แบบนี้ก็มีด้วย ‘โรคเกลียดเสียง’ หงุดหงิด รำคาญ เสียงรบกวนเล็กๆ น้อยๆ
เคยมั้ยเวลาได้ยินเสียงรบกวนเล็กๆ น้อยๆ แล้วรู้สึกหงุดหงิดขึ้นมา เช่นเสียงกดปากกา เสียงเคี้ยวอาหาร เสียงเด็กร้องไห้ เสียงเข็มนาฬิกา เสียงฝน เสียงต้นไม้ เสียงการจราจร หรือแม้กระทั้งเสียงเต้นของหัวใจ ถ้าคุณหงุดหงิดเสียงเหล่านี้จนทนไม่ได้ เป็นต้องปรี๊ดแตกทุกที นี่คือสัญญาณบ่งบอกว่าคุณอาจเป็น ‘โรคเกลียดเสียง’
โรคเกลียดเสียง = โรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง
โรคเกลียดเสียง (Misophonia) หรือโรคไวต่อเสียงบางชนิด ถือเป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งซึ่งมี “เสียง” (Trigger Sound) เป็นสิ่งเร้า ซึ่งอาจเป็นเสียงบางชนิดที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเสียงที่เกิดจากมนุษย์ เช่น เสียงเคี้ยวอาหาร เสียงผิวปาก เสียงเด็กร้องไห้ เสียงหายใจ หรือจะเป็นเสียงจากสิ่งแวดล้อม เช่น เสียงฝนกระทบหลังคา เสียงจราจร เสียงแอร์ ทำให้รู้สึกโกรธ หงุดหงิด หรือวิตกกังวลใจทุกครั้งที่ได้ยิน และอาจส่งผลให้เกิดความเครียดอย่างรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ
โรคเกลียดเสียงเกิดจากอะไร มาทำความเข้าใจกัน
Dr.Sukhbinder Kumar นักประสาทวิทยาจาก Newcastle University ประเทศอังกฤษ ระบุว่า ในคนที่มีภาวะเกลียดเสียง สมองส่วนอินซูล่า (Anterior Insular Cortex) ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างประสาทสัมผัสกับอารมณ์จะทำงานหนักกว่าคนทั่วไปในขณะที่ได้ยินเสียง ส่งผลให้เกิดอารมณ์หงุดหงิด หรือวิตกกังวล (anxiety) หัวใจเต้นเร็วและเหงื่อออกได้มากขึ้น ซึ่งจากสถิติพบว่าโรคเกลียดเสียงส่วนใหญ่มักพบในผู้หญิง ตั้งแต่อายุ 9-13 ปี จนเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะมีอาการถี่ขึ้น จนเริ่มส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
เรื่องจริงของหญิงชาวอินเดียที่ต้องเผชิญกับ ‘โรคเกลียดเสียง’
หญิงสาวชาวอินเดียนามว่า ปรัชญา บากัต เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว BBC ไว้ว่า เธอเป็นโรคเกลียดเสียงมาตั้งแต่เด็ก โดยเธอจะร้องไห้เสียงดัง กรีดร้อง และบางครั้งก็โขกหัวตัวเองเข้ากับฝาผนัง เวลาที่ได้ยินเสียงถอนหายใจหลังดื่มชาของพ่อ หรือการออกเสียงพยัญชนะบางตัวของท่าน เมื่อโตขึ้นเธอก็ไม่สามารถทานข้าวร่วมโต๊ะกับพ่อแม่ของเธอได้ เพราะเสียงเคี้ยวอาหารจะเป็นตัวกระตุ้นอาการของเธอ เธอจึงต้องหาทางออกโดยการฟังเพลงไปด้วยระหว่างทานอาหารกับพวกท่าน และบางทีก็ต้องฟังเพลงตลอดทั้งวันเพื่อให้ไม่ได้ยินเสียงรบกวนต่างๆ
โรคเกลียดเสียง รักษาได้มั้ย?
ในประเทศสหรัฐอเมริกามีการบำบัดผู้ที่มีอาการโดยจิตแพทย์ โดยให้ผู้ป่วยระบายความอึดอัดในใจ และอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจกำเนิดของเสียง จากนั้นจึงค่อยๆ ฝึกให้ผู้ป่วยปรับตัวอยู่ร่วมกับเสียงกระตุ้นเหล่านั้นได้โดยไม่รู้สึกรำคาญ
ใครที่มีอาการ หรือรู้จักใครที่มีอาการแบบนี้ เบื้องต้นหากอาการยังไม่รุนแรง อาจลองเริ่มจากการหลีกเลี่ยงเสียงกระตุ้นเหล่านั้น ใส่หูฟัง หรือเทความสนใจไปทำอย่างอื่น เช่นคุยกับเพื่อนหรืออ่านหนังสือแทน แต่ถ้ารู้สึกว่าอาการเกลียดเสียงเริ่มจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรเข้ารับคำปรึกษาจากจิตแพทย์จะดีที่สุด