เหงื่อออกแบบไหน ไม่ใช่เรื่องดี
ถ้าอากาศบ้านเราจะร้อนไม่แผ่วเบอร์นี้ มันก็ต้องมีเหงื่ออกบ้างเป็นเรื่องธรรมด๊า ธรรมดา ยิ่งพอไปดูงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่บอกว่า ต่อมเหงื่อจะผลิตสเต็มเซลล์ (Stem Cell) ที่มีประโยชน์ในการช่วยเยียวยารักษาบาดแผลได้ดี ก็เลยยิ่งเบาใจ แต่ถ้าถึงขนาดหนีเข้าห้องแอร์แล้วยังเหงื่อออกไม่หยุดนี่ก็น่าจะไม่ใช่เรื่องปกติแล้วเพราะแบบนี้ถึงมี...เหงื่อ
เหงื่อเป็นของเสียรูปแบบหนึ่งที่ถูกขับจากต่อมเหงื่อออกมาทางผิวหนัง เพื่อช่วยลดอุณหภูมิในร่างกายลง ประกอบไปด้วยน้ำและเกลือเป็นส่วนสำคัญ โดยมีสาเหตุหลักจากอุณหภูมิภายในหรือภายนอกร่างกายสูงขึ้น ที่รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ดังนี้
- สภาวะทางอารมณ์ เช่น โกรธ กลัว เครียด วิตกกังวล หรืออึดอัดใจ
- การกินอาหารบางประเภท เช่น อาหารเผ็ดร้อน เครื่องดื่มคาเฟอีน ชา กาแฟ โซดา หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- อาการป่วยทางร่างกาย เช่น โรคมะเร็ง ไข้ขึ้น อาการติดเชื้อ น้ำตาลในเลือดต่ำ กลุ่มอาการเจ็บปวดเฉพาะที่อย่างซับซ้อนบริเวณแขนขาหรือกลุ่มอาการซีอาร์พีเอส (Complex Regional Pain Syndrome)
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ปวดหรือมอร์ฟีน ยาบำบัดภาวะร่างกายพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน (Synthetic Thyroid Hormones)
- อยู่ในวัยหมดประจำเดือนหรือวัยทอง เป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับประจำเดือน ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เหงื่อออก จึงสังเกตเห็นได้ว่าผู้หญิงวัยทองมักมีอาการเหงื่อออกในเวลากลางคืน หรือมีอาการร้อนวูบวาบพร้อมกับเหงื่อออก
เหงื่อออกแบบนี้...อาจมีปัญหา
โดยปกติแล้วเหงื่อมักจะออกตามใบหน้า รักแร้ ฝ่ามือและฝ่าเท้า แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เหงื่อออกมาในบริเวณต่างๆ เหล่านี้มีมากกว่าปกติ ก็น่ากลัว…เพราะว่าร่างกายอาจจะกำลังส่งสัญญาณอะไรบางอย่าง
- เหงื่อออกมือ...แม้ว่าภาวะเหงื่อออกมือจะไม่ได้ถือว่ามีอันตรายร้ายแรง แต่ในบางกรณีก็อาจเป็นการส่งสัญญาณถึงอาการข้างเคียงของโรคอื่นๆ โดยเฉพาะโรคไทรอยด์เป็นพิษได้เช่นกัน อันเนื่องจากสาเหตุที่ร่างกายมีการเผาผลาญสูง และที่ผ่านมาเราอาจเคยได้ยินว่าเหงื่อออกมือสามารถสื่อถึงอาการของโรคหัวใจได้ แต่ในความเป็นจริงโรคหัวใจอาจจะทำให้มีเหงื่อออกมือมากผิดปกติ แต่ก็ไม่ได้เป็นอันตรายถึงชีวิต เพียงแค่อาจจะสร้างความกังวล ทำลายความมั่นใจ และอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตที่ลดลง เพราะฉะนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางการแก้ไขต่อไป
- เหงื่อออกเท้า...เช่นเดียวกับอาการเหงื่ออกมือ ที่ไม่ถือว่ามีอันตราย โดยสามารถเกิดขึ้นได้จาก 3 ปัจจัย คือ ระบบเผาผลาญในร่างกายทำงานมากผิดปกติ โดยจะสังเกตว่าคนกลุ่มนี้ต่อให้กินเข้าไปเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน แถมยังรู้สึกหิวอยู่ตลอดเวลา ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งคือเกิดจากการที่ต่อมเหงื่อทำงานมากผิดปกติ โดยพบเหงื่อออกมากเป็นพิเศษที่เท้า และมือ รวมถึงเป็นกรรมพันธุ์ที่ทำให้มีเหงื่อออกเท้ามากเป็นพิเศษ
- เหงื่อ...ไม่ออกก็ไม่ดี เพราะเป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถผลิตเหงื่อได้ตามปกติ จึงอาจทำให้ร่างกายสะสมความร้อนไว้สูงเกินไป จนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่มีสาเหตุมาจากความร้อน เช่น ตะคริวแดด (Heat Cramp) อาการเพลียแดด (Heat Exhaustion) จากการโดนแดดหรือความร้อนเป็นเวลานานจนทำให้หมดแรง โดยภาวะดังกล่าวนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนหรือเกิดเฉพาะบางจุดของร่างกายก็ได้เช่นกัน และมักจะเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น การได้รับบาดเจ็บบริเวณผิวหนังอย่างรุนแรง โรคหรือยาบางชนิด สภาวะบางอย่างที่ทำให้ระบบเส้นประสาทเสียหาย ภาวะขาดน้ำ หรือแม้แต่กรรมพันธุ์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของต่อมเหงื่อ
เหงื่อออกแบบนี้อย่ารีรอ
อาการเหงื่อออกเป็นกลไกธรรมชาติที่นอกจากจะช่วยลดความร้อนภายในร่างกายแล้ว ยังบ่งบอกถึงความผิดปกติของระบบการทำงานของร่างกายได้อีก ดังนั้นจึงต้องคอยสังเกตความผิดปกติ และถ้าเมื่อไหร่ที่เกิดอาการเหล่านี้ควรรีบไปหาหมออย่ารอช้า
- เหงื่อออกมากหรือออกเป็นระยะเวลานานโดยไม่มีสาเหตุ หรืออาจถึงขั้นว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำหนักลด
- เหงื่อออกร่วมกับการเจ็บแน่นหน้าอก พร้อมกับมีความดันที่ผิดปกติ
- มีเหงื่อออกเป็นประจำขณะนอนหลับในเวลากลางคืน