อย่าเพิ่งชะล่าใจ! เพราะ ‘ผู้ชาย’ ก็เป็น PMS ได้เหมือนกัน


หนุ่มๆ คนไหนที่เคยโดนแรงเหวี่ยง หรือต้องรับมือกับอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมา 1 นาที 4 อารมณ์ของคุณผู้หญิงข้างกาย ที่มักหงายการ์ดว่า ‘กำลังอยู่ในช่วง PMS’ แล้วล่ะก็ อาจมีเฮถ้าได้รู้ว่าโอกาสในการเอาคืนมาถึงแล้ว เพราะ ‘ผู้ชาย’ ก็เป็น PMS ได้เหมือนกัน



ทำความรู้จักกับ PMS
PMS หรือ Premenstrual Syndrome คือกลุ่มอาการก่อนเป็นประจำเดือน ที่พบได้มากถึง 80% ของผู้หญิงที่มีประจำเดือน ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะสามารถรับมือและจัดการกับอาการเหล่านั้นได้ แต่ก็อาจมีบ้างในบางราย หรือประมาณ 2% ที่มีอาการ PMS รุนแรงจนถึงขั้นอาจส่งผลกระทบและกลายเป็นปัญหาทางจิต หรือ PMDD (Premenstrual Dysphoric Disorder) ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้หญิงเท่านั้นที่จะมีอาการ PMS แต่จากข้อมูลของ ดร.อับราฮัม มอร์เจนเทเลอร์ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับระบบปัสสาวะ ประจำโรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ทำให้เข้าใจถึงอาการ PMS ในผู้ชายมากขึ้นว่า ปกติแล้วผู้ชายจะมีรอบวงของการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนอยู่ที่ระยะเวลา 24 ชม. ซึ่งจะต่างจากผู้หญิงที่เป็นรอบเดือน เราจึงเรียกว่าประจำเดือน 

อาการแบบนี้ ที่บอกว่าคุณเป็น PMS
โดยสำหรับผู้ชายในช่วงเช้าจะมีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนสูงสุด และจะต่ำลงในช่วงเวลากลางคืน และอาการประจำเดือนของหนุ่มๆ ส่วนใหญ่จะเกิดกับคนกลุ่มวัยรุ่น แต่จะไม่แสดงออกให้คนรอบข้างได้รับรู้มากนัก ยิ่งถ้าเป็นคนที่มีสุขภาพดีด้วยแล้ว การผันผวนของฮอร์โมนก็ยิ่งไม่ค่อยแสดงออกให้เห็น ตรงกันข้ามกับหนุ่มๆ บางคนที่ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนต่ำมากๆ ก็อาจแสดงออกถึงพฤติกรรมบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ เช่น มีปัญหาด้านการนอน น้ำหนักขึ้น และมีแนวโน้มเป็นโรคเบาหวาน นอกจากนี้ ดร.มอร์เจนเทเลอร์ ยังได้บอกด้วยว่า ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนมีผลเกี่ยวข้องกับปริมาณแสงแดดที่ได้รับ ยิ่งรับแสงแดดมากเท่าไหร่ก็จะได้รับทั้งวิตามิน ดี และฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนมากขึ้นตามเท่านั้น

ต้นตอของอาการ
โดยข้อมูลนี้เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับที่ศาสตราจารย์ Peter Schlegel, จาก Urology at New York-Presbyterian และ Weill Cornell Medicine ที่ได้บอกไว้ว่าผู้หญิงจะมีช่วงเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ชัดเจน ซึ่งจะเกิดในช่วง “ประจำเดือน” ต่างจากผู้ชายที่จะเกิดขึ้นเป็นช่วงๆ เช่น ผู้ชายตอนหนุ่มๆ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนราวๆ 4 ช่วงต่อวัน โดยมีหลายปัจจัยที่ทำให้ฮอร์โมนในเพศชายเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ไม่ว่าจะเป็น อายุ ซึ่งระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนของผู้ชายจะค่อยๆ ลดลงในช่วงอายุต้น 30 ปัญหาความเครียด น้ำหนักที่เปลี่ยนไปจากการควบคุม อาการป่วยของโรคเกี่ยวกับการกิน เช่น การไม่อยากอาหาร และการนอนหลับไม่เพียงพอ แต่จะมีช่วงเวลาหนึ่งที่เกิดขึ้นเเน่ๆ “ประจำวัน” นั่นคือทุกเช้าที่ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนจะพลุ่งพล่านกว่าช่วงเวลาอื่นๆ และหลังจากนั้นเเต่ละคนจะมีระดับฮอร์โมนขึ้นๆ ลงๆ ในช่วงเวลาที่ต่างกัน เเต่ส่วนใหญ่มักจะลดลงในช่วงบ่ายๆ ถึงค่ำ

หยุดอาการ PMS ในคุณผู้ชาย
และเมื่ออยู่ในสภาวะที่ควบคุมไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ฮอร์โมนอยู่ในระดับสูงมากหรือต่ำมาก หนุ่มๆ เหล่านั้นก็จะมีอารมณ์ซึมเศร้า หงุดหงิด เหนื่อย ทำตัวไม่ถูก ไม่ต่างจากอาการ PMS สักเท่าไหร่ เพียงแต่ผู้ชายอาจได้เปรียบกว่าตรงที่สามารถควบคุมความคิดให้สงบได้ ตรงกันข้ามกับผู้หญิงที่ควบคุมได้ยาก จนทำให้ต้องปลดปล่อยออกมา ซึ่งคุณหนุ่มๆ สามารถจัดการกับอาการ PMS ที่กวนใจอยู่นี้ได้ด้วยการออกกำลังกาย รวมถึงการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เลิกสูบบุหรี่ เลิกดื่มแอลกอฮอล์ หรือสามารถขอคำปรึกษาจากเเพทย์ได้ถ้ารู้สึกว่าระดับฮอร์โมนลดลงจนรู้สึกแปลกไป 

เพราะฉะนั้นจะว่าไปแล้วก็ถือว่าหนุ่มๆ อย่างเรายังโชคดีกว่าสาวๆ ทั้งหลาย เอาเป็นว่าคงต้องยอมให้สาวๆ เค้าใช้อาการ PMS นี้เป็นไม้ตายกันต่อไป
-->