เคยรู้มั้ยว่า ออทิสติก VS ดาวน์ซินโดรม ... สองโรคนี้ต่างกันยังไง
ฟังเผินๆ หลายคนอาจจะคิดว่าเอ๊ะสองโรคนี้เป็นสิ่งเดียวกันหรือเปล่า และถ้าเราบอกว่าไม่ใช่ คุณสามารถแยกได้มั้ยระหว่าง ‘ออทิสติก’ และ ‘ดาวน์ซินโดรม’ ต่างกันยังไง วันนี้แหละที่คุณจะได้รู้และตอบใครๆ ได้เต็มปาก
ความหมายที่ต่างกันของ ‘ออทิสติก’ และ ‘ดาวน์ซินโดรม’
โรคออทิสติก คือความบกพร่องทางด้านพัฒนาการ ที่ส่งผลต่อการสื่อสารและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น โรคนี้จะมีลักษณะเฉพาะด้านความบกพร่องในการเข้าสังคม มีปัญหาด้านการสื่อสาร และมีพฤติกรรมบางอย่างที่ค่อนข้างเฉพาะตัว เป็นคนที่ชอบทำอะไรซ้ำๆ แต่เนื่องจากตัวโรคนั้นอาจมีอาการได้หลากหลาย ทำให้การแสดงออกของผู้ป่วยแต่ละคนนั้นต่างกัน และถ้าถามว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้สามารถใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้มั้ย ต้องบอกว่าบางกลุ่มก็สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองได้ แต่บางกลุ่มก็ไม่สามารถอยู่ด้วยตัวเองได้ เนื่องจากอาจมีการบกพร่องด้านการเรียนรู้ร่วมด้วย คนกลุ่มนี้จึงจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
ส่วน โรคดาวน์ซินโดรม คือความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดมาตั้งแต่เกิด โดยเด็กจะมีความพิการที่เด่นชัดทางด้านสติปัญญา ร่วมกับมีความพิการทางร่างกาย เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ภาวะต่อมไทรอยด์บกพร่อง จุดสังเกตง่ายๆ ก็คือคนที่เป็นโรคนี้มักจะมีโครงสร้างของใบหน้าและรูปร่างที่เฉพาะ คือ จะมีศีรษะที่ค่อนข้างเล็ก แบน และมีตาที่เฉียงขึ้น ปากเล็ก และมักมีลิ้นยื่นออกมา ตัวค่อนข้างเตี้ย มือสั้น ขาสั้น รวมไปถึงลักษณะตัวที่ค่อนข้างนิ่ม หรือออกไปทางอ่อนปวกเปียก มีพัฒนาการล้าช้า ทั้งการนั่ง การเดิน หรือการพูด ซึ่งในทารกเกิดใหม่ 800 คน จะพบเด็กที่มีความผิดปกติในลักษณะนี้ 1 คน และในประเทศไทยนั้นมีทารกที่เป็นโรคดาวน์ซินโดรมเกิดขึ้นในแต่ละปีประมาณ 1,000 คนต่อปี หรือประมาณ 3 คนต่อวัน และกว่า 75% เกิดจากคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี
มาดู ‘สาเหตุ’ กันบ้าง
สาเหตุของการเกิดโรคออทิสติกนั้น มีการรายงานว่าเกิดจากการรวมตัวกันของตัวแปร ทั้งพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ที่น่าจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการพัฒนาของสมอง ซึ่งไม่ได้เกิดจากการเลี้ยงดูหรือสภาพแวดล้อมทางสังคม ส่วนสาเหตุของดาวน์ซินโดรมนั้นมาจากการที่คนๆ นั้นมีโครโมโซมเกินมาหนึ่งแท่ง คือโครโมโซมคู่ที่ 21 มี 3 แท่ง แทนที่จะเป็น 2 แท่ง ทำให้จำนวนโครโมโซมทั้งหมดมี 47 แท่ง ซึ่งจากการศึกษาพบว่าเกิดจากการแบ่งตัวของโครโมโซมในเซลล์ไข่ของแม่ช่วงที่มีการปฎิสนธิมีความผิดปกตินั่นเอง นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนมาก ถึงมีการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม
Photo: BCC Group
แนวทาง ‘การรักษา’ ล่ะ
บอกก่อนว่าทั้งโรคออทิสติกและดาวน์ซินโดรมนั้นต่างก็เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็จะมีแนวทางในการดูแลที่ค่อนข้างจะคล้ายคลึงกัน สำหรับแนวทางการรักษาสำหรับคนที่เป็นออทิสติกนั้น จะมุ่งเน้นไปที่การบำบัดและยับยั้งพฤติกรรมต่างๆ รวมถึงกระตุ้นให้เกิดพัฒนาการที่สำคัญๆ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถพึ่งพาตัวเองในการใช้ชีวิตให้ได้มากที่สุด แต่ในบางเคสแพทย์ก็อาจมีการสั่งยาเพื่อรักษาอาการบางอย่าง เช่น ซึมเศร้า ย้ำคิดย้ำทำ หรือแม้แต่ยาระงับอาการทางจิตซึ่งจะถูกใช้รักษาปัญหาพฤติกรรมที่รุนแรง ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นแม้ว่าโรคนี้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็อาจมีอาการดีขึ้นได้เมื่อเข้ารับการรักษาและมีอายุมากขึ้น และต้องบอกว่าก็มีหลายคนที่ประสบความสำเร็จและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ซัพพอร์ตผู้ป่วยได้ดี
ส่วนในกรณีของดาวน์ซินโดรมนั้น ก็มีวิธีบำบัดและซัพพอร์ตที่หลากหลายเช่นกัน เพื่อช่วยผู้ป่วยแก้ไขสิ่งที่เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิต เช่น ฝึกทักษะด้านการสื่อสาร ทักษะการรับรู้ ทักษะการช่วยเหลือตัวเอง การใช้กล้ามเนื้อ ทักษะทางด้านภาษา หรือการพัฒนาสติปัญญา ซึ่งโดยทั่วไปแล้วคนที่เป็นดาวน์ซินโดรมนั้นมักจะมีพัฒนาการที่ช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกันค่อนข้างมาก ดังนั้นการเลือกโรงเรียนเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างทักษะให้กับพวกเขาได้ดีนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญมากในการดูแลผู้ป่วยทั้งสองโรคนี้ คือการให้ความรัก ความอบอุ่น และการเอาใจใส่ เพราะพวกเขาจะสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุขหรือไม่ ครอบครัวและคนรอบข้างคือส่วนสำคัญที่จะช่วยประคับประคองพวกเขาให้ก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและมีความสุข