เคลียปัญหาคาใจ วิ่งแล้ว...แต่ทำไมยัง (ไม่) ผอม



สายวิ่งทั้งหลายที่กำลังถอดใจว่าวิ่งแทบตาย แต่ทำไมน้ำหนักก็ไม่ยอมลงกับเขาซักที จริงๆ ช่วงแรกที่เริ่มวิ่งก็เหมือนจะผอมลงอยู่ แต่พอนานๆ ไป ทำไมเหมือนทุกอย่างดูคงที่ ไม่รู้สึกผอมลงอีกเลย รอบเอวที่เคยมีก็ยังคงอยู่ น้ำหนักก็เท่าเดิม ถ้าใครเป็นแบบนี้อยู่ อย่าเพิ่งถอดใจ เพราะมันอาจแก้ได้ที่พฤติกรรมเราเอง 



ส่วนใหญ่เราจะวิ่งเหมือนเดิมทุกวันๆ 
บอกเลย ณ จุดนี้ว่าร่างกายของเรานั้นฉลาดมาก มีการปรับตัว และเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ เลยเป็นเหตุผลที่ว่าอะไรที่ทำซ้ำๆ เดิมๆ จนร่างกายเดาทางได้แล้ว การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นก็จะลดน้อยลงเป็นธรรมดา แต่ทั้งหมดที่บอกมานั้น ไม่ได้จะมาบอกว่าการวิ่งไม่ดี หรือไม่ช่วยเผาผลาญไขมัน เพียงแต่มันไม่ได้ผลในระยะยาว ถ้ายังวิ่งเเบบเดิมๆ ทุกวัน มีผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยแทมปา ในประเทศสหรัฐอเมริกา  พบว่าการคาร์ดิโอคงที่เเบบเดิมๆ  เช่น การวิ่งบนลู่นานเป็นชั่วโมงด้วยความเหนื่อยระดับเดียวกันตลอด (ไม่เกิดความเหนื่อยขนาดที่แทบทนไม่ไหวเหมือนการวิ่งแบบสุดแรง) ช่วยลดน้ำหนักได้จริง แต่ก็แค่ช่วงเริ่มต้น แถมการเผาผลาญยังทำงานแค่ขณะวิ่ง เท่ากับว่าหากคุณวิ่งแทบตาย 30 นาที แล้วเบิร์นไปได้ 200 แคลอรี ในขณะที่หากคุณกินน้อยลง 200 แคลอรีต่อวัน (ประมาณโยเกิร์ต 1 ถ้วย) ก็ได้ผลไม่ต่างกัน

สายวิ่งส่วนใหญ่เน้นแต่ “เวลา” 
เวลาวิ่งส่วนใหญ่จะนึกถึงแต่ระยะเวลาที่วิ่ง โดยมีความคิดว่ายิ่งวิ่งได้นานเท่าไรก็จะเบิร์นได้มากขึ้น แล้วส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีใครคิดถึงระดับความเข้มข้นสักเท่าไร ขอเน้นวิ่งให้นาน หรือวิ่งให้ถึงระยะทางที่ต้้งเป้า โดยเลือกระดับความเหนื่อย หรือความเร็ว ที่คิดว่าสามารถไปได้ตลอดรอดฝั่ง ซึ่งเอาจริงๆ วิธีนี้ช่วยสร้างความอึดได้ดี แต่ไม่เวิร์คสำหรับการเผาผลาญไขมัน มีผลการวิจัยจากทีมวิจัยมหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ออนทาริโอ (University of Western Ontario) ในแคนาดา ได้เปรียบเทียบการออกกำลังกายที่สั้น แต่หนัก ด้วยการวิ่งสปรินต์ 30 วินาที จำนวน 4-6 รอบ กับการออกกำลังกายเรื่อยๆ ยาวๆ ด้วยการวิ่ง 30-60 นาที พบว่ากลุ่มแรกเผาผลาญไขมันได้มากกว่ากลุ่มหลังเท่าตัวในเวลาสั้นกว่าด้วยซ้ำไป 

บางคนก็ขยันวิ่งเยอะเกิ๊น
ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกมีสองด้านเสมอ การออกกำลังกายก็เหมือนกันที่มีทั้งด้านดี และด้านเสีย หากว่าคุณออกกำลังกายมากเกินไปจนกล้ามเนื้อสะสมความเครียด ส่งผลต่อระดับฮอร์โมนควบคุมความสามารถในการเผาผลาญไขมัน โดยเฉพาะคอร์ติซอล หรือฮอร์โมนแห่งความเครียด ที่ส่งผลต่อภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งมีงานศึกษาด้านฮอร์โมนที่พบว่า นักวิ่งทางไกล หรือมาราธอนที่สะสมคอร์ติซอลไว้เป็นระยะเวลานาน ทำให้ร่างกายฟื้นฟูช้า ทำลายกล้ามเนื้อ ส่งผลต่อการทำงานของภูมิคุ้มกัน และยิ่งถ้าคุณกินอาหารไม่ดีด้วยแล้วล่ะก็ ระบบเผาผลาญจะยิ่งทำงานต่ำลง การลดน้ำหนักแบบอย่างยั่งยืนก็เป็นไปอย่างลำบากขึ้นกว่าเดิม 
 
วิ่งแล้วจะกินอะไรก็ได้ 
มีบางคนเข้าใจว่าวิ่งแล้วจะกินอะไรก็ได้ เพราะคิดว่าการวิ่งเป็นกิจกรรมที่ใช้พลังงานต่อเนื่อง หลังวิ่งเสร็จก็มีสิทธิ์ที่จะกินคาร์บได้อย่างไม่รู้สึกผิด แต่ไม่ได้หมายความว่าจะกินได้ทุกอย่างที่ขวางหน้า ทั้งอาหารคลีน อาหารขยะ หรือขนมหวาน อีกอย่างการโหลดคาร์โบไฮเดรตของนักวิ่ง (carb-loading) เพื่อเอาไปใช้เป็นพลังงานขณะวิ่งระยะไกลมากๆ เช่น มาราธอน หรือฮาล์ฟมาราธอน ต้องกินในปริมาณที่เหมาะสม และระยะเวลาที่ใช่ ไม่อย่างนั้นถ้ากินเข้าไปมากเกินก็กลายเป็นไขมันสะสมได้เหมือนกัน 
 
เอาเป็นว่าสายวิ่งทั้งหลายที่วิ่งแล้วน้ำหนักไม่ลงสักทีคงจะเคลียร์กันแล้วนะทำไม สุดท้ายเราต้องเปลี่ยนมาคาร์ดิโอด้วยวิธีอื่นเพิ่ม หรือสลับเข้าไปบ้าง อย่าง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ หรือลดจำนวนวันวิ่ง แล้วเพิ่มเวทเทรนนิ่งเพื่อสร้างกล้ามเนื้อเข้าไปบ้างน่าจะดีกว่าเดิม ถ้าลองแล้วได้ผลยังไง ก็อย่าลืมมาแชร์กันด้วยล่ะ  


 
-->