร้อนมากๆ ในระยะเวลาสั้น ขณะที่ “ชาอูหลง” ไม่เหมาะกับน้ำร้อน ถ้าอยากได้ประโยชน์จากสารต้านอนุมูลอิสระต้องใช้น้ำเย็นหรือน้ำอุณหภูมิห้อง นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับชนิดของชาที่ใช้ ถ้าเป็นชาเขียวหรือชาขาวที่ใช้ทั้งใบชา เหมาะกับการใช้น้ำเย็น แต่ถ้าเป็นชาถุงหรือผงชา ใช้น้ำร้อนจะดีที่สุด
แต่ถ้าคุณชอบดื่ม “ชาเขียวร้อน” ก็ยังพอมีหวัง... มีการทดสอบต้มชาเขียวตุรกีด้วยน้ำอุณหภูมิต่างๆ จนพบว่าการต้มด้วยน้ำอุณหภูมิ 85 องศาเซลเซียสนาน 3 นาทีจะได้ประโยชน์จากสารต้านอนุมูลอิสระสูงสุด 

• ยิ่งดื่มร้อนๆ ยิ่งเสี่ยงมะเร็ง
สมมติฐานนี้เป็นที่ถกเถียงกันในวงการวิทยาศาสตร์มายาวนาน โดยในปี 2016 องค์กรวิจัยมะเร็งนานาชาติพบว่า เครื่องดื่มที่ร้อนมากๆ มีผลทำให้เกิดมะเร็งจริง ซึ่งครั้งนั้นทีมวิจัยศึกษาการดื่มชามาเต้ที่นิยมดื่มแบบร้อนมากๆ ขณะที่ปี 2018 นักวิทยาศาสตร์ก็พบความเชื่อมโยงว่าคนดื่มชาร้อนจะมีความเสี่ยงมะเร็งเพิ่มขึ้น ทว่าในกลุ่มเสี่ยงก็ชอบสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่แล้ว
ล่าสุดคืองานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารมะเร็งนานาชาติช่วงต้นปี 2019 เผยแพร่ผลวิจัยที่ติดตามชาวอิหร่าน 50,045 คน ช่วงปี 2004-2008 พบว่าคนที่ดื่มชาร้อนมากๆ จะมีความเสี่ยงมะเร็งหลอดอาหารมากถึง 90% 

• ดื่ม “ชาร้อน” ช่วงอากาศร้อนๆ ช่วยให้รู้สึกเย็นมากกว่า “ชาเย็น”
อาจฟังดูไม่สมเหตุสมผล... แต่การดื่มชาร้อนช่วงที่อากาศร้อนๆ ช่วยให้เหงื่อออกดี โดยในนิตยสารสมิธโซเนียนฉบับปี 2012 ระบุว่าเหงื่อที่ไหลออกมานั้นเท่ากับว่าร่างกายเราได้ระบายความร้อน
แล้วชาเย็นไม่ช่วยเลยหรอ?... Peter Poortvliet นักประสาทวิทยา บอกว่า การดื่มอะไรเย็นๆ ไม่ได้ทำให้เราเย็นลงเสมอไป ชาเย็นที่เราดื่มเข้าไปจะสูญเสียความเย็นเมื่อไหลผ่านอวัยวะต่างๆ และถ้าดื่มในปริมาณมากล่ะก็ จะทำให้เลือดไหลเวียนช้าลงและระบายความร้อนได้ช้าลงอีกด้วย ดังนั้น น้ำเย็นจึงไม่ได้ทำให้ร่างกายเราเย็นลงจากภายใน เพียงแค่ทำให้รู้สึกสดชื่นเมื่อได้ดื่มเท่านั้น

• ชาเย็นหรือชาที่อุณหภูมิห้อง ดื่มแล้วได้ประโยช์มากกว่า
นอกจากสารต้านอนุมูลอิสระแล้ว ชายังมีสารอาหารอื่นๆ ที่มีประโยชน์กับร่างกาย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า “ถ้าจะให้ดี ต้องเป็นชาเย็นหรือชาอุณภูมิห้อง”
งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2015 ให้ข้อมูลว่า ในชาเย็นจะมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพในปริมาณมากกว่า 2 เท่า อย่างกรดแกลลิคและ Epigallocatechin สารออกฤทธิ์สำคัญในชาเขียว ถ้าดื่มชาขาวแบบเย็นจะมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงมาก และถ้าอยากได้ประโยช์อื่นๆ ก็ควรดื่มชาขาวที่อุณหภูมิห้องจะดีที่สุด... แต่คอชาร้อนก็อย่าเพิ่งน้อยใจ เพราะความร้อนจะช่วยให้ความเฝื่อนหรือขมน้อยลง

อ่านถึงตรงนี้แล้ว คงตัดสินใจกันได้แล้วใช่มั้ยว่าครั้งต่อไปจะรับ “ชาร้อน” หรือ “ชาเย็น” แต่ที่ไม่ควรมองข้ามคือถ้าอยากสุขภาพดีเพราะดื่มชา ก็อย่าเติมน้ำตาล นม หรือครีมให้มากเกินไปล่ะ เพราะถ้าดื่มมากๆ ไม่ดีต่อร่างกายแน่นอน


 
-->