หนุ่มสาวอย่าได้เบาใจเพราะโรค ALS อาจมาเซย์ไฮ


ไม่น่าเชื่อว่าคนช่วงอายุ 20-30 ปีสามารถเสี่ยงเป็นโรคต่างๆ ได้มากมายก่อนวัย และหนึ่งในนั้นก็คือการป่วยเป็นโรค ALS ที่มีชื่อทางการแพทย์เต็มๆ ว่า “Amyotrophic Lateral Sclerosis” ในภาษาไทยจะแปลว่า “โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง” 

…ถึงแม้ชื่อจะมีคำว่า “กล้ามเนื้อ” ก็ใช่ว่าโรคนี้จะเกิดมาจากกล้ามเนื้อมีปัญหาเพราะความจริงส่วนที่มีปัญหาคือ “การเสื่อมของเซลล์ประสาทที่อยู่ตรงสมองกับไขสันหลัง” โดยพวกมันจะค่อยๆ เสื่อมและตายไปในที่สุด… 

ข้อมูลชี้! ผู้ป่วยโรค ALS ส่วนใหญ่เป็น “เพศชาย”


สถิติการเก็บข้อมูลจากการศึกษาประชากรในสหรัฐพบว่า ในทุกปีจะมีคนป่วยเป็นโรคนี้เฉลี่ยประมาณ 15 คนต่อวัน 60 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่เป็นเพศชายและมักพบในคนผิวขาว (caucasian)  ทั้งนี้ข้อมูลเพิ่มเติมจากโรงพยาบาล HSS (Hospital for special surgery) บอกว่า…ปกติแล้วโรคนี้ต้องเกิดในช่วงอายุ 40 -70 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันดันมีผู้ป่วยอายุน้อยช่วงอายุเพียง 20- 30 ปีเท่านั้น แต่ก็เป็นเคสที่พบเจอได้ไม่บ่อยนัก ซึ่งงานวิจัยจากวารสารด้านประสาทวิทยา "ฺBRIAN" พบเคสที่เกิดกับผู้ป่วยอายุไม่ถึง 25 ปี โดยพบว่าสาเหตุหลักๆ มาจากพันธุกรรม หรือครอบครัวมีสมาชิกในตระกูลที่เคยป่วยด้วยโรคนี้มาก่อน 

ถึงยังไงก็ประมาทไม่ได้ เพราะสาเหตุหลัก “ยังไม่ชัดเจน” 


เนื่องจากนักวิจัยจากหลายสถาบันไม่สามารถจับตัวการหรือต้นตอที่ชัดเจนของโรคนี้ว่ามาจากอะไรกันแน่ แต่ก็พอมีข้อสังเกตได้ว่าพันธุกรรมที่ผิดปกติ (Genetics) โครงสร้างเซลล์ที่มีปัญหา (Cytoskeletal protein defects) และปัจจัยแวดล้อมภายนอก เช่น พฤติกรรมอย่างการสูบบุหรี่ ก็มีส่วนให้เป็นโรคนี้ได้

สังเกตยังไงดี…ถึงรู้ว่าป่วยเป็น “โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง” ?


เมื่อรู้ตัวไว โอกาสเสี่ยงอันตรายก็จะลดลงตามไปด้วย แพทย์หญิง ฤดีรัตน์  วัฒนวงศ์ แพทย์ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลพญาไท 3 บอกว่า “อาการของโรคนี้จะมาในลักษณะของการยกแขนไม่ขึ้น ข้อมือหรือข้อเท้าตก เดินสะดุดล้มบ่อย รู้สึกได้ว่ากล้ามเนื้อบางส่วนกระตุกและมักเกิดที่แขน-ขาข้างใดข้างหนึ่งก่อนจะลุกลามไปทั้งตัว” ซึ่งภายหลัง อาการเหล่านี้ก็จะไปกระทบกับการกลืนอาหาร ผู้ป่วยจะสำลักบ่อย ลิ้นแข็ง สุดท้ายเรื่องการพูด รวมถึงระบบการหายใจก็จะมีปัญหาไปด้วยในที่สุด

รู้จักวิธีป้องกัน และการรักษาโรค ALS


เนื่องจากต้นตอสาเหตุไม่ชัดเจน สิ่งที่อยากเน้นย้ำหลักๆ เพื่อเป็นการป้องกันโรคนี้ก็คือการเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง อย่างการสูบบุหรี่ นอกจากนี้ก็คือการพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย เลี่ยงความเครียด ส่วนการรักษาคุณหมอบอกว่าจะรักษาแบบประคับประคองไปตามอาการด้วยยาชื่อ riluzole  ซึ่งเป็นยาช่วยชะลอการดำเนินการของโรค ป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ  ทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด 

เอาเป็นว่า ถึงแม้โรคนี้จะยังไม่มีการยืนยันถึงสาเหตุ รวมถึงการรักษาก็ทำได้เพียงแค่ประคับประคองไปตามอาการ แต่ก็อย่าลืมว่า ผู้ป่วยยังสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชียวชาญ เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งวิตกและกังวลเกินไป หากสงสัยถึงอาการต่างๆ ว่าเป็นหรือเปล่า เราแนะนำให้เข้าพบคุณหมอ เพื่อความชัวร์จะดีที่สุด

 
-->