ใช้ชีวิตอย่างไรในร้อนนี้ ถ้า ‘แพ้เหงื่อตัวเอง’

“คนที่แพ้ก็ต้องดูแลตัวเอง” ท่อนฮิตติดหูจากเพลงดังที่หลายคนอาจฟังผ่านไป แต่สำหรับคนที่ “แพ้เหงื่อตัวเอง” น่าจะเข้าใจได้อย่างดีว่าอาการ ‘แพ้เหงื่อ’ นำมาซึ่งความรำคาญใจ และเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตในแต่ละวันมากแค่ไหน ถึงแม้ว่าจะมีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ที่พูดถึงประโยชน์ของเหงื่อไว้ว่า ต่อมเหงื่อจะผลิตสเต็มเซลล์ที่มีประโยชน์ในการช่วยเยียวยารักษาบาดแผลได้ดีก็ตาม แต่เรื่องแบบนี้คนไม่แพ้ไม่มีวันเข้าใจหรอก 

 
แพ้เหงื่อ เป็นอย่างไร
การแพ้เหงื่อเป็นอาการหนึ่งของโรคภูมิแพ้ผิวหนัง ที่เกิดจากความร้อน โดยจะแสดงอาการออกมาในลักษณะของลมพิษ ผด ผื่น คันตามร่างกาย ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างการออกกำลังกาย หรือการทำงานกลางแจ้ง เป็นต้น มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน และสามารถเกิดได้ทั่วร่างกาย แต่ที่พบมากที่สุดคือ บริเวณหน้าอก ใบหน้า แผ่นหลังช่วงบน และแขน ซึ่งจะมีลักษณะเป็นปื้นแดง หนานูนเป็นวงกลม อาจมีอาการคัน หรือเจ็บแปลบๆ ร่วมด้วย และเมื่อลองจับดูที่บริเวณดังกล่าวจะรู้สึกอุ่นๆ โดยอาการทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นหลังจากที่เหงื่อออกไม่นานนัก และกินเวลาประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง หรือในรายที่แพ้รุนแรงอาจมีอาการอื่นอย่าง ท้องเสีย ปวดศีรษะ เวียนหัว สูดหายใจได้ไม่ลึก หายใจมีเสียง มีน้ำลายมากกว่าปกติ ความดันลด และปวดบีบท้อง ซึ่งถ้ามีอาการลักษณะนี้ควรรีบไปหาหมอโดยด่วน
 
‘แพ้เหงื่อ’ อาการนี้มีที่มา
เพราะความร้อนคือสาเหตุหลักของอาการแพ้เหงื่อ ไม่ว่าจะเป็นความร้อนภายนอกจากสภาพอากาศ หรือความร้อนที่เกิดขึ้นจากภายในอย่างการออกกำลังกาย เข้าซาวน่า อาบน้ำอุ่น เป็นไข้ กินอาหารรสจัด สวมใส่เสื้อผ้าที่รัดจนหรือไม่สามารถระบายอากาศได้ รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่ทำให้ต่อมเหงื่อสร้างเหงื่อเพื่อระบายความร้อน ซึ่งความร้อนดังกล่าวจะเข้าไปกระตุ้นการทำงานของต่อมเหงื่อ ทำให้เหงื่อถูกหลั่งออกมาร่วมกับการเกิดผดผื่น บางรายอาจเกิดจากการที่ร่างกายสร้างสารอิมมิวโนโกลบูลิน ซึ่งเป็นภูมิต้านทานต่อเหงื่อของตัวเอง รวมถึงบางรายที่มีอาการของโรคอื่นๆ ได้แก่ ผื่นผิวหนังอักเสบ โรคหอบหืด หรือมีอาการแพ้อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภูมิแพ้อากาศ แพ้อาหาร หรือแพ้เกสรดอกไม้ ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดอาการแพ้เหงื่อได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
 
เทคนิคการใช้ชีวิตให้รอดปลอดภัยในหน้าร้อน
ในเมื่อไม่อาจควบคุมสภาพอากาศได้ คนที่แพ้ (เหงื่อ) ก็ต้องดูแลตัวเอง ดังนี้
 
1. หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่อุณหภูมิสูง หรือหากเลี่ยงไม่ได้ให้ใช้เวลาน้อยที่สุด
2. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และพยายามไม่เครียด
3. หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด หรืออาหารร้อน รวมทั้งชา กาแฟ และแอลกอฮอลล์ ที่กระตุ้นการเผาผลาญและเพิ่มระดับอุณหภูมิภายในร่างกายให้สูงขึ้นได้
4. เมื่อรู้สึกไม่สบายตัว หรือมีเหงื่อออกมากให้อาบน้ำ หรือใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดทำความสะอาดร่างกาย
5. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่กระตุ้นที่ให้เหงื่อออกหรือก่อให้เกิดอาการแพ้
6. สวมใส่เสื้อผ้าที่สามารถระบายความร้อนได้ดี
7. หากต้องการออกกำลังกายให้เลือกออกในห้องแอร์ ที่ร่ม หรือสถานที่ที่อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่ควรออกเป็นระยะเวลานานเกินไป และควรอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายทันที
8. หากเกิดผื่นคัน ให้ลองใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติอย่างว่านหางจระเข้ ที่ไม่มีส่วนผสมของสี น้ำหอม หรือสารเคมี เพื่อป้องกันการระคายเคืองผิวที่อาจเพิ่มมากขึ้น และหากไม่หายหรือมีอาการมากขึ้นควรไปพบแพทย์เพื่อหาแนวทางการรักษาต่อไป
-->