เปิดเหตุผลตามหลักจิตวิทยา ทำไมในวันที่หมดแรง ร่างกายถึงต้องการ 'หมูกระทะ/ชาบู'

เคยสงสัยมั้ยว่า ทำไม ‘หมูกระทะ หรือ ชาบู’ มักจะเป็นเมนูที่ถูกเรียกร้องอยู่บ่อยๆ เวลาที่เราต้องรับมือกับความเครียดมาทั้งวัน หรือเมื่อรู้สึกเหนื่อยล้าเหมือนพลังจะสูญสิ้น วันนี้เราเลยพามาทำความเข้าใจตามหลักจิตวิทยาว่าทำไมเราถึงรู้สึกว่า 2 เมนูนี้จะช่วยเยียวยาในวันที่อ่อนแรงได้



เพราะ…มีการเชื่อมโยงทางสังคม (Social Connection)
แน่นอนว่าการนั่งทานอาหารร่วมกันกับแก๊งค์เพื่อนหรือครอบครัว นอกจากจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นมากขึ้นแล้ว ยังช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมน ออกซิโทซิน (Oxytocin) ที่ช่วยสร้างความสุข ลดความเครียด และส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันได้ด้วย 

เพราะ…เป็นการกระตุ้นประสาทสัมผัส
ว่ากันว่ากลิ่นหอมของอาหารและเสียงซู่ซ่าจากการที่เนื้อสัมผัสกระทะปิ้งย่างนั้นจะช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสของเรา และเมื่อสมองรับรู้ถึงประสบการณ์นี้ ร่างกายก็จะตอบสนองด้วยการหลั่งสารแห่งความสุข อย่างโดปามีน (Dopamine) ช่วยให้ผ่อนคลายและรู้สึกพึงพอใจ เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของระบบรางวัลในสมอง

เพราะ…มีการเชื่อมโยงกับความทรงจำที่ดีๆ
ทุกครั้งที่เรากินหมูกระทะหรือชาบู มักจะเป็นโมเม้นท์ที่ดีและน่าจดจำ เป็นการเม้าท์มอย พบปะรวมตัวของแก๊งค์เพื่อนหรือกลายเป็นกิจกรรมครอบครัวในวันหยุด ทำให้เวลาที่เราได้กินจะรู้สึกปลอดภัย เหมือนอยู่ในเซฟโซน บางคนอาจเรียกว่าเป็น comfort food ที่สร้างความคุ้นเคย และคุ้นชิน เรียกว่าแค่นั่งหน้าเตาก็แฮปปี้ดี๊ด๊าเป็นที่สุด ช่วยให้ลืมเรื่องเครียดไปได้ดีที่เดียว

เพราะ…ช่วยลดความคิดฟุ้งซ่าน
เพราะในการที่เราต้องเตรียมหมูกระทะหรือชาบู ต้องใช้ความร่วมมือร่วมใจกันอย่างเต็มที่ เหมือนกับได้ฝึกสติ (Mindfulness) ทำให้เราจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำตรงหน้า ไม่ได้มีเวลาไปคิดฟุ้งซ่าน เป็นการฝึกสมาธิ ช่วยลดความวิตกกังวลได้ เหมือนที่บางครั้งเรามักจะได้ยินว่าการทำอะไรด้วยมือบ้างก็ช่วยเยียวยาจิตใจได้ดี

แต่อย่าลืมว่ากินหมูกระทะและชาบูกันจนแฮปปี้แล้ว ก็อย่าลืมไปออกกำลังกายกันด้วยนะ เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ

 
-->