เมื่อโรคซึมเศร้าไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป….พูดคุยกับ พญ.นันทิดา ปัทมานุสรณ์ I จิตแพทย์

หลายคงคงทราบดีว่าภาวะซึมเศร้า หรือโรคซึมเศร้าถือเป็นสิ่งที่ทุกคนให้ความสำคัญและเรามักเห็นคนรอบตัวเราเป็นโรคนี้กันมากขึ้น ซึ่งมีหลายคนไม่รู้ว่าลักษณะอาการของโรคซึมเศร้าเป็นอย่างไร รวมทั้งมีความไม่มั่นใจด้วยว่าตัวเองนั่นมีภาวะซึมเศร้าหรือเปล่า วันนี้เราจะมาไขข้อสงสัยนี้กับ พญ.นันทิดา ปัทมานุสรณ์ จิตแพทย์ประจำคลินิกเฉพาะทางด้านเวชกรรมจิตเวชศาสตร์ จันทบุรี กัน



# ทำเข้าใจกันก่อน…อาการของโรคซึมเศร้าเป็นอย่างไร
โรคซึมเศร้า หรือ Depression เกิดจากความผิดปกติของสมองในส่วนที่มีผลกระทบต่อความคิด อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม รวมทั้งสุขภาพทางกายด้วย โดยคุณหมอให้ข้อมูลกับเราว่า “โดยปกติลักษณะของภาวะซึมเศร้าจะแสดงออกมาผ่านความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไปและแต่ละคนก็มีพฤติกรรมและความรู้สึกที่ไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น
  • มีความรู้สึกเศร้า ว่างเปล่า หมดหวัง รู้สึกเบื่อ รู้สึกไร้ค่า รู้สึกผิดมากเกิน รู้สึกอ่อนเพลียและหมดพลัง
  • พฤติกรรมความสนใจ ความสุข หรือความสนุกต่อกิจกรรม ที่เคยทำลดลง
  • น้ำหนักลดลง หรือเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งไม่ได้เกิดจากการควบคุมอาหารหรือความอยากอาหารเปลี่ยนแปลงไป ทั้งเพิ่มขึ้นหรือลดลง
  • นอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินไป
  • ทำอะไรช้าๆ เคลื่อนไหวช้า หรือกระสับกระส่าย
  • ความสามารถในการคิดและตัดสินใจลดลง ไม่มีสมาธิ
  • คิดเรื่องการตายซ้ำๆ หรือคิดฆ่าตัวตาย

ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของอาการในผู้ที่มีภาวะเป็นโรคซึมเศร้า โดยเราก็สามารถสังเกตเห็นถึงความผิดปกตินี้ได้ไม่ยาก”

# สาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า
สาเหตุของการเกิดภาวะซึมเศร้ามีหลากหลายสาเหตุและหลายปัจจัยมาก หากเราสังเกตเห็นพฤติกรรมการแสดงออกของแต่ละคน ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะซึมเศร้าได้ทุกคน ดังนั้นการแสดงพฤติกรรมสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อาจทำให้เป็นภาวะซึมเศร้าหรือไม่เป็นภาวะซึมเศร้าก็ได้ โดยคุณหมอให้ข้อสังเกตในเรื่องนี้กับเราว่า “ปัจจุบันยังไม่สามารถทราบสาเหตุได้อย่างชัดเจน ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยทั้ง 2 ปัจจัยนี้ ได้แก่

1. ปัจจัยด้านชีววิทยา
  • ด้านพันธุกรรม
  • ความผิดปกติในยีนที่เกี่ยวข้องกับการดูดสารสื่อประสาทเข้าสู่เซลล์ประสาทที่มีความบกพร่อง
  • ความไม่สมดุลในการทำงานของสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบต่อมไร้ท่อ
  • พยาธิสภาพของสมองบางส่วน
  • การทำงานของสารสื่อประสาทบางชนิดลดลง
  • สมองบางส่วนทำงานลดลง
  • มีความผิดปกติทางด้านประสาทสรีรวิทยาของการนอน

2. ปัจจัยด้านความคิด พฤติกรรม จิตใจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
  • บุคลิกภาพเดิม
  • ลักษณะทางความคิด การมองโลกหรือตนเองในแง่ลบ
  • ปัจจัยทั้งหลายที่ทำให้เกิดความเครียดด้านจิตสังคม เช่น เหตุการณ์ที่ทำให้กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง



# ทำยังไงดี เมื่อเราคิดว่าตัวเองกำลังเป็นโรคซึมเศร้า
ด้วยยุคสมัยนี้ที่มีเทคโนโลยีและอุปกรณ์การสื่อสารที่ทันสมัย ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นหลายคนจึงเริ่มต้นจากการเสิร์ชอินเทอร์เน็ตเพื่อที่จะหาข้อมูลของโรค ซึ่งหน่วยงานด้านสาธารณะสุขและโรงพยาบาลทั้งหน่วยงานของภาครัฐและภาคเอกชนก็มีเว็บไซต์เพื่อประเมินความเสี่ยงของผู้ที่สงสัยว่าตนเองมีภาวะซึมเศร้า โดยรูปแบบก็เป็นข้อคำถามง่ายๆ ให้เราได้ทำกัน

แต่คุณหมอได้ให้คำตอบกับเราสั้นๆ ว่า “การตั้งข้อสงสัยและข้อสังเกตเป็นเพียงการสันนิษฐานเบื้องต้นเพียงเท่านั้น แต่คุณหมอแนะนำให้พบจิตแพทย์โดยตรงจะดีที่สุด ทั้งนี้เพื่อจะได้รีบทำการรักษาได้อย่างรวดเร็วและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด”

# การรักษาตัวของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
“รูปแบบการดูแลรักษาขึ้นกับระดับความรุนแรง โดยทั่วไปจะมีการรักษาหลากหลายรูปแบบ โดยหมอขอยกตัวอย่างการรักษา คือ 
  1. การรักษาด้วยยา คือ การทานยาเพื่อปรับสารเคมีในสมองในอยู่ในสภาวะที่ดีขึ้น ซึ่งจะคล้ายๆ กับเวลาเราทานยาเพื่อรักษาโรค หากดีขึ้นก็จะลดปริมาณยาจนหายดีในที่สุด
  2. การรักษาทางจิตสังคม เช่น การบำบัดความคิด พฤติกรรมบำบัด จิตบำบัดแบบประคับประคองและกลุ่มบำบัด
  3. การรักษาด้วยเครื่องมือที่ส่งผลต่อสมอง เช่น การกระตุ้นให้ชักด้วยไฟฟ้า การกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

รูปแบบการรักษาของแต่ละคนก็จะมีความแตกต่างกันออกไป ซึ่งหมอจะประเมินจากลักษณะอาการของผู้ป่วยซึมเศร้าตามระดับความรุนแรงของอาการ”

# อันนี้สำคัญมาก! Do / Don’t เมื่อคุณต้องอยู่กับคนที่มีภาวะซึมเศร้า
“เป็นคำถามที่คนถามเยอะ แต่จริงๆ แล้วไม่ได้มีวิธีที่ตายตัว ขอแค่ถามจากคนเป็นโรคซึมเศร้าว่าอยากให้ทำ หรือไม่อยากให้ทำอะไร เพราะแต่ละคนมีประเด็นของความเจ็บปวด และความต้องการจากคนใกล้ตัวต่างกัน ดูแลเรื่องความปลอดภัยในชีวิตเป็นหลัก ซึ่งอาจจะคอยดูอยู่ห่างๆ ก็ได้ และระวังกลุ่มคำพูดให้กำลังใจที่อาจจะสื่อไปในทางลบ เช่น สู้ๆ นะ อดทนหน่อย อย่าไปคิดมาก เรื่องแค่นี้เอง คนอื่นยังผ่านไปได้เลย ฉันเคยเจอมาหนักกว่านี้อีกปัญหาเธอแค่นี้เอง”

คำพูดบางคำเราอาจจะไม่ได้คิดอะไร และมองว่าไม่ได้มีความรุนแรงอะไร แต่สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทุกเรื่องที่เราพูดออกไป อาจเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเขาและอาจทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นคุณควรให้ความสำคัญกับการพูดคุยกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า



# หลายคนชอบเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า
ด้วยความไม่เข้าใจของใครหลายๆ คนทำให้อาจมีการเข้าใจผิด หรืออาจจะมีชุดข้อมูลที่ไม่ได้เป็นข้อเท็จจริง ซึ่งการที่เราไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิดไม่ใช่เรื่องที่แปลกอะไร เนื่องจากโรคซึมเศร้าก็ถือเป็นโรคที่คนทั่วไปอาจจะไม่เคยได้ยิน หรือไม่เคยมีคนรอบตัวของตนเองเป็นโรคนี้

คุณหมอให้ข้อมูลเราเพิ่มเติมว่า “โดยปกติคนมักเข้าใจในหลากหลายประเด็นด้วยกัน โชคดีว่าหมอเจอคนไข้มาเยอะและก็มีหลายๆ คนได้อธิบายให้เราฟัง หมอเลยลองสรุปให้ทุกคนได้รู้กัน เผื่อมีใครอาจจะมีความคิดประมาณนี้อยู่จะได้ปรับเปลี่ยนความคิดของคนที่เป็นโรคซึมเศร้านี้กัน
  1. หลายคนคิดว่าโรคซึมเศร้าต้องร้องไห้เสียใจตลอดเวลา ซึ่งไม่จำเป็นต้องขนาดนั้นเลย แค่คุณรู้สึกเศร้า เบื่อ ก็อาจเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว
  2. คนเป็นโรคซึมเศร้ามักจะมีความคิดอยากตาย ซึ่งก็เหมือนกันเลยบางทีอาจไม่ต้องมีความคิดนี้ก็ได้
  3. โรคซึมเศร้ารักษาไม่หาย ต้องกินยาตลอดชีวิต อันนี้มักเจอบ่อยกับผู้ป่วยที่อาจมีความคิดในลักษณะแบบนี้
  4. โรคซึมเศร้า คือคนบ้า อันนี้เจอบ่อยไม่แพ้กัน หลายคนชอบเข้าใจแบบนี้ ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย
  5. โรคซึมเศร้า คือโรคที่คิดไปเอง ไม่มีจริง เกิดจากความอ่อนแอ”

# การรักษาภาวะซึมเศร้า…ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด
“โรคซึมเศร้า ก็คือโรคๆ หนึ่ง ที่เป็นแล้วก็รักษาหายได้ เหมือนโรคทางกายอื่น ๆ การเป็นโรคซึมเศร้า ไม่ได้แปลว่าเป็นบ้า เราควรรักตัวเองให้มากๆ ใครจะว่าบ้าก็ช่างเขาและการที่เรารักตัวเองไม่ได้แปลว่าเห็นแก่ตัว แต่การรักตัวเองที่มากพอจะสามารถส่งต่อความรักให้คนอื่นได้ ซึ่งหมออยากให้คนที่สงสัยว่าตนเอง หรือคนรอบข้างจะเป็น ได้เข้าปรึกษาจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อย่าปล่อยให้ความรู้สึกไม่ดีอยู่นานและไม่ต้องกลัวว่าไม่รู้จะเล่าอย่างไร จับต้นชนปลายไม่ถูก ขอแค่พาตัวเองไปพบแพทย์ แล้วหลังจากนั้นแพทย์จัดการต่อให้ สุดท้ายนี้เป็นกำลังใจให้ทุกคนนะคะ”

โรคนี้ไม่ใช่โรคที่แปลกประหลาดอย่างที่หลายคนเข้าใจ ภาวะซึมเศร้าสามารถรักษาให้หายขาดได้ ทั้งนี้เพื่อตัวเราเอง ครอบครัว เพื่อนๆ และอีกหลายคนที่อยู่ข้างเรา จงมีความสุขในแบบของตัวเราและเชื่อมั่นในตัวเองว่าเราก็แค่คนปกติธรรมดาคนนึงที่เหมือนกับคนทั่วไปในสังคม
-->