อากาศร้อนจัด! ต้องระวัง Heat stroke
ไม่ไหวแล้ววววว! กับอากาศประเทศไทยที่ร้อนสุดๆ ในตอนนี้ เรียกว่าแค่แง้มประตูออกไปข้างนอกก็รู้สึกได้ถึงรังสีความร้อนระอุที่พุ่งเข้ามาแบบไม่ทันตั้งตัว จะเดินออกไปซื้อข้าวกลางวันช่วงพักเที่ยงนี่ไม่อยากจะคิด หรือถ้าใครที่ต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงนี้ ยิ่งต้องระวังไว้ เพราะอาจเกิด Heat stroke หรือโรคลมแดดที่ร้ายแรงถึงชีวิตได้เลยHeat Stroke โรคนี้น่ากลัวกว่าที่คิด(มาก)
รู้มั๊ยว่าในปี 2561 กรมควบคุมโรคได้ออกมาเปิดเผยว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคลมแดดสูงถึง 18 คน และจะยิ่งพีคขึ้นในช่วงเดือนเม.ย. - พ.ค. ของทุกปี นี่ล่าสุดเมื่ออาทิตย์ที่แล้วเรายังเพิ่งอ่านเจอข่าวว่ามีคนเสียชีวิตจากโรคนี้ที่จังหวัดอุดรฯ เป็นผู้ชายวัย 40 นอนตะแคงเสียชีวิตอยู่ในครัวที่บ้านของเขาเอง และมันก็น่าเศร้าตรงที่ว่ากว่าเพื่อนบ้านจะมาเจอ เขาก็ได้เสียชีวิตไปแล้ว เห็นมั๊ยว่าโรคนี้ไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวเลย ยิ่งอากาศที่ร้อนขึ้นทุกวันๆ แบบนี้ ยิ่งต้องระวังกันให้ดี
Heat stroke หรือโรคลมแดด เกิดจากการความล้มเหลวในการรักษาอุณหภูมิร่างกายให้คงที่ โดยปกติร่างกายของคนเราจะมีการรักษาความสมดุลของอุณหภูมิระหว่างความร้อนในร่างกายและอุณหภูมิภายนอกให้คงที่ คืออยู่ที่ประมาณ 36-37.5 องศาเซลเซียส ซึ่งกลไกสำคัญที่ช่วยรักษาสมดุลนี้ก็คือการระบายเหงื่อนั่นเอง และเมื่อไหร่ที่ร่างกายไม่สามารถรักษาอุณหภูมิให้คงที่ได้ ก็จะทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงกว่าปกติจนทำให้เกิดอาการรุนแรงอื่นๆ ตามมาได้
จุกสังเกตอาการของ Heat stroke
เมื่อร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไปจนไม่สามารถรักษาอุณหภูมิในร่างกายให้คงที่ ก็จะเริ่มมีอาการต่างๆ เช่น
- ตัวร้อน อุณหภูมิสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส
- อ่อนเพลีย
- ปวดหัว เวียนหัว หน้ามืด
- คลื่นไส้ อาเจียน
- เหงื่อออกมากจนไม่มีเหงื่อ
เมื่อเจอคนเป็นลมแดด นี่คือสิ่งที่ต้องรีบทำ !
อย่างที่บอกว่าโรคนี้เป็นเรื่องใกล้ตัว เพราะฉะนั้นเราจึงควรรู้วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพราะเกิดวันดีคืนดีเพื่อนข้างๆ หรือคนในบ้านวูบลงไป จะได้ช่วยเหลือกันทัน ซึ่งสิ่งสำคัญคือเราต้องให้การช่วยเหลือให้เร็วที่สุด โดยพุ่งไปที่การลดอุณหภูมิในร่างกายของผู้ป่วย เช่น รีบพาเข้าที่ร่ม นอนราบกับพื้น ยกเท้าสูงเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ปลดคลายเสื้อผ้าให้หลวม ใช้น้ำแข็งประคบตามร่างกาย หรือพรมน้ำแล้วใช้พัดเป่าให้น้ำระเหย เพื่อเป็นการลดอุณหภูมิของร่างกายให้เร็วที่สุด และรีบนำส่งโรงพยาบาล คือยิ่งผู้ป่วยได้รับความช่วยเหลือเร็วเท่าไหร่ ยิ่งช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตได้มากขึ้น
แค่รู้จักเลี่ยง ก็ไม่ต้องเสี่ยงเป็นโรคลมแดด
โรคลมแดดไม่ได้เกิดขึ้นทันทีที่เราสัมผัสกับอากาศร้อน แต่เกิดจากการอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนจัดเป็นเวลานานหรือออกกำลังกายในสภาพอากาศร้อน ฉะนั้นเราควรหลีกเลี่ยงการออกไปทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้งในช่วงกลางวันแสกๆ รวมถึงการดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ ใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เพียงเท่านี้ก็สามารถป้องกันโรคลมแดดได้เช่นกัน