เคลียชัดๆ กับเรื่อง 'ไส้ติ่ง' ชีวิตนี้ควรตัดทิ้ง หรือเก็บไว้กันแน่
หลายคนอาจคิดว่าไส้ติ่งเป็นอวัยวะที่ไร้ค่า แถมยังสร้างความเดือดร้อนให้เราได้อีกต่างหาก ใครที่คิดแบบนี้อาจจะต้องคิดใหม่ เพราะล่าสุดมีงานวิจัยที่สามารถหาคำตอบได้แล้วว่าไส้ติ่งมีหน้าที่อะไรในร่างกายของเรา!
ถ้าไส้ติ่งของคุณยังไม่ได้ถูกตัดทิ้ง เราขอแสดงความยินดีด้วย เพราะนอกจากจะไม่ต้องเจ็บตัวแล้ว ศาสตราจารย์ Bill Parker นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันจากมหาวิทยาลัย Duke ยังพบว่าไส้ติ่งที่แพทย์หลายคนเชื่อว่าไม่มีประโยชน์ กลับมีหน้าที่เป็นหลุมหลบภัย ปกป้องเชื้อจุลินทรีย์ในท้องของเรา ซึ่งจุลินทรีย์พวกนี้เป็นจุลินทรีย์ที่ดีต่อสุขภาพ ช่วยในการย่อยอาหาร นอกจากนี้ไส้ติ่งยังมีหน้าที่กระตุ้นระบบย่อยอาหารให้มีประสิทธิภาพที่ดีในยามที่โรคอหิวาห์หรือโรคบิดเล่นงานเราได้อีกด้วย
รู้มั้ย...ไส้ติ่ง หน้าตาเป็นยังไง?
ไส้ติ่งเป็นส่วนหนึ่งของลำไส้ใหญ่ที่ยื่นออกมาเป็นกระเปาะเล็กๆ ขนาดเท่านิ้วก้อย ในตำแหน่งที่ลำไส้เล็กบรรจับกับลำไส้ใหญ่ หรือบริเวณท้องน้อยด้านขวา ถึงแม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะเชื่อว่าไส้ติ่งนั้นเป็นอวัยวะที่มีประโยชน์ แต่หากเกิดการติดเชื้อหรือที่เราเรียกกันว่าไส้ติ่งอักเสบขึ้นมาล่ะก็ จำเป็นที่จะต้องตัดออก เพราะหากไม่ได้รับการรักษาทันเวลา มีโอกาสอันตรายถึงชีวิตได้เลย
ความสำคัญมาก-น้อย ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าประโยชน์ของไส้ติ่งจะลดน้อยลงในยุคสมัยใหม่ เพราะโอกาสเกิดโรคอหิวาห์หรือโรคบิดน้อยลงมาก แต่ไส้ติ่งยังคงมีประโยชน์กับประชากรที่อยู่ในประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งมีระบบสาธารณูปโภคที่ไม่สะอาดอยู่ เพราะจากรายงานพบว่าประเทศด้อยพัฒนา จะมีอัตราการเกิดโรคไส้ติ่งอักเสบน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอเมริกาที่มีระบบสาธารณูประโภคที่ดีแล้ว อาจเพราะวิทยาการสมัยใหม่ที่ทำให้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ตามสภาพแวดล้อมน้อยลง จนทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ทำงานเกินความจำเป็น และทำให้ร่างกายอ่อนไหวต่อความผิดปกติ
สถิติโรคไส้ติ่งอักเสบในไทย กับตัวเลขที่น่าตกใจ
รศ.นพ.วัชรพงศ์ พุทธิสวัสดิ์ ผู้แทนราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ออกมาเปิดเผยถึงสถิติการผ่าตัดผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบในโรงพยาบาลประจำจังหวัดที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งในแต่ละวันจะมีเคสผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบมากถึง 40 รายเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีสถิติจากองค์กรนานาชาติอย่าง Health Problems in The World ที่เปิดเผยว่าคนไทยเสียชีวิตจากไส้ติ่งอักเสบสูงเป็นอันดับที่ 5 จาก 198 ประเทศทั่วโลก
หากใครที่เริ่มมีอาการปวดท้อง จุกแน่น ปวดตำแหน่งรอบสะดือ หรือปวดแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะเราคงไม่อยากทรมานจนไส้ติ่งบวมและแตกอยู่ในท้องแน่ๆ
อ่านรายละเอียดงานวิจัยเพิ่มเติมได้ที่
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5011360/
https://blogs.scientificamerican.com/guest-blog/your-appendix-could-save-your-life/