แม้ไม่อยากลดน้ำหนัก แต่นี่คือเหตุผลว่าทำไมคุณควรออกกำลังกาย
หลายคนคงมีเพื่อนที่หุ่นดี ร่างกายผอมบางแม้ว่าจะไม่เคยออกกำลังกายเลยสักนิด แถมยังกินบุฟเฟต์เป็นว่าเล่น แต่ถ้าลองได้สนิทกันแล้วจะรู้ว่าพวกเธอมักจะป่วยออดๆ แอดๆ เสมอ แถมพวกเธอยังมองว่าการออกกำลังกายไม่ใช่สิ่งที่พวกเธอต้องทำ เพราะเหมาะกับคนตุ้ยนุ้ยที่ต้องการลดน้ำหนักเท่านั้น
ขอบอกว่าคิดผิด เพราะการไปยิมหรือออกกำลังกายจริงจัง มีประโยชน์มากกว่านั้น
1) ป้องกันคุณจากไข้หวัด : คนที่ออกกำลังกายเป็นประจำจะรู้ว่าตัวเองไม่ค่อยเป็นไข้หวัด หรือถ้าเป็นก็หายเร็วกว่าคนอื่นๆ โดยมีการศึกษาพบว่าคนที่เดินออกกำลังกายสัปดาห์ละ 4 ครั้งๆ ละ 40 นาทีจะป่วยน้อยกว่า 25-50% เลยทีเดียว... นั่นเพราะการออกกำลังกายช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ทำงานดีขึ้นยังไงล่ะ
2) ป้องกันและเยียวยาจากโรคกระดูกพรุน : ระหว่างที่เราออกกำลังกาย จะเกิดแรงกระแทกกับพื้นซึ่งช่วยกระตุ้นเซลล์กระดูกบริเวณขา สะโพก และกระดูกสันหลังให้สร้างเซลล์กระดูกขึ้นใหม่ จึงป้องกันไม่ให้กระดูกพรุนได้ ส่วนการออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกสูงอย่างการเต้น กระโดดเชือก หรือเทนนิสก็จะกระตุ้นและรักษาความหนาแน่นของมวลกะระดูกไว้... ขณะเดียวกัน การออกกำลังกายแบบเน้นความแข็งแรงของกล้ามเนื้อก็ดีต่อกระดูกเหมือนกัน เช่น ยกน้ำหนัก ใช้เครื่องที่มีแรงต้านทาน หรือดันพื้น กล้ามเนื้อและเอ็นจะมีแรงดึงจากกระดูก ดังนั้นเพื่อให้ได้ผลดีจึงควรทำกิจกรรมทั้งสองประเภทควบคู่กันไป โดยเฉพาะหญิงวัยทอง ที่ความหนาแน่นของมวลกระดูกจะลดลงอย่างรวดเร็ว
3) ป้องกันมะเร็งหลายชนิด : มีการวิจัยพบว่าคนที่เดินออกกำลังกายสัปดาห์ละ 4 ครั้งๆ ละ 30 นาทีมีโอกาสเกิดติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ (ซึ่งอาจพัฒนาเป็นมะเร็ง) น้อยลง 25% ลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านมโดยเฉพาะในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน และยังมีการวิจัยอีกมากกว่า 30 ชิ้นยืนยันว่าการออกกำลังกายลดความเสี่ยงมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ถึง 20% เลยทีเดียว
4) ป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง : การออกกำลังกายทำให้หัวใจคุณเต้นเร็วขึ้น การวิจัยพบว่าการออกกำลังกายวันละอย่างน้อย 30 นาที ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและลหลอดเลือดลงได้ 20% แต่หากใครที่ป่วยแล้วต้องปรึกษาแพทย์อีกครั้งว่าปริมาณการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับคุณคืออะไร เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณนั่นเอง
5) บำบัดอาการของโรคซึมเศร้า : ไม่ว่าคุณจะป่วยหรือแค่เศร้าเฉยๆ การออกกำลังกายช่วยคุณได้ โดยแพทย์จาก Harvard Medical School ได้ทดลองแบ่งผู้ป่วยโรคซึมเศร้าออกเป็น 3 กลุ่มๆ แรกให้ออกกำลังกายอย่างเดียว กลุ่มที่ 2 ให้ยารักษา และกลุ่มที่ 3 ให้ยาควบคู่กับออกกำลังกาย นาน 4 เดือน ผลคือทั้ง 3 กลุ่มมีอาการดีขึ้น และเมื่อติดตามกลุ่มที่ออกกำลังกายเป็นประจำ พบว่าโอกาสกลับมาเป็นโรคซึมเศร้าอีกครั้งน้อยมาก
6) บรรเทาอาการของโรคพาร์กินสัน : มีการวิจัยโดยนำผู้ป่วยพาร์กินสันจำนวน 20 คนมาเล่นเกม Wii วันละ 1 ชม. ประกอบด้วยเกมเทนนิส โบว์ลิ่ง และมวย สัปดาห์ละ 3 วันรวม 4 สัปดาห์ แพทย์พบว่าหลังจากสัปดาห์ที่ 4 ผู้ป่วยเคลื่อนไหวร่างกายได้ดีขึ้น ทักษะในการเคลื่อนไหวดีขึ้น มีแรงมากขึ้น ซึ่งเกิดจากการที่สมองหลั่งโดพามีนในช่วงที่ร่างกายเคลื่อนไหว (สมองของผู้ป่วยพาร์กินสันจะมีโดพามีนในปริมาณน้อย) นอกจากนี้ยังลดอาการซึมเศร้าของผู้ป่วยลงได้ด้วย
7) บรรเทาอาการท้องผูก : ถ้าอยากให้อะไรๆ ในลำไส้เคลื่อนที่ได้ดีขึ้น คุณก็ต้องเคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้น มีการศึกษาพบว่าคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ อาหารจะเคลื่อนผ่านลำไส้ได้ดีกว่า ลดความเสี่ยงท้องผูกได้ 40% เลยนะ
8) ความดันสูง กลับมาปกติ : หรือเพียงแค่คุณมีอาการและพฤติกรรมเข้าข่ายความดันสูง การออกกำลังกายอย่างการวิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ หรือการฝึกกล้ามเนื้อก็ช่วยให้ความดันกลับมาอยู่ในระดับปกติได้ ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น
9) ลดอาการปวดเรื้อรัง : การออกกำลังกายแบบแอโรบิคอย่างการปั่นจักรยาน เดินเร็ว หรือวิ่งบนลู่เพียง 10 นาที ก็ช่วยให้อาการปวดเมื่อยเนื้อตัวดีขึ้นเพราะมียาแก้ปวดตามธรรมชาติอย่างสารสื่อประสาทที่ชื่อว่าเอ็นโดฟินส์ (Endophins)หลั่งออกมานั่นเอง นอกจากนี้ยังช่วยให้ร่างกายทนต่อความปวดได้ดีขึ้น โดยนักวิจัยจาก University of New South Wales และ Neuroscience Research Australia ประเทศออสเตรเลีย ได้ให้กลุ่มตัวอย่างออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยานครั้งละ 30 นาทีสัปดาห์ละ 3 ครั้งรวม 6 สัปดาห์ พบว่าร่างกายทนต่อความเจ็บปวดได้ดีขึ้น
10) ลดอาการล้าเรื้อรัง : หลายคนเข้าใจว่าในเมื่อชีวิตประจำวันก็เหนื่อยจะแย่ จะให้ไปเสียเหงื่อกับการออกกำลังกายอีกทำไม แต่ทีมนักวิจัยจากอังกฤษบอกว่ายิ่งคุณรู้สึกอ่อนเพลียหรือเหนื่อยล้ามากเท่าไหร่ก็ยิ่งควรทำ เขาให้ผู้ป่วยที่มีอาการล้าเรื้อรัง (Chronic fatigue syndrome) จนไม่สามารถทำงานได้มาออกกำลังกายแบบแอโรบิคสัปดาห์ละ 5 วันๆ ละ 15-30 นาทีเป็นเวลา 3 เดือน ผู้ป่วยกลุ่มนี้รู้สึกดีขึ้น และ 1 ปีหลังจากนั้น 3 ใน 4 ของผู้ป่วยที่ยังออกกำลังกาย ก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตและทำงานได้ตามปกติอีกครั้ง
11) ควบคุมอาการของโรคเบาหวาน : การออกกำลังกายช่วยเพิ่มความไวของอินซูลิน ให้สามารถปรับระดับน้ำตาลในเลือด คุณจึงไม่ต้องใช้ยาหรือใช้ปริมาณน้อยกว่าคนอื่น นอกจากนี้ การลดน้ำหนักของผู้ป่วยเบาหวานประเภท 2 ที่สามารถลดน้ำหนักได้ 10 กก.ในครึ่งปี สามารถควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่าคนที่ไม่ได้ลดน้ำหนัก
12) กระตุ้นให้รสเซ็กส์ดีขึ้น : การออกกำลังกายช่วยให้สมองหลั่งเอ็นโดฟินส์ซึ่งทำให้มีความสุขและกระตุ้นฮอร์โมนเพศ และการที่มีเลือดไปเลี้ยงอวัยวะเพศดีขึ้นก็ทำให้ทั้งผู้หญิงและชายรู้สึกพึงพอใจกับเซ็กส์มากขึ้น นอกจากนี้การศึกษาของ Harvard School of Public Health พบว่าผู้ชายที่ออกกำลังกายวันละ 20-30 นาที จะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการแข็งตัว
13) ต่อสู้กับการเสพติด : การออกกำลังกายส่งผลดีทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อผู้ที่เข้ารับการบำบัด โดยการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า ผู้เข้ารับการบำบัดการติดเหล้าที่ออกกำลังกายควบคู่ไปด้วยนาน 12 สัปดาห์ สามารถลดการดื่มได้นานขึ้น และมีแนวโน้มว่าจะเลิกได้ในที่สุด
จากข้อดีที่ว่ามาของการออกกำลังกาย ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าทำให้คุณอายุยืนมากขึ้น โดยหน่วยงานป้องกันโรคติดต่อในสหรัฐอเมริกา (CDC) บอกว่าเพียงคุณออกกำลังกายควบคู่กับการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ก็เป็นคนแก่ที่แข็งแรงได้ไม่ยาก