แอนนา คีเซนโฮเฟอร์ นักปั่นสาวม้ามืดโอลิมปิก ทำไมเธอแข็งแกร่งได้ขนาดนั้น
หนึ่งในนักกีฬาโอลิมปิกที่กลายเป็นข่าวโด่งดังมากที่สุดตอนนี้ คงหนีไม่พ้น ดร.เเอนนา คีเซนโฮเฟอร์ เจ้าของเหรียญทองกีฬาจักรยานประเภท Road Race 137 กิโลเมตร เพราะเธอพาจักรยานคู่ใจเข้าเส้นชัยด้วยเวลา 3 ชั่วโมง 52 นาที 45 วินาที ชนิดทิ้งคู่แข่งขาดลอย
แล้วที่ทำให้คนทั้งโลกค่อนข้างเซอร์ไพรส์เพราะอะไร ก็เพราะว่าเธอไม่มีทั้งโค้ช ไม่มีทีมงาน ไม่มีเงินสนับสนุนหรือรายได้ เธอเหมือนม้านอกสายตา ถ้างั้นแล้วอะไรคือจุดแข็งที่ทำให้เธอคว้าแชมป์ เราเลยมาคุยกับ ดร.นพ.เกษม ใช้คลองกิจ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ และผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา โรงพยาบาลพญาไท ศรีราชา ผู้เป็นทั้งอดีตนักกีฬารักบี้และเคยได้สัมผัสใกล้ชิดเป็นศิษย์ของ รศ.ดร.ประทุม ม่วงมี คนไทยคนแรกๆ ที่ปั่นจักรยานทางไกลจากประเทศไทยไปยังสหรัฐอเมริกา เมื่อกว่า 50 ปีก่อน แล้วล่าสุดคุณหมอเกษม ยังมีศิษย์คนเก่งคือ อรสา เที่ยงกระโทก นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยบูรพา ที่สร้างประวัติศาสตร์ในการเป็นนักกีฬาหญิงไทยคนแรก ที่ได้ลงแข่งเรือแคนนู ในระดับโอลิมปิกอีกด้วย
ดร.นพ.เกษม ใช้คลองกิจ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ และผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา โรงพยาบาลพญาไท ศรีราชา จะมาวิเคราะห์ถึงความแข็งแกร่ง และองค์ประกอบต่างๆ ที่ทำให้ ดร.เเอนนา คีเซนโฮเฟอร์ กลายเป็นที่กล่าวถึงในวันนี้
สรีระและความแข็งแกร่ง
ในแง่ของกีฬาจักรยานทางไกลในระดับโอลิมปิก โครงสร้างร่างกายของตัวนักกีฬาต้องแข็งแกร่งมาก โดยเฉพาะ รยางค์ส่วนล่าง (lower limb) นับตั้งแต่สะโพก (hip) ลงไปต้นขา (thigh) ซึ่งเป็นส่วนที่มีกระดูกชิ้นใหญ่ที่สุดของร่างกายประกอบอยู่ จนถึงหัวเข่า (knee) ปลายขา (loq) และข้อเท้า (ankle) ทั้งหมดนี่ต้องมีการเวทเทรนนิ่งเพื่อความแข็งแรง
แต่ที่หลายคนอาจคาดไม่ถึงว่าสำคัญ นั่นคือแกนกลางของลำตัว คือกล้ามเนื้อส่วนหลังที่ต้องแข็งแรง แขนต้องมั่นคง เพราะการก้มตัวบนอานจักรยานและการประคองแฮนด์ให้ทรงตัวอยู่ได้ตลอดหลายชั่วโมงจะต้องใช้พละกำลังที่สูงมาก
ความได้เปรียบของสรีระพวกนี้เป็นเรื่องของชีวะเชิงกล หากนักกีฬามีก้านของแนวแรงขาที่ยาว ก็จะทำให้การขับเคลื่อนของวงล้อต่อรอบมีการใช้พลังงานที่น้อยกว่า การที่นักกีฬามีขายาว สูง ผอม น้ำหนักตัวน้อยแต่แข็งแกร่ง แรงกดและแรงต้านก็จะน้อยกว่า เราจึงเห็นนักกีฬาขี่จักรยานในฝั่งยุโรปหรืออเมริกาโดดเด่นกว่านักกีฬาแถบเอเชียค่อนข้างมาก และ ดร.แอนนา ก็มีสิ่งเหล่านี้อยู่ครบถ้วน
Photo Credit: Getty Image
การหายใจและการกิน
สมรรถนะของนักกีฬาระยะทางไกลหรือที่ต้องใช้เวลาแข่งขันนานหลายชั่วโมง สิ่งที่มองข้ามไม่ได้คือเรื่องของความทนทานในการใช้ร่างกาย ซึ่งจะเกี่ยวกับการหายใจ หัวใจและหลอดเลือด รวมถึงปอดที่แข็งแรง ซึ่งจะแตกต่างกับนักกีฬาประเภทระเบิดกำลังอย่างยกน้ำหนัก วิ่งระยะสั้น หรือเทควันโด ที่จะใช้การระเบิดพลังเป็นครั้งๆ ไป การฝึกหายใจและการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอจึงสำคัญมากกับกีฬาจักรยานทางไกล
ก่อนการแข่งขัน นักกีฬาจะเพิ่มอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเพื่อสะสมเป็นไกลโคเจนไว้ที่ตับและกล้ามเนื้อให้มากพอ เมื่อถึงเวลาแข่งขันก็จะค่อยๆ ดึงพลังงานเหล่านี้มาใช้ ส่วนการเติมเกลือแร่ วิตามิน และดื่มน้ำในระหว่างการแข่งขันก็เพื่อให้ระบบการทำงานของร่างกายไม่เสียสมดุล ซึ่งนักกีฬาระดับนี้ส่วนใหญ่จะต้องมีนักโภชนาการคอยดูแลเรื่องอาหาร แต่ ดร.แอนนา เข้าใจร่างกายของตัวเองดี จึงทำออกมาได้ยอดเยี่ยม
Photocredit: the guardian
โซนพลังงานและการระบายความร้อน
การแบ่งโซนการใช้พลังงานเป็นสิ่งสำคัญ เพราะธรรมชาติของร่างกายไม่สามารถระเบิดพลังงานสูงสุดมาใช้อย่างต่อเนื่องยาวนานได้ นักกีฬาจึงต้องประเมินตนเองว่าจะใช้พลังงานสักกี่เปอร์เซ็นต์จากศักยภาพสูงสุดและความคุ้นเคยจากการฝึกซ้อม ส่วนใหญ่นักกีฬามักเลือกที่จะปล่อยพลังงานหรือแสดงศักยภาพออกมาไม่เกิน 80% ในช่วงแรกของการแข่งขัน เพื่อประคองความเร็วในระยะนั้นๆ ไว้ให้ได้ยาวที่สุด แล้วจึงค่อยเพิ่มการใช้แรงให้เต็มร้อยเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมหรือใกล้เส้นชัย
หลายคนอาจนึกไม่ถึงว่า การระบายความร้อนและของเสียจากร่างกายอาจเป็นจุดเปลี่ยนของชัยชนะ เพราะร่างกายที่ไม่ร้อนจนเกินไปจะมีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานสูง เปรียบได้กับเครื่องยนต์ที่เผาไหม้ดี ระบายความร้อนได้ดี ก็วิ่งฉิว ไม่เกิดโอเวอร์ฮีตจนเครื่องดับ
อาจเป็นเพราะ ดร.แอนนา เธอมีความสามารถใช้เชิงคณิตศาสตร์ เธอจึงวางแผนการใช้พลังงาน และการระบายความร้อนมาอย่างดี ซึ่งเราแอบรู้มาว่า เธอศึกษาและมีการซ้อมเพื่อรับมือกับอากาศร้อนในโตเกียว โดยมีการทดลองเปรียบเทียบการปั่นจักรยานในบริเวณอากาศเย็นและร้อน และเธอก็ตัดสินใจที่จะใช้แผนการฉีกตัวออกนำตั้งแต่แรก เพราะเธอดีว่า เธอเอาอยู่...
Photo Credit: businessguideafrica.com
ถ้าไม่ใช่มืออาชีพ ก็ต้องมีพรสวรรค์ใช่ไหม
แม้ ดร.เเอนนา คีเซนโฮเฟอร์ จะไม่ได้เป็นนักกีฬาอาชีพ แต่เธอเป็นนักกีฬาที่มุ่งมั่นในความเป็นเลิศ (Excellence Sports) โดยเธอเคยเล่นไตรกีฬา และยังเป็นแชมป์กีฬาจักรยาน Time Trial ของออสเตรีย ถึง 3 สมัยซ้อน การที่เธอเข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ได้ ก็เพราะเธอเป็นแชมป์ Road Race คนล่าสุดของออสเตรีย
แม้พรสวรรค์ของนักกีฬาอาจมีอยู่จริง แต่ส่วนใหญ่แล้วพรสวรรค์มักถูกนำมาใช้ให้ประโยชน์สำหรับการเริ่มต้นเท่านั้น หากนักกีฬาไม่ขยันฝึกซ้อม ขาดระเบียบวินัยและการเตรียมความพร้อมของร่างกาย การที่จะไปถึงระดับสูงสุดได้หรืออยู่ในจุดสูงสุดได้นานนั้นย่อมเป็นเรื่องยาก ความเพียรพยายาม อดทน ทุ่มเทและฝึกซ้อม มีวินัย สละความสุขสบายยอมเหนื่อยยาก รวมถึงการมีความรู้ที่ถูกต้อง และการรอบรู้ในกีฬาประเภทนั้นๆ คือประตูของความสำเร็จที่แท้จริง
การที่เธอเป็นโค้ชให้ตัวเอง เราเชื่อว่าเธอต้องมีการวางแผน ฝึกฝน ประมวลผล และแก้ไขจุดบกพร่องให้ตัวเองอยู่ตลอด ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เรื่องของความบังเอิญหรือพรสวรรค์ใดๆ และแน่นอนว่า ดร.เเอนนา คีเซนโฮเฟอร์ จะเป็นหนึ่งในเรื่องราวที่ผู้คนจะจดจำและมีการกล่าวถึงไปอีกนาน สำหรับโอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2021 ในครั้งนี้
#Tokyo2020
#Olympics2020
#GoldMedal
#AnnaKiesenhofer