ไขมันในเลือดสูง ทำเสี่ยงโรคหลอดเลือดตีบตัน
“คราวนี้ทำใจลำบากเหลือเกิน” เนื้อเพลงที่ดังก้องขึ้นมาทุกครั้งเวลาที่เห็นของมัน-ของทอดสุดโปรดอยู่ตรงหน้า แต่ต้องหักห้ามใจไม่ให้เอื้อมมือไปตักใส่ปาก เพราะทีมนักวิจัยด้านจิตวิทยาคลินิกจากมหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตต (OSU) ของสหรัฐฯ ตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสาร "โภชนาการทางคลินิกอเมริกัน" (The American Journal of Clinical Nutrition) โดยระบุว่าการกินอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงแค่มื้อเดียว สามารถทำให้ความตั้งใจจดจ่อมีสมาธิลดลงได้ นี่ยังไม่รวมถึงผลกระทบต่อร่างกายที่เพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดตีบตันนะแบบไหนกันที่เรียกว่า...ไขมันในเลือดสูง
ภาวะไขมันในเลือดสูง คือภาวะที่ร่างกายมีระดับไขมันในเลือดสูงกว่าเกณฑ์ปกติ จนมีความเสี่ยงทำให้เกิดโรคต่างๆ อย่างโรคหัวใจและหลอดเลือด เส้นเลือดตีบ อุดตัน โรคหลอดเลือดสมอง หรือเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้ไม่ดีพอ รวมถึงความดันโลหิตสูงได้ โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ
1.คอเลสเตอรอล (Cholesterol) เป็นไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายสามารถสังเคราะห์ได้เองจากตับและลำไส้ พบมากที่สุดในไขมันจากสัตว์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย แต่หากมีมากเกินไปก็อาจส่งผลเสียได้ โดยคอเลสเตอรอลที่สำคัญ มีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่
- เอชดีแอล (Hight density lipoprotein - HDL) มีหน้าที่นำคอเลสเตอรอล และกรดไขมันจากส่วนต่างๆ ของร่างกาย ไปช่วยป้องกันไม่ให้ไขมันเลวเข้าไปสะสมในหลอดเลือดแดง การมีคอเลสเตอรอลชนิด HDL สูงจะช่วยลดความเสี่ยงของโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตันได้ โดย HDL ในระดับปกติสำหรับผู้ชายต้องมากกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ส่วนผู้หญิงต้องมากกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- แอลดีแอล (Low density lipoprotein - LDL) มีหน้าที่นำพาไขมัน คอเลสเตอรอล ไปใช้ยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งเมื่อไหร่ที่มีไขมันชนิดนี้ในเลือดสูงเกินไป จะเกิดการสะสมที่ผนังหลอดเลือด หลอดเลือดจะตีบแคบลง และเปราะบาง ทำให้การไหลเวียนเลือดไม่สะดวก จึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดตีบตันได้ ซึ่ง LDL ระดับปกติทั้งในผู้ชายและผู้หญิง ไม่ควรเกิน 100 - 130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
2.ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) เป็นไขมันชนิดหนึ่ง เกิดจากน้ำตาลและแป้ง หรือจากอาหารอื่นๆ ที่ช่วยทำให้รู้สึกอิ่มท้องนาน เพราะร่างกายจะเก็บสะสมไตรกลีเซอร์ไรด์ไว้เป็นพลังงาน โดยตามเกณฑ์ปกติไม่ควรเกิน 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แต่หากมีไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดสูง ก็จะเพิ่มโอกาสในการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมากขึ้น
ปัจจัยเสี่ยง เลี่ยงได้เลี่ยงเถอะ
ภาวะไขมันในเลือดสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ทั้งแบบสามารถควบคุมได้ และไม่สามารถควบคุม ดังนี้
- ความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ ทำให้มีความบกพร่องในการเผาผลาญไขมัน
- ปัญหาสุขภาพอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคไต ภาวะขาดไทรอยด์ ภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ สเตียรอยด์
- การกินอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ไขมันสัตว์ เครื่องในสัตว์ เนย ไข่ เป็นต้น
- ความเครียด
- มีพฤติกรรมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
ปรับพฤติกรรม...เอา (ไข) มันออกไป!
เพราะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคือ หัวใจสำคัญที่จะทำให้ระดับไขมันในเลือดลดลงได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการที่เราต้องรู้ตัวเองก่อนว่ามีระดับไขมันในเลือดมากน้อยแค่ไหน ด้วยการตรวจสุขภาพ โดยผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี ควรตรวจเลือดเพื่อวัดระดับไขมันทุกๆ 1 - 2 ปี หรือหากครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจขาดเลือด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ควรตรวจเลือดทุกๆ 6 เดือน ควบคู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดังนี้
- หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีคอเลสเตอรอล ไขมันอิ่มตัวสูง และมีน้ำตาลสูง เช่น ของทอด เนื้อสัตว์ติดมัน เนย เค้ก เครื่องในสัตว์
- เน้นกินอาหารประเภท ผัก ผลไม้ ธัญพืช และแหล่งโปรตีนที่ดีต่อสุขภาพ อย่างผลิตภัณฑ์จากนมไขมันต่ำ เนื้อสัตว์ปีกไขมันต่ำ (ไม่กินหนัง) ปลา และถั่ว
- ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ควรควบคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอให้ได้อย่างน้อย 3 - 4 ครั้ง/สัปดาห์ และครั้งละประมาณ 40 นาทีขึ้นไป
- หากจำเป็นต้องใช้ยา ควรต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เท่านั้น
รู้แหละว่ายาก แต่ถ้าอยากสุขภาพดีก็ต้องทำใจปล่อย “มัน” ไป
สนใจ แพ็กเกจตรวจสุขภาพ คลิก!