เหงื่อไม่ออก...ไม่ได้แปลว่าไม่ร้อน แต่อาจเสี่ยงภาวะขาดเหงื่อ
งงเหมือนกัน ทั้งที่อากาศก็ร้อนอย่างกับอยู่กลางทะเลทราย แต่ทำไมเราไม่ยักกะมีเหงื่อสักเม็ด ในขณะที่ชาวบ้านเขาแค่ออกมาเจออากาศร้อนไม่ถึง 5 นาที ก็เหงื่อท่วมอย่างกับเพิ่งอาบน้ำมา จะว่าเป็นเพราะ “รอยสัก” ตามที่มีผลการวิจัยล่าสุดโดย Alma College ในรัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา รายงานไว้ว่าการสักตามร่างกายส่งผลข้างเคียงต่อการขับเหงื่อทางผิวหนัง โดยผิวตรงบริเวณที่ถูกสักจะมีเหงื่อออกน้อยกว่าบริเวณที่ไม่มีรอยสัก คือถ้ายิ่งมีรอยสักมากๆ ตามผิวหนังส่วนต่างๆ ก็ยิ่งทำให้ร่างกายขับเหงื่อออกมาได้น้อยลงตามไป ก็ไม่น่าจะใช่ เพราะนี่ไม่มีรอยสักนิด งั้นก็เหลือแค่...ภาวะขาดเหงื่ออย่างเดียวแล้วล่ะร้อนจะตาย แต่ทำไมไม่มีเหงื่อ
ภาวะขาดเหงื่อ (Anhidrosis) หมายถึง อาการที่ไม่มีเหงื่อออก หรือมีเหงื่อน้อยกว่าปกติอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าจะอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อน หรือออกกำลังกายอย่างหนักแล้วก็ตาม อาจมีตั้งแต่ในระดับเบา มีเหงื่อออกน้อย ไปจนถึงระดับรุนแรง ที่ไม่มีเหงื่อออกเลย ซึ่งการที่เราไม่มีเหงื่อ ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถถ่ายเทความร้อน และลดอุณหภูมิของร่างกายลงได้ ส่งผลให้อุณหภูมิของร่างกายสูงเกินไป จนอาจส่งผลให้เกิดสภาวะที่เป็นอันตราย เช่น ตะคริว เพลียแดด หรือลมแดด เป็นต้น แต่ทั้งนี้ก็อาจเกิดขึ้นแค่เพียงบางส่วนของร่างกาย จึงทำให้ยากต่อการสังเกตและการวินิจฉัย บ่อยครั้งที่ภาวะขาดเหงื่อนั้นอาจจะส่งผลแค่กับบางบริเวณของร่างกาย แต่ส่วนอื่นยังคงมีเหงื่อออกตามปกติ ทำให้ร่างกายสามารถคลายความร้อนได้ และไม่เป็นอันตรายใดๆ
ภาวะขาดเหงื่อ เชื่อว่าเพราะเหตุนี้
ถ้าสังเกตว่าตัวเองมักจะไม่มีเหงื่อออกหรือมีเหงื่อออกน้อย วิงเวียน ร้อนวูบวาบ เป็นตะคริว กล้ามเนื้ออ่อนแรง เหนื่อยล้า รู้สึกร้อนมากเกินไป อาการเหล่านี้อาจเป็นได้ที่จะมีภาวะขาดเหงื่อ ที่จะเกิดขึ้น เมื่อต่อมเหงื่อไม่สามารถทำงานได้อย่างถูกต้อง โดยอาจเป็นผลมาจาก...
- โรคแต่กำเนิด เช่น การเจริญเติบโตผิดปกติ อาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของต่อมเหงื่อ และทำให้ต่อมเหงื่อทำงานผิดปกติได้
- โรคทางพันธุกรรมอย่างโรคฟาเบรย์ (Fabry’s disease) ที่ส่งผลกระทบต่อระบบการเผาผลาญของร่างกาย
- กลุ่มโรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue disease) เช่น โรคโจเกรน (Sjogren’s disease) ที่นอกจากจะทำให้เกิดอาการตาแห้งและปากแห้งแล้ว ยังอาจส่งผลให้เหงื่อออกน้อยกว่าปกติได้ด้วย
- การบาดเจ็บที่ผิวหนัง เช่น โรคสะเก็ดเงิน แผลไฟไหม้ หรือแผลจากการฉายรังสีบำบัด ที่ส่งผลต่อการทำงานของต่อมเหงื่อ
- โรคที่ส่งผลกระทบต่อระบบประสาท เช่น โรคเบาหวาน หรือ โรคพิษสุราเรื้อรัง
- ภาวะขาดน้ำ (Dehydration) หรือการดื่มน้ำน้อยเกินไป ก็อาจทำให้ร่างกายมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอที่จะผลิตเหงื่อได้เหมือนกัน
- การทานยาบางชนิด ที่มีฤทธิ์ข้างเคียงต่อการขับเหงื่อ
ถ้าอยากให้เหงื่อออก (เหมือนคน) ปกติ คงต้องเริ่มที่ตัวเอง ด้วยการกินอาหารเสริมประเภทขิงและถั่วเหลือง ซึ่งช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด และทำให้ร่างกายสามารถขับเหงื่อได้ดียิ่งขึ้น ควบคู่กับการดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ และช่วยให้ร่างกายมีน้ำมากพอที่จะไปผลิตเป็นเหงื่อ และขับเหงื่อออกจากร่างกายได้ แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนี้ อาจมีผลกับผู้ที่มีปัญหาเหงื่อไม่ออกแค่บางจุดของร่างกาย หรือมีเหงื่อออกน้อยเท่านั้น ไม่สามารถรักษาภาวะขาดเหงื่อได้
เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากให้รุนแรงถึงขั้นเป็นลมแดด หรือฮีทสโตรก...ที่ (อาจ) เป็นอันตรายถึงชีวิต ควรหาเวลาไปพบแพทย์สักหน่อยจะดีกว่า