เซอร์ไพรส์กันไป! เมื่อมีผลวิจัยบอกว่า “อาหารเช้า” อาจไม่ได้สำคัญขนาดนั้น
เชื่อเลยว่าทุกคนรู้กันมาตลอดว่าอาหารมื้อเช้าคือมื้อที่สำคัญที่สุด แล้วการที่ไม่กินอาหารเช้านั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพเรามากมายเต็มไปหมด เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ เบาหวาน โรคอ้วน แต่ก็ยังมีคนทำไม่ได้ ซึ่งล่าสุดมีผลวิจัยแบบ Observational Study ทางการแพทย์ที่ตีพิมพ์ลงใน The BMJ (British Medical Journal) ว่าเอาจริงๆ เเล้วการที่เราไม่ได้กินอาหารเช้านั้น อาจไม่ได้ส่งผลเสียต่อสุขภาพมากขนาดที่เราเคยรู้มาก็ได้
ผลสำรวจบอกว่ามีชาวอังกฤษ และอเมริกันเยอะมากที่ไม่กินอาหารเช้า
ประเด็นคือมีวิจัยทางการแพทย์ของมหาวิทยาลัยโมนาช ออสเตรเลีย ได้ทำการทดลองเกี่ยวกับภาวะโภชนาการแบบสุ่มในคนถึง 13 กลุ่ม หลากหลายอาชีพทั้งกับประชากรอเมริกัน และอังกฤษจำนวนกว่า 6 หมื่นคน ที่มีอายุระหว่าง 20 - 74 ปี ซึ่งกว่า 25% นั้นคือไม่ได้กินอาหารเช้า แต่พวกเขาก็ยังมีสุขภาพปกติ ไม่มีอาการเจ็บป่วยร้ายแรงใดๆ ก็เลยทำให้นักวิจัยทางการแพทย์รุ่นใหม่เริ่มตั้งข้อสงสัยกันว่า เอาจริงๆ แล้วการที่คนเราไม่กินอาหารเช้านั้นมีผลเสียต่อสุขภาพหรือเปล่า
ทิม สเปคเตอร์ ศาสตราจารย์ด้าน Genetic Epidemiology ที่ King Collage London บอกว่าความเชื่อเกี่ยวกับอาหารเช้าว่าเป็นมื้อที่สำคัญที่สุดของวันนั้นถูกฝังอยู่ในหัวของคนส่วนใหญ่มาตั้งแต่วัยเด็ก ซ้ำด้วยบรรดาโฆษณาต่างๆ ที่ประโคมกันรัวๆ ซึ่งเขาบอกว่าการค้นพบนี้ชี้ให้เห็นว่าเรื่องอาหารเช้านั้นอาจเป็นตำนานความเชื่อที่ถูกส่งต่อๆ กันมา
ซึ่งเรื่องนี้อาจเป็นเรื่องที่ค่อนข้างสวนกระแสทั้งหมดที่เราเคยรู้มา แต่ผลวิจัยที่ว่าเป็นแบบ Observational Study หรือวิจัยที่เกิดจากการเฝ้าสังเกต และบันทึกข้อมูลเท่านั้น ไม่ได้เป็นการวิจัยแบบ Experimental Study หรือการทดลองแบบเอาคนมาอดอาหารเช้า แล้วเอามาเปรียบเทียบกับคนที่กินอาหารเช้าอย่างสม่ำเสมอจริงจัง เลยทำให้นักวิชาการหลายคนบอกว่ายังไม่สามารถฟันธงได้ว่าการกินอาหารเช้าแล้วจะทำให้สุขภาพดี เพราะในความเป็นจริงยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่ส่งผลต่อสุขภาพ
มีผลวิจัยจากนักโภชนาการญี่ปุ่นออกมาบอกว่า ...
เมื่อปี 2014 ทีมวิจัยของสมาคมโภชนาการ และวิทยาการอาหารญี่ปุ่น ออกมาแสดงให้เห็นว่าการอดอาหารเช้า ไม่มีผลต่ออัตราการเผาผลาญพลังงานในแต่ละวันเลย แล้วผลการวิจัยฉบับเดียวกันยังบอกอีกว่า การอดอาหารเช้าอาจทำให้เราหิว และทำให้เรากินอาหารกลางวันมากขึ้นกว่าเดิม แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นการกินที่มากขึ้นไม่ถึง 30% แถมพลังงานแคลอรี่ที่เพิ่มขึ้นก็ไม่เท่ากับการกินสองมื้อ คือ มื้อเช้า + มื้อกลางวัน อีกด้วย
Photo Credit: J Passport
นอกจากนี้ยังมีผลการวิจัยอีกฉบับจากสหรัฐอเมริกาของสถาบัน Wellness แห่งหนึ่ง ทำการศึกษาแล้วพบว่าคนเราอยู่ในสภาวะอดอาหารได้นานกว่าที่คิด อย่างร่างกายของผู้ชายสามารถอดอาหารได้นานถึง 16 ชั่วโมง ผู้หญิงนาน 14 ชั่วโมง โดยไม่ส่งผลอะไรกับสุขภาพ นั่นหมายความว่าหากคุณเข้านอนตอน 22.00 น. และใช้เวลานอน 8 ชั่วโมง ก็จะตื่นเช้าเวลา 06.00 น. เราอาจจะไปเริ่มทานอาหารมื้อแรกเวลาเที่ยงได้สบายๆ โดยที่ร่างกายยังไม่ทันจะหิวเลยด้วยซ้ำ
สุดท้ายแล้วผลสรุปคือ ...
หลังจากที่อ่านกันมาถึงตรงนี้แล้วอาจจะมีหลายคนที่กำลังงงว่าสรุปแล้วการกินอาหารเช้านั้นสำคัญจริงๆ หรือเปล่า เอาเป็นว่าเราไม่ได้จะมาบอกให้ทุกคนเลิกกินอาหารเช้ากัน แต่ให้ทำตามที่สะดวกกันดีกว่า อย่างคนที่กินอาหารเช้าเป็นประจำอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นจะต้องมาอด ส่วนคนที่ไม่เคยกินมานานหลายปีก็จะได้ไม่ต้องนอยด์ว่าการที่เราไม่กินอาหารเช้านั้นจะส่งผลเสียต่อสุขภาพหรือเปล่า เพราะเอาจริงๆ ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่มื้ออาหาร แต่อยู่ที่คุณภาพของอาหารที่เรากินเข้าไปมากกว่า ต่อให้กินอาหารเช้าก็จริง แต่เป็นอาหารเช้าที่ไม่ได้คุณภาพอุดมไปด้วยแป้ง ไขมัน และน้ำตาล ก็น่าจะส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าการไม่กินอะไรเลย หรือกินกล้วยหนึ่งใบก็ยังอาจจะได้รับประโยชน์มากกว่าอีก