ไขว่ห้าง เลิกซะ! ถ้าไม่อยากความดันสูง

ไม่เถียงเลยว่า “ไขว่ห้าง” เป็นท่าที่นั่งสบาย แต่จะเปลี่ยนใจมั้ยถ้ารู้ว่ามีการศึกษาใน Journal of Physical Therapy Science บอกว่าการนั่งไขว่ห้างไม่เพียงแค่กระทบต่อสะโพก แต่ยังส่งผลถึงอุ้งเชิงกรานและระบบกล้ามเนื้อทั้งหมดของร่างกาย เช่นเดียวกับงานวิจัยที่เผยแพร่ผ่านบีบีซีฟิวเจอร์ ซึ่งพบว่าคนที่นั่งไขว่ห้างมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน มีแนวโน้มลำตัวเอนไปข้างหน้าและห่อไหล่โดยไม่รู้ตัว นี่ยังไม่รวมที่ว่าท่านั่งนี้อาจส่งผลถึงความดัน รู้แบบนี้แล้ว…จะยอมเปลี่ยน (ท่า) ได้หรือยัง



ยิ่งนั่ง (ไขว่ห้าง) นาน…ยิ่ง (ความดัน) สูง
ด้วยเหตุที่บริเวณด้านหลังของเข่า (Peroneal Nerve) จะมีเส้นเลือดใหญ่ ซึ่งเวลาที่เรานั่งไขว่ห้าง หรือไขว้ขาจะทำให้เส้นเลือดใหญ่ดังกล่าวถูกกดทับ ซึ่งหากถูกกดทับเป็นเวลานานก็จะส่งผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ โดยเรื่องนี้ได้มีการศึกษาที่ได้รับการเผยแพร่ลงใน Journal of Blood Pressure Monitoring บอกว่าการนั่งไขว่ห้าง มีส่วนทำให้เกิดความดันโลหิตสูงได้ โดยเฉพาะการนั่งไขว่ห้างติดต่อกันเป็นเวลานาน และไม่มีการเปลี่ยนท่า จะยิ่งทำให้เส้นเลือดบริเวณข้อเข่าไหลเวียนเลือดได้ไม่ดีเท่าที่ควร จนเป็นเสี่ยงต่อความดันโลหิตสูงและการอุดตันของเส้นเลือด ดังนั้นคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับความดันโลหิตควรหลีกเลี่ยง ซึ่งอาการนี้แม้จะเป็นเพียงชั่วคราว และไม่ถึงขั้นทำให้เกิดอันตราย แต่ก็อาจทำให้การวัดค่าความดันผิดพลาด เป็นผลให้เกิดความสับสนในการวินิจฉัยโรค รวมถึงอาจทำให้เกิดอาการหน้ามืด วิงเวียน จนเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุได้เช่นกัน

อาการนี้! เตือนว่า (ไขว่ห้าง) มากไป...แล้ว
ไขว่ห้าง บางทีก็ไม่ได้ตั้งใจ แต่ขามันไขว้กันไปเองให้ทำไง ก็เข้าใจล่ะนะว่าเคยชิน แต่เอาเป็นว่าถ้าเมื่อไหร่ที่รู้ตัว หรือมีอาการเตือนเหล่านี้ ก็ขยับเปลี่ยนท่าหน่อยแล้วกัน 
 
  • ปวดบริเวณช่วงหลังส่วนล่าง เพราะท่านั่งไขว่ห้าง หรือไขว้ขาจะใช้กล้ามเนื้อหน้าท้อง และกล้ามเนื้อส่วนหลังมากที่สุด 
  • รู้สึกเจ็บบริเวณก้น เพราะมีแรงกดทับมากขึ้น 
  • ปวดหลังต่อเนื่องนานกว่า 1-2 วัน โดยถึงจะพักผ่อนและเปลี่ยนท่าทางแล้วก็ยังไม่มีแววว่าจะดีขึ้น แบบนี้ควรเข้ารับการปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจสอบว่ามีสาเหตุของอาการปวดอย่างอื่นร่วมด้วยหรือไม่
  • มีอาการชาร่วมกับการปวดหลัง ร้าวลงขา หรือหากนั่งไขว่ห้างแล้วมีอาการชาที่บริเวณหน้าแข้ง หรือหลังเท้า ซึ่งจะแสดงถึงภาวะเส้นประสาทถูกกดทับ 
  • มีภาวะข้อเท้าอ่อนแรง กระดกข้อเท้าไม่ได้ เดินสะดุด หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว ให้รีบไปหาหมอเพื่อทำการตรวจรักษาแต่เนิ่นๆ 

เอาล่ะ! รู้แบบนี้แล้ว คงถึงเวลาต้องลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกันซะที จะได้ไม่ต้องกลายเป็นผู้ถูกเลือกให้ปวดหลังที่แถมตามมาด้วยความดันสูง (อี๊กกกกก)
-->