เคยสงสัยมั้ย? คนละเมอ...เขารู้สึกตัวหรือเปล่า
การละเมอนั้นโดยปกติแล้วจะต้องเป็นพฤติกรรมที่เกิดในช่วงนอนหลับ และเป็นการกระทำที่ไม่ได้ตั้งใจให้เกิด ซึ่งสามารถแสดงออกด้วยพฤติกรรมแปลกๆ ไม่ว่าจะเป็นการพูด หรือการขยับร่างกายไปมาแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย หรือบางคนอาจถึงขั้นกับลืมตาแล้วลุกขึ้นเดินไปมา รวมทั้งการเตะต่อยทำร้ายผู้อื่น พูดได้เลยว่าใครที่อยู่ด้วยแล้วเห็นท่าทางแบบนี้ ก็อดที่จะอนุมานไม่ได้ว่าคนที่ละเมอนั้นมีอาการผีเข้าวันนี้ Health Addict ได้ไปสัมภาษณ์นายแพทย์ชาญสิริ เสกสรรค์วิริยะ ผู้เชี่ยวชาญอนุสาขาเวชศาสตร์การนอนหลับ โรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี เพื่อนำข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์มาไขข้อสงสัยนี้ให้กระจ่าง
ก่อนจะพูดถึงการละเมอ...ต้องเข้าใจระยะต่างๆ ของการนอน
ตามหลักวิชาการแล้ว การนอนนั้นแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือหลับตื้น หลับลึก และหลับฝัน และอีกกลไกหนึ่งของร่างกายที่จะเกิดขึ้นช่วงขณะหลับคือ ระบบประสาทบางส่วนของสมองและกล้ามเนื้อ จะค่อยๆ ลดการทำงานลงเพื่อให้เข้าสู่โหมดพักผ่อน และข้อมูลที่น่าตื่นเต้นกว่านั้นคือ ในช่วงที่ร่างกายเข้าสู่ระยะการหลับฝัน กล้ามเนื้อต่างๆ เช่น แขนและขา จะค่อยๆ ลดการทำงานลงจนคล้ายเป็นอัมพาต นอกจากเหตุผลให้กล้ามเนื้อได้พักผ่อนแล้ว ยังเป็นกลไกที่ร่างกายสร้างขึ้นมา เพื่อป้องกันการเตะต่อยตามความฝัน หมายถึงว่าบางครั้งถ้าเราฝันว่ากำลังต่อสู้กับอะไรบางอย่าง ร่างกายเราจะถูกปกป้องการได้รับบาดเจ็บจากการเคลื่อนไหวที่เราไม่สามารถควบคุมได้นั่นเอง
ถ้าการละเมออยู่ในช่วงหลับ...ช่วงไหนที่เราสามารถละเมอได้
หลักๆ แล้ว การละเมอสามารถเกิดขึ้นได้ 2 ช่วงของการนอน คือการละเมอในระยะหลับลึก และระยะหลับฝัน ซึ่งปกติแล้วเราทุกคนสามารถละเมอได้ และในปัจจุบันยังไม่สามารถหาเหตุผลได้แน่ชัดว่าทำไมเราถึงต้องละเมอ แต่เท่าที่พอเก็บข้อมูล สาเหตุหนึ่งที่น่าจะส่งผลทำให้เราละเมอด้วยท่าทางต่างๆ นั้น คือการที่สมองเกิดการตื่นตัวบ่อยๆ ระหว่างการนอนหลับ ไม่ว่าจะเกิดจากการได้รับสารคาเฟอีนจากเครื่องดื่มชูกำลังหรือกาแฟ การนอนหลับที่ไม่เป็นเวลา หรือยาบางชนิดที่ส่งผลต่อระบบประสาทของสมอง และอีกเหตุผลหนึ่งคือการที่เราอดนอนมากๆ จากคืนก่อนหน้า ก็จะสามารถเป็นปัจจัยที่ทำให้เราละเมอได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ถ้าการละเมออยู่ในช่วงหลับลึก ส่วนใหญ่มักจะแสดงอาการละเมอที่ไม่ซับซ้อน และไม่มีจุดมุ่งหมายชัดเจน เช่น การละเมอพูดพึมพำ การเคลื่อนไหวอวัยวะต่างๆ ในร่างกายไปมา หรือบางคนอาจถึงกับขึ้นลุกขึ้นแล้วเดิน หรือแสดงท่าท่างแปลกๆ เป็นช่วงๆ อาการเหล่านี้มักพบได้บ่อยในเด็กและวัยรุ่น ลักษณะเหล่านี้ในทางการแพทย์ก็ยังถือว่าเป็นอาการปกติ ไม่น่าห่วงสักเท่าไหร่
การละเมอ...แบบไหนที่ถือว่าไม่ปกติ
ในเชิงการแพทย์ การละเมอที่น่าเป็นห่วงและต้องรับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญโดยด่วน คือการละเมอในช่วงการหลับฝัน อาการที่พบได้บ่อย คือ ขณะที่นอนหลับโดยเฉพาะในครึ่งหลังของคืน มีอาการละเมอเตะต่อย ต่อสู้ ซึ่งในทางการแพทย์เราเรียกว่า Dream enactment หรือ Acting out dream กล่าวคือการละเมอลักษณะนี้ สามารถเป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อผู้อื่นได้ หรือแม้ว่าบางครั้งไม่ได้ทำร้ายผู้อื่น แต่มีอาการละเมอจนเหวี่ยงอวัยวะไปมาหรือพลัดตกเตียงจนได้รับบาดเจ็บได้ อาการเหล่านี้ถือว่าเป็นสัญญาณหนึ่งของโรคสมองเสื่อม เช่น โรคพาร์กินสัน (Parkinson) หรือที่เราคนไทยรู้จักกันในชื่อของอาการสันนิบาตลูกนก ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่ไม่สามารถควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อบางส่วนได้ เนื่องจากเกิดการเสียหายบางส่วนของเซลล์สมองของก้านสมองส่วนกลาง (Midbrain) และเมื่อพูดถึงเรื่องการนอน ผู้ป่วยพาร์กินสันมักมีอาการหวีดร้อง ตะโกน รวมไปถึงการขยับแขนขาอย่างรุนแรงในขณะหลับ ดังนั้นใครที่มีหรือเห็นคนข้างกายมีอาการลักษณะนี้ สิ่งเดียวที่จะทำการวินิจฉัยได้คือการตรวจการนอนหลับ หรือ Sleep Test
ละเมอแบบลืมตา...คนที่ละเมอเค้ามองเห็นหรือจำอะไรได้หรือไม่
ในส่วนของข้อสงสัยนี้ ก็ขอตอบเลยว่าถึงแม้ว่าคนที่ละเมอจะลืมตา แต่ประสาทการรับรู้และการมองเห็นของคนคนนั้นจะยังไม่ทำงาน สมองยังอยู่ในระยะของการนอนหลับ พูดง่ายๆ คือคนที่ละเมอลักษณะนี้จะมองไม่เห็นอะไร และจะไม่สามารถจำอะไรได้เลย รวมไปถึงการละเมออื่นๆ เช่น การหลับตาพูด คนที่ละเมอเองเมื่อตื่นขึ้นมาก็จะไม่เหลือความทรงจำอะไรไว้เลย เว้นเสียแต่ว่าคนที่นอนข้างๆ จะแอบอัดคลิปไว้เพื่อแกล้งเท่านั้น คนที่ละเมอถึงจะเห็นอาการของตัวเอง
จะรู้ได้ยังไง...ใครแกล้งละเมอ
ถ้าพูดถึงในเรื่องของกฎหมาย ในต่างประเทศเคยมีอาชญากรรมที่เกิดขึ้น โดยผู้ก่อเหตุได้ใช้อาวุธปืนยิงคนในบ้านเสียชีวิตหลายคน โดยจำเลยให้ปากคำว่าไม่รู้ตัว และเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดในขณะที่ตนเองกำลังหลับอยู่ วิธีเดียวที่จะทำการพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ได้ก็คงหนีไม่พ้นการใช้การตรวจการนอนหลับ หรือ Sleep Test ซึ่งเมื่อได้รับการตรวจการนอนหลับแล้วมีผลวินิจฉัยยืนยันว่าเป็นอาการเตะต่อยและแสดงออกตามฝันจริง ต่อมาจำเลยจึงพ้นจากความผิด
เป็นยังไงบ้างสำหรับการไขข้อข้องใจเรื่องการนอนละเมอ หลังจากนี้ถ้าเห็นใครละเมอก็อย่าตกใจไปเพราะเค้าไม่ได้โดนผีเข้า แต่นั่นเป็นกลไกของร่างกายที่เกิดขึ้นได้ สำหรับใครที่ละเมอบ่อย บางทีก็ลองมานั่งนึกย้อนดูว่าระหว่างวันนั้นเราได้เพิ่มปัจจัยเรื่องการละเมอหรือเปล่า เช่น การรับยาบางตัว หรือสารบางชนิด แต่ที่ดีที่สุดเพื่อความสบายใจ และป้องกันการเกิดโรคอื่น การเข้าทดสอบการนอนก็ถือว่าเป็นการตรวจหาสาเหตุที่ราคาอาจจะเจ็บ แต่ผลที่ออกมาก็จะจบ