เช็คหน่อย! ตอนนี้กำลังเครียดจนมีภาวะสมองล้าอยู่รึเปล่า

ความเครียดถือเป็นอาการที่พบเจอได้บ่อย โดยเฉพาะในช่วงที่หลายๆ คนต้อง Work From Home อยู่บ้านนานๆ แบบนี้ยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะความเครียดอาจเป็นสัญญาณว่าสมองเริ่มมีอาการอ่อนล้า ทำให้หลงๆ ลืมๆ คิดช้าทำช้า และบางครั้งอาจรู้สึกห่อเหี่ยว จนรู้สึกไม่ Productive ได้



ใช้ชีวิตไม่ระวัง อาจทำ ‘สมองล้า’
ภาวะสมองล้า (Brain Fog) เป็นภาวะที่เกิดได้กับทุกคน ไม่ได้มีอันตรายร้ายแรงอะไร โดยทั่วไปเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นความเครียด ที่ส่งผลโดยตรงจากการที่สมองถูกใช้งานอย่างหนักจากการทำงาน การเรียน หรือแม้แต่ปัญหาทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวัน หรืออาจเป็นผลมาจากการใช้ชีวิตแบบ Unhealthy อย่างการนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ ชอบโต้รุ่งอดนอนเป็นประจำ ไม่ค่อยออกกำลังกาย หรือแม้แต่เรื่องธรรมดาๆ อย่างการดื่มน้ำน้อย ก็เป็นสาเหตุให้มีอาการสมองล้าได้เหมือนกัน นอกจากนี้สมองล้ายังเป็นอาการของโรคเรื้อรังบางโรค และโรคทางจิตเวชอย่างโรคซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวลด้วย ซึ่งในกรณีนี้ก็ต้องไปดูและแก้ที่ต้นเหตุนั้นๆ ไป

จะรู้ได้ยังไงว่าสมองกำลังล้า ?
อย่างที่บอกไปว่าภาวะสมองล้านั้นเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ไม่อันตราย และไม่ถือว่าเป็นโรค แต่ภาวะนี้จะส่งผลโดยตรงต่อชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะกลุ่มคนวัยเรียนหรือวัยทำงาน ที่อาจจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานโดยตรง เพราะอาการของภาวะสมองล้านั้นกระทบทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ โดยส่วนใหญ่จะรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยล้าทั้งกายทั้งใจ สมาธิสั้น ไม่สามารถจดจ่อกับอะไรได้นานๆ คิดช้าทำช้า และมักจะมีอารมณ์แปรปรวนด้วย

นอกจากการสังเกตตัวเองแล้ว การตรวจร่างกายโดยแพทย์ ก็สามารถบ่งชี้ภาวะสมองล้าได้ ซึ่งวิธีการก็มีค่อนข้างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการตรวจระดับสารพิษที่ตกค้างอยู่ในร่างกาย ถ้ามีปริมาณสูง ก็เป็นไปได้ว่าสมองอาจจะล้าจากปริมาณสารพิษที่มากเกินไปจนร่างกายเคลียออกไม่ทัน โดยสารพิษเหล่านี้ก็จะมาจากมลภาวะในอากาศที่เราเจอได้ทุกวัน นอกจากนี้ยังมีการตรวจฮอร์โมนไทรอยด์ ตรวจปริมาณวิตามิน ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจดูระดับเกลือแร่ และน้ำตาลในเลือด ซึ่งก็จะสามารถบอกได้เหมือนกันว่ากำลังมีภาวะสมองล้าอยู่หรือเปล่า

ปรับพฤติกรรม ปัจจัยสำคัญให้สมอง Healthy
การจะรักษาอาการสมองล้าให้หายขาด เราต้องรู้ก่อนว่าปัญหาสมองล้าที่เรากำลังเป็นอยู่นี้ มีสาเหตุมาจากอะไร ถ้าอาการสมองล้ามาจากโรคที่เป็น ก็ต้องแก้ไขโดยการรักษาโรคนั้นๆ แต่ถ้าเป็นภาวะสมองล้าที่มาจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เราก็จะสามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับพฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็นการนอนหลับให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8 - 9 ชั่วโมง รู้จักจัดการกับความเครียด ไม่ให้มีความเครียดสะสมที่มากจนเกินไป หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือลดปริมาณให้น้อยลง ที่สำคัญควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์โดยเน้นไปที่โปรตีนและไขมันดี ก็จะช่วยฟื้นฟูสมองจากความเหนื่อยล้าได้

สมองล้าเป็นภาวะที่สามารถหายเองได้จากการปรับพฤติกรรม ถ้าเกิดว่าช่วงนี้ใครกำลังรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า และมีปัญหาในด้านการจัดการกับอารมณ์และความคิด ต้องรีบหันมาดูแลสมองด่วนๆ เลย เพราะสมองที่ Healthy จะทำให้ชีวิต Happy ไปด้วย!
-->