หูฟัง กับเสียงที่อยากให้ได้ยิน
ทุกวันนี้เราได้ยินได้ฟังสิ่งต่างๆ มากมายตลอดวัน แต่มีเสียง (เรื่อง) หนึ่งที่เราอาจละเลยไป ก็คือเสียงที่บอกให้เราถนอมหู ถึงขนาดที่มี “วันการได้ยินโลก” หรือ “World Hearing Day” คือวันที่ 3 มีนาคม ของทุกปี
ล่าสุดปี 2561 มีคนทั่วโลกราว 360 ล้านคน และคนไทยถึง 2.7 ล้านคนที่มีปัญหาการได้ยิน ซึ่งไม่ใช่ผู้สูงวัยเท่านั้น แต่ยังมีวัยรุ่นวัยทำงานที่มีปัญหานี้ วิเคราะห์ว่า... ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากพฤติกรรมการใช้หูฟังที่ดังและนานเกินไป
ความนิยมในการใช้หูฟังนั้นเพิ่มมากขึ้นจากการใช้สมาร์ทโฟนที่สามารถดูหนังฟังเพลงที่ไหนก็ได้ หากอยู่ในที่ส่วนตัว การใช้หูฟังในระดับเสียงปกติ คือไม่เกิน 80 เดซิเบล ก็เพียงพอกับการได้ยินชัด แต่เมื่อต้องอยู่ในที่สาธารณะที่มีเสียงอื่นๆ รบกวน เราก็มักเผลอเปิดเสียงดังเกิน 85 เดซิเบล ขึ้นไป นั่นทำให้มีปัญหา
การฟังเสียงดังเกิน 85 เดซิเบล ติดต่อกันเป็นเวลานานนี่เอง ส่งผลให้เซลล์ประสาทรับสัญญาณในหูเสื่อมเร็วกว่าปกติ อาจจะถึงขั้นสูญเสียการได้ยินทีละน้อย จนกระทั้งหูตึงหรือหูหนวกในที่สุด โดยเฉพาะการใช้หูฟังประเภท in-ear หรือแบบที่มีจุกเข้าไปอุดในรูหู
มีหลายสัญญาณที่ฟ้องว่าคุณกำลังเริ่มมีปัญหาการได้ยิน เช่น มักได้ยินเสียงวิ้งๆ ในหู เสียงซ่าๆ คล้ายเสียงสัญญาณทีวี เสียงเหมือนน้ำไหล เสียงเหมือนจิ้งหรีด หรือรู้สึกว่าการได้ยินแย่ลงกว่าเดิม รู้สึกหูอื้อจนมีปัญหาในการพูดคุย บางครั้งอาจมีอาการมึนงงหรือทรงตัวไม่ได้ในขณะตื่นนอนใหม่ๆ หากมีอาการที่ว่านี้ติดต่อกันหลายวัน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง
นอกจากปัญหาการได้ยินที่เกิดกับหูแล้ว การใช้หูฟังยังอาจกระตุ้นให้เกิดความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นไม่ปกติ การละเลยที่จะทำความสะอาดและการใช้หูฟังร่วมกับผู้อื่นก็ยังเป็นการแพร่เชื้อโรค หรือแม้แต่การเปิดเสียงดังเกินไปก็ทำให้เสียงเล็ดลอดออกมาสร้างความรำคาญให้กับคนที่อยู่ใกล้ได้อีกด้วย
ดังนั้น เรามาปรับการใช้หูฟังไม่ให้ดังเกิน 80 เดซิเบล หรือไม่เกิน 3 ใน 4 ของระดับเสียงสูงสุดของหูฟัง และควรพักเมื่อฟังต่อเนื่องเกิน 2 ชั่วโมงแล้วดีกว่า