เคยสงสัยมั้ย ทำไมเวลาเห็นหาวแล้วต้องหาวตามทุกที งานนี้วิทยาศาสตร์มีคำตอบ!

ในยามที่สมดุลของออกซิเจนในเลือดเราลดต่ำลงจนเรารู้สึกอ่อนเพลีย หรือง่วงนอนขึ้นมา การหาว (Yawn) ก็จะเป็นกลไกหนึ่งของร่างกายที่จะเข้ามาแก้ปัญหาตรงนี้ เพื่อดึงเอาออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย พร้อมกับขับคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปในเวลาเดียวกัน แต่เคยสงสัยไหมว่า ทำไมเวลาเราเห็นคนอื่นหาว แล้วเราต้องหาวตามด้วย ทั้งที่ตอนนั้นก็ไม่ได้รู้สึกเหน็ดเหนื่อยหรือง่วงเหงาหาวนอนอะไรเลยนะ




สิ่งนี้เรียกว่า Contagious Yawning

ลองเงยหน้าขึ้นไปมองใครสักคนที่กำลังหาวอยู่สิ รับประกันได้ว่าคุณจะมีความรู้สึกอยากหาวตามชนิดที่ว่าเกินจะต้านทานแน่นอน แปลกใช่มั้ยล่ะ ที่การหาวของคนๆ หนึ่ง ส่งผลกับคนอีกคนหนึ่งที่ไม่ได้มีอะไรเชื่อมถึงกันเลย วิทยาศาสตร์ก็พยายามที่จะหาคำตอบในเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน

ก่อนหน้านี้ก็มีข้อสันนิษฐานมากมายเกี่ยวกับอาการหาวตามกันนี้ จนกระทั่งในปี 2017 กลุ่มนักวิจัยจาก University of Nottingham ประเทศอังกฤษ นำโดย Prof. Stephen Jackson ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาจาก School of Psychology ได้เผยแพร่งานวิจัยเรื่อง 'A neural basis for contagious yawning'  ที่มีจุดประสงค์เพื่อหาต้นตอของอาการการหาวตามๆ กัน ว่ามันมีต้นเหตมาจากไหนกันแน่
 

A neural basis for contagious yawning

งานวิจัยนี้ใช้อาสาสมัครทั้งหมด 36 คนมาเป็นกลุ่มตัวอย่าง และทำการทดลองโดยการเปิดคลิปวีดีโอคนหาวให้กลุ่มตัวอย่างกลุ่มนี้ดู และใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Transcranial Magnetic Stimulation (TMS) ช่วยในการสังเกตการณ์สิ่งที่เกิดขึ้นในสมองระหว่างการหาว ซึ่งกลุ่มตัวอย่างจะได้หาวอย่างเต็มที่ในการทดลองครั้งแรก และจะต้องพยายามกลั้นหาวในการทดลองครั้งที่สอง โดยจะมีการยิงกระแสไฟฟ้าจาก TMS อยู่เรื่อยๆ เพื่อกระตุ้น Motor Cortex ซึ่งเป็นสมองส่วนที่นักวิจัยเชื่อว่าเป็นจุดควบคุมการหาวของคน

Prof. Stephen Jackson และทีมวิจัยพบว่ามันเป็นเรื่องยากมากๆ ที่เราจะ ‘กลั้นหาว’ หลังจากที่เราเห็นใครสักคนกำลังหาว แล้วยังพบว่า ยิ่งเราพยายามที่ห้ามตัวเองไม่ให้หาวมากเท่าไหร่ ร่างกายก็จะยิ่งมีความอยากหาวมากเท่านั้น นอกจากนี้ยังพบความเชื่อมโยงระหว่างการหาว กับระดับการทำงานของสมองในส่วน Motor Cortex ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ยิ่งมีการใช้สมองส่วนนี้มากเท่าไหร่ คนๆ นั้นก็มีแนวโน้มที่จะหาวมากขึ้นเท่านั้น หมายความว่าถ้านักวิจัยยิงกระแสไฟฟ้าจาก TMS เข้าไป ก็จะทำให้ความอยากหาวของคนๆ นั้นเพิ่มมากขึ้นไปอีก

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ สรุปง่ายๆ ได้ว่า การหาวตามๆ กันของเราเนี่ย มันเกิดจากปฏิกิริยาตอบสนองโดยอัตโนมัติของสมอง หรือที่เรียกว่า Echophenomenon ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของการหาวเท่านั้นนะที่มนุษย์มีพฤติกรรมตามๆ กัน บางครั้งท่าทางการนั่ง หรือการยืน สมองก็สั่งให้มีการเลียนแบบกันโดยที่ไม่รู้ตัวได้เหมือนกัน
 
-->