“5 Stages of Grief” และการก้าวผ่านความสูญเสีย



ในเมื่อเรื่องจริงไม่ใช่ความฝัน ความทุกข์ ความผิดหวัง หรือการสูญเสียที่เข้ามาคงไม่ออกจากหัวคุณไปง่ายๆ  การหนีความรู้สึกแย่ๆ ไม่เหมือนการตัดกระดาษที่แค่ขยำหรือเขวี้ยงทิ้งแล้วก็จบ  เพราะเวลาใจมันผูกพันกับอะไรจะให้ตัดขาดง่ายๆ คงเป็นไปไม่ได้หรอก…จริงมั้ย?

ฟิลลิ่งของการสูญเสีย ไม่ว่าจะเสียคนรักอย่างแฟน หรือสมาชิกในครอบครัว เลเวลความเจ็บปวดก็ย่อมไม่แตกต่างกัน  เราขอหยิบยกเรื่องราวจากหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า “On Death and Dying” เขียนโดยแพทย์หญิง Elsabeth Kubler-Ross เธอพูดถึงภาวะกำลังใกล้ตายของผู้ป่วยโรคระยะสุดท้ายและวิธีในการปรับจิตตัวเองยังไงให้ลาจากโลกนี้ไปอย่างสงบ ถือเป็นจุดกำเนิดเกิดโมเดลชื่อ “5 Stages of Grief” หรือทฤษฎีระยะเวลาของการก้าวผ่านความสูญเสียขึ้นมาอย่างเป็นทางการ ซึ่งภายหลังได้ถูกปรับใช้กับผู้ที่สูญเสียหรือผิดหวังกับเรื่องอื่นๆ ในชีวิต เช่น ตกงานหรือสูญเสียอิสรภาพ เป็นต้น

และทฤษฎีดังกล่าว แบ่งออกได้เป็น 5 ระยะดังนี้

ระยะที่ 1:  ปฏิเสธ + ปลีกตัว  (Denial & Isolation)
ครั้งแรกที่ต้องพบเจอกับความผิดหวัง สิ่งเดียวที่ใจตอบสนองก็คือการไม่ยอมรับความจริง เพราะหัวใจนั้นแบกรับความทรมานนี้ไว้ไม่ไหว บวกไปกับความรู้สึกโง่ โทษตัวเองและเครียดแค้น เว็บไซต์ psychcentral ได้วิเคราะห์เพิ่มเติมว่า ก่อนที่จะก้าวสู่ระยะต่อไป การปฏิเสธความจริงนี้จะเกิดขึ้นก่อนเพราะเป็นกระบวนการของจิตใจที่กำลังปรับตัวขณะอยู่กับสภาวะช๊อคนั้นๆ  (Shock) 

ระยะที่ 2:  ความโกรธประทุ (Anger)   
"ทำไมคนที่เจ็บต้องเป็นเรา?... มันไม่ยุติธรรมเลย" “ทำไมฉันยังลืมเธอไม่ได้สักที” “ทำไมฟ้าดินไม่ยุติธรรมกับเรา! ” ความคิดทำนองนี้จะวิ่งวนในใจคุณ เพราะนี่คือช่วงระยะเวลาแห่งความโกรธ คุณจะโทษทุกอย่างรอบตัวไปหมด เช่น พระเจ้า พ่อแม่ เศรษฐกิจ เพื่อนร่วมงาน รวมถึงโทษตัวเองด้วย ยกตัวอย่างเช่น โกรธเกลียดแฟนที่ทอดทิ้ง แค้นใจตัวเองที่หลงไปรักเขาแต่ดันตัดใจไม่ลง เกลียดฟ้าดินที่พรากน้องสาวที่เรารัก หรือโกรธแค้นคนที่ขับรถชนสมาชิกในครอบครัวของคุณจนถึงแก่ชีวิต

ระยะที่ 3:  จิตใจโลเล-โต้แย้ง (Bargaining)
ช่วงระยะนี้ ใจคุณจะเกิดการต่อรอง ถกเถียงกับตัวเองอยู่ในหัวตลอดเวลา  มักรู้สึกอยากย้อนกลับไปแก้ไขอะไรสักอย่าง เช่น “ถ้าวันนั้นเราไม่ทะเลาะกัน เธอก็คงไม่ฆ่าตัวตาย หรือ “ถ้าวันนั้นฉันไม่ไปรักเธอ ก็คงไม่เจ็บขนาดนี้”  ทุกอย่างจะวนลูปจนเกิดเป็นความย้ำคิดย้ำทำ นำไปสู่ภาวะความซึมเศร้าในที่สุด !

ระยะที่ 4: ความซึมเศร้าครอบงำ (Depression)
ในเมื่อใจบางจนมืดแปดด้าน อาการซึมเศร้าย่อมเข้ามาแทนที่ แต่ระดับความรุนแรงของความ Sad จะไม่เหมือนกัน แบ่งออกเป็นสองระดับ คือ 1. เสียใจเศร้าอยู่เพียงแค่ช่วงเวลาหนึ่งแต่สามารถดึงตัวเองกลับมาเหมือนเดิมได้ 2. เสียใจซึมเศร้าถึงขั้นไม่เป็นอันทำอะไร มองโลกในแง่ลบ นอนไม่หลับ และอยากตาย 

ระยะที่ 5:  ยอมรับความจริง (Acceptance)
ถ้าคุณสามารถรอดสภาวะซึมเศร้ารุนแรงไปได้ ก็ถึงเวลาที่ใจคุณจะปรับเข้าสู่โหมต “น้อมรับความเป็นจริง”  โลกแห่งการสูญเสียอันหม่นหมองจะถูกปรับให้เป็นความเข้าใจและการหวนคิดถึง ซึ่งไม่ใช่การต่อต้านด่าทอหรือจมปักกับอดีตที่แก้ไขไม่ได้อีกแล้ว แต่ต่อให้คุณยอมรับได้มันไม่ได้แปลว่าใจคุณ “โอเค” เพียงแค่เรียนรู้ที่จะเจ็บปวดและเยียวยาแผลได้ด้วยตัวเองเท่านั้นเอง 

ยังไงก็ตาม ที่จริงแล้วสภาพจิตใจคุณสามารถกระโดดข้ามจากระยะหนึ่งไปสู่ระยะหนึ่งได้โดยไม่ต้องเรียงตามทฤษฎีนี้ก็ได้ เช่น คุณอาจอกหัก แต่คุณก็เยียวยาตัวเองได้โดยไม่จมปักนานเป็นแรมปี แค่อาทิตย์เดียวก็หายแล้วเป็นต้น 

เมื่อรู้แล้วว่าระยะเวลาที่ใจฟูมฟักผ่านความเศร้าทั้งหมดนั้นเป็นยังไง วันนี้เราก็มีวิธีเยียวยาใจมาแนะนำให้กับคุณ ถ้าพร้อมแล้วมาดูกันเลย! 
 
 
1. ร้องไห้ให้พอ 
เมื่อรู้สึกเจ็บปวดก็ต้องมีการระบายออกทางน้ำตาเป็นเรื่องปกติ คุณควรร้องไห้ให้พอ ร้องให้สุดๆ ไปเลย เอาให้ชัวร์ว่าวันนี้ต้องสุด เพราะพรุ่งนี้คุณจะไม่ร้องไห้ให้มันอีก พยายามปรับจิตให้นิ่ง ทบทวนสาเหตุอย่างค่อยเป็นค่อยไป และพยายามคิดหาทางแก้เบสจากความสามารถของตัวเอง ที่สำคัญ! อย่าเพิ่งโทษตัวเองทันที
 
2. ลิสต์ความรู้สึกตัวเองขณะนั้นออกมาเป็นข้อๆ 
เคยดูหนังรักเรื่อง 10 things I hate about you มั้ย? การที่เราลิสต์ข้อเสียของคนๆ นึงที่ทำให้เราอกหัก มันช่วยให้เราเห็นคุณค่าของเวลาได้จริงๆ  คุณจะรู้ว่าการเสียคนห่วยๆ ไปไม่ใช่เรื่องแย่ หรือเมื่อไหร่ที่คุณกำลังโทษตัวเองลองลิสต์ออกมาว่า ทำไมถึงคิดว่าตัวเองเป็นคนผิดมาเป็นข้อๆ เพราะการเขียนจะช่วยระบายสิ่งที่อยู่ในจิตใจคุณได้ดี สมาธิและสติจะทำให้คุณจดจ่อกับการเขียน หลังจากนั้นลองมองดูความเป็นจริงกันว่า ถ้าคุณยังโทษตัวเองแบบนี้ มันส่งผลดีต่อเรื่องนั้นๆ ยังไงบ้าง แล้วก็ลิสต์ออกมาอีกเป็นข้อๆ  อีกที
 
3. พาตัวเองไปอยู่ในที่ใหม่ๆ 
เปลี่ยนสถานที่เดิมๆ หรือถ้าต้องไปในที่ที่เก่า หวนคืนเรื่องราวต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ควรที่จะเปลี่ยนการจัดวางวัตถุ หรือเปลี่ยนลุคของตัวเองซะใหม่ เช่น ถ้าแฟนเก่าคุณอยู่ในที่ทำงาน สิ่งที่ต้องทำคือการจัดโต๊ะตัวเองใหม่ แต่งตัวแนวใหม่ เปลี่ยนผมใหม่ สร้างความรู้สึกใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นกับตัวคุณเอง เพราะมันคือการแสดงถึงการ Move on ถึงแม้ในใจอาจจะมีเจ็บแปล๊บๆ อยู่บ้าง คุณก็ต้องเอาตัวเองออกมาจากอะไรเดิมๆ ถ้ายังตัดใจไม่ได้ หรือเขาคนนั้นดันนั่งตรงข้ามกับคุณ ก็อาจจะต้องใส่หูฟังเปิดเพลงบิ้วให้ใจจ่อกับงานมากขึ้น หรือไม่ก็เขียนโน๊ตแปะให้ระลึกถึงหน้าบอสและโบนัสของคุณอยู่เสมอ เพราะการนึกถึงเดทไลน์อาจจะช่วยกระตุ้นให้คุณรีบปั่นงานอย่างทันควันเลยล่ะ 
 
4. ปรึกษาพูดคุยกับคนที่ไว้ใจได้จริงๆ 
ถ้าคุณมั่นใจว่าตัวเองมีคนที่ไว้ใจได้อย่าง เพื่อนนอกที่ทำงานหรือญาติพี่น้อง ก็ควรที่จะหาเวลาโทรไประเบิดระบายเรื่องราวได้เลย การเก็บไว้ไม่ได้ช่วยให้คุณได้ปลดปล่อยอย่างแท้ทรูหรอกนะ
 
5. พบคุณหมอ  
ขอร้องหล่ะ ช่วยโนสน โนแคร์ไปเลยนะเวลาที่ใครพบเจอคุณที่แผนกจิตเวช มันไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่จงอายที่จะเก็บซ่อนความทุกข์ไว้ดีกว่า  การที่คุณไม่ระบายมันออกมาจนถึงขั้นวิกฤตจะส่งผลต่อจิตใจคุณอย่างมาก แถมบางครั้งรุนแรงถึงขั้นทำร้ายตัวเองและคนรอบข้างจนถึงแก่ชีวิต! เอาเป็นว่า เมื่อไหร่ที่รู้สึกว่า 4 ขั้นตอนก่อนหน้านั้นไม่เวิร์ค หรือรู้ตัวว่าเป็นโรคใจบางอยู่แล้ว เราอยากให้คุณรีบพุ่งไปพบแพทย์ทันทีที่เผชิญกับความสูญเสียในทุกรูปแบบนะ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะช่วยรักษาใจคุณได้อย่างตรงจุด ซึ่งคุณจะต้องเปิดใจยอมรับฟังสิ่งที่คุณหมอพยายามที่จะแนะแนวทางให้กับคุณอย่างจริงจังด้วย

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ขอฝากไว้ว่า การรู้เท่าทันใจและจิตตัวเองนั้นสำคัญต่อชีวิตคุณมาก เพราะเมื่อรู้ถึงสาเหตุหรือต้นตอของวิกฤตนั้นๆ คุณจะพอรู้ทางออก และเผื่อใจยอมรับกับความจริงได้ทันเวลา และไม่ว่าคุณกำลังเผชิญกับอะไรตรงหน้า อย่าลืมนึกถึงใจของตัวเองอยู่เสมอหล่ะ ถ้าไม่ไหวและไม่อยากรบกวนใคร ให้พุ่งไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที หรือต่อสายตรงไปที่สายด่วนสุขภาพจิต โทร. 1323 (สามารถโทร. ปรึกษาได้ตลอด 24 ชั่วโมง) ยังไงเราขอเป็นกำลังใจให้ และเชื่อว่าคุณจะผ่านพ้นมันไปได้อย่างแน่นอน !


 
-->