โรคชรา...อย่าคิดว่าไม่มีจริง

ถึงจะรู้ทั้งรู้ว่ายังไงความชราก็ต้องมาเซย์เฮลโลวเข้าสักวัน แต่ก็ยังแอบมีความหวังเล็กๆ ตอนที่รู้ว่ามีผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications โดยทีมนักวิจัยเชื้อสายรัสเซียจากบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ "เจโร" (Gero) ในสิงคโปร์ ระบุว่าคนเราสามารถมีชีวิตยืนยาวได้อย่างมากที่สุดราว 120 - 150 ปี แต่นี่ก็ไม่ได้แปลว่า “โรคชรา” จะไม่ถามหาซะเมื่อไหร่



ความชรา = โรคที่มากับอายุ
“โรคชรา” มักเกิดจากความเสื่อมของระบบอวัยวะต่างๆ ที่เป็นไปตามเวลา จนทำให้การทำงานของอวัยวะต่างๆ เสื่อมถอย กลายเป็นที่มาของโรคต่างๆ ซึ่งเหตุที่ทำให้ความชรามาถามหาไม่ใช่แค่ว่าอายุมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้การทำงานของต่อมไร้ท่อและอวัยวะต่างๆ ทำงานได้น้อยลงจนทำให้เกิดความเสื่อมกับทุกระบบในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นอวัยวะทั้งภายในภายนอก จนเกิดไขมันสะสมมากขึ้น ซึ่งสวนทางกับการทำงานของสมองที่ลดน้อยลง ส่งผลถึงฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต ซึ่งหลั่งออกมาจากต่อมใต้สมองลดลง ทำให้เกิดความเสื่อมมากขึ้น โดยจะเห็นได้จากผิวหนังที่เหี่ยวย่น ผมร่วงหรือผมหงอก ปวดตามข้อต่างๆ ประสาทช้าลง หรืออาจสังเกตุความเสื่อมในการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายเหล่านี้ เช่น ข้อต่อและกระดูก หู ตา โรคทางสมอง ถุงน้ำดี ระบบทางเดินอาหาร ไตที่ทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับปัสสาวะ ระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งโรค ยอดฮิตอย่างเบาหวาน มะเร็ง ไขมันในเลือดสูง รวมถึงโรคหลอดเลือดแดงตีบตัน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคเกาต์ 

โรคชรา ที่มาของ (หลาย) โรค
เพราะเหตุว่าเป็นโรคซึ่งเกิดจากความเสื่อมของการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย จึงกลายเป็นผลพวงให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาได้ ดังนี้
  • โรคทางสมอง ส่วนใหญ่จะพบในคนอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป โดยโรคสมองที่พบบ่อยในกลุ่ม สว ได้แก่ โรคอัมพฤกษ์อัมพาต โรคอัลไซเมอร์ โรคสมองเสื่อม และโรคหลอดเลือดสมอง 
  • โรคเกาต์ พบในชายสูงอายุมากกว่าหญิง ทำให้เกิดอาการปวดตามข้อ ซึ่งเกิดจากการมีกรดยูริกสะสมในร่างกายเป็นจำนวนมาก 
  • โรคเบาหวาน เป็นความผิดปกติของร่างกายที่มีการผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงเกิน จนมีอาการปัสสาวะและหิวน้ำบ่อย อ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลด และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา 
  • โรคระบบทางเดินปัสสาวะ ผู้ชายสูงอายุส่วนใหญ่เป็นโรคต่อมลูกหมากโตจนกดท่อปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะบ่อยรวมทั้งเป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ส่วนผู้หญิงสูงอายุ มักกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ อาจเกิดจากระบบประสาท กระเพาะหรือทางเดินปัสสาวะผิดปกติ 


 
  • โรคข้อเข่าเสื่อม มักพบในผู้หญิงสูงอายุมากกว่าชายถึง 2 เท่า เกิดการใช้ข้อเข่ามานาน การรับน้ำหนักตัวที่มากเกินไป 
  • โรคกระดูกพรุน พบมากในหญิงสูงอายุ โดยเฉพาะวัยหมดประจำเดือน เป็นภาวะที่กระดูกมีความหนาแน่นน้อยลง ทำให้กระดูกบางและเปราะหักง่ายขึ้น 
  • โรคตา โรคตาที่ผู้สูงอายุเป็นกันมาก คือ โรคจอประสาทตาเสื่อม โรคต้อกระจก โรคต้อหิน และน้ำวุ้นตาเสื่อม ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ และมีอาการที่แตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่เกิดจากความเสื่อม เนื่องจากอายุที่มากขึ้น 
  • โรคไต ในช่วงแรกมักไม่แสดงอาการ แต่เมื่อไตเริ่มเสื่อมมากขึ้น จะเกิดสะสมของของเสีย ทำให้เกิดความผิดปกติแสดงออกมามากขึ้น จนนำไปสู่การรักษาอย่างการล้างไต ฟอกเลือด และเปลี่ยนไตในที่สุด
  • โรคความดันโลหิตสูง คนปกติจะมีความดันโลหิต 120/80 – 139/89 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งหากมีความดันมากกว่านี้ จะจัดว่าเป็นผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งโรคนี้ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ แต่ถ้าไม่รักษาตั้งแต่เริ่มต้นก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ 
  • โรคหัวใจขาดเลือด สาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคนี้มาจากหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ พบมากในผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ อ้วนลงพุง ขาดการออกกำลังกาย หรือคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจยิ่งทำให้มีโอกาสเป็นโรคสูงขึ้น 
 
ชะลอ ก่อน (โรค) ชรา 
ต่อให้จะรู้ดีว่าไม่มีใครสามารถหนีความชราได้พ้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังคงต้องดูแล ด้วยวิธีการเหล่านี้ ที่ถึงแม้จะเบสิค แต่ก็ช่วยชะลอความชราให้ถามหา...ช้าที่สุด
  • กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอในแต่ละวัน
  • ออกกำลังอย่างเหมาะสม เพื่อส่งเสริมความแข็งแรงให้กับร่างกายและปรับสภาพจิตใจ
  • สนใจสิ่งแวดล้อม เพราะอากาศเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยชะลอความแก่ ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง มีชีวิตที่ยืนยาว
  • ทำกิจกรรม ที่ทำให้เพิ่มความผ่อนคลาย ซึ่งเป็นการฝึกจิต (ใจ) ให้แข็งแรง
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ยิ่งในวัยที่อะไรๆ ร่างกายได้เสื่อมถอย การหยุดพัก เพื่อให้ร่างกายมีเวลาซ่อมแซมตัวเองนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง
 
เพราะเรื่อง “โรคชรา” จะ “ชะล่า” ใจไม่ได้ ! 
-->