หนาวสั่น (อาจ) ไม่ใช่พิษไข้
“ซ่าแต่แบบสั่นๆ ก็ยังไม่ค่อยมั่นใจ” เพลงดังยุค 90 ต้องมา ก็ในเมื่อตอนนี้ทั้งที่อากาศร้อนแบบฟีลไลก์ทะเลทราย จนอูฐแทบจะเดินตัดหน้า แต่ไหงยังมีอาการ (หนาว) สั่น หรือจะเกี่ยวอะไรกับที่ คาร์ล เรนโฮลด์ ออกัสต์ วุนเดอร์ลิช แพทย์ชาวเยอรมันบอกไว้ว่าจริงๆ สิ่งที่เชื่อกันมาตลอดว่าอุณหภูมิในร่างกายเราคือ 37 องศาเซลเซียสนั้นอาจไม่ใช่ เพราะมีการศึกษาพบว่าอุณหภูมิร่างกายของมนุษย์ในปัจจุบันลดต่ำลงเมื่อเทียบกับมนุษย์ในอดีต ฉะนั้นถ้าอาการหนาวสั่นไม่ได้เกิดจากพิษไข้ แล้วจะเป็นจากอะไรได้อีก !!!“หนาวสั่น” อาการมันเป็นแบบนี้
อาการหนาวสั่น คือการตอบสนองของกล้ามเนื้อในร่างกายที่หดและคลายตัว เพื่อเพิ่มอุณหภูมิในร่างกายให้สูงและอบอุ่นขึ้น หรืออาจเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันที่ทำหน้าที่ปกป้องร่างกายจากการติดเชื้อไวรัสและเชื้อโรคอื่นๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักสังเกตได้จากอาการตัวสั่น ปากสั่นจนฟันกระทบ ขนลุก และอาจมาพร้อมกับมีไข้ แต่ก็มีบางสาเหตุเช่นกันที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่มีอาการไข้ร่วมด้วยอย่างภาวะต่างๆ เหล่านี้
#เชื้อโรคตัวการ...ความหนาวสั่น
ไม่ว่าจะเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อโรคอื่นๆ ก็อาจทำให้เกิดอาการหนาวสั่นได้ เพราะเป็นการตอบสนองของร่างกาย เพื่อกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันเข้าทำลายเชื้อไวรัสก่อโรคต่างๆ ได้รวดเร็วและดียิ่งขึ้น ซึ่งอาการหนาวสั่นจากการติดเชื้อมักพบบ่อยในผู้ที่เป็นโรคปอดอักเสบติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และโรคมาลาเรีย โดยนอกจากอาการหนาวสั่นแล้ว ยังอาจทำให้มีไข้ คัดจมูก ไอ เจ็บคอ ปากเป็นแผล หายใจถี่ คอแข็ง ปวดท้อง ท้องเสีย เจ็บปวดหรือแสบเมื่อปัสสาวะ มีจุดแดงบนผิวหนังและเจ็บปวดร่วมด้วยเช่นกัน
#หนาวสั่น เพราะการติดเชื้อจากนิ่วในไต
เมื่อแร่ธาตุและเกลือแร่จับตัวกันเป็นก้อนแข็งภายในไตจนกลายเป็นนิ่ว ซึ่งอาจเกิดจากการกินอาหารที่มีโปรตีนสูง บวกกับมีพฤติกรรมดื่มน้ำน้อย ซึ่งหากว่านิ่วในไตมีขนาดใหญ่ขึ้นจนขัดขวางระบบทางเดินปัสสาวะก็อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อ และทำให้มีอาการหนาวสั่นตามมา ร่วมกับอาการอื่นๆ ได้แก่ ปวดหลัง ท้อง หรือขาหนีบ เจ็บปวดเมื่อปัสสาวะ ไม่สามารถอั้นได้นาน ปัสสาวะมีสีแดง ชมพู หรือน้ำตาล และมีกลิ่นฉุน
#น้ำตาลในเลือดต่ำ ก็ทำให้หนาวสั่นได้
ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่ต้องกินยารักษาโรคเบาหวานซึ่งส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด จนทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ในขณะที่ร่างกายยังจำเป็นต้องใช้กลูโคสเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกาย ดังนั้นเมื่อร่างกายเปลี่ยนกลูโคสเป็นพลังงานได้น้อยลง อุณหภูมิในร่างกายจึงอาจต่ำลงตามไปด้วยและส่งผลให้เกิดอาการหนาวสั่นทั้งที่ไม่มีไข้ และมาพร้อมกับร่างกายอ่อนแรง ง่วงบ่อย เหงื่อออกมาก คลื่นไส้อาเจียน หิวง่าย และเกิดความวิตกกังวล
#ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย พลอยทำให้หนาวสั่น
เพราะโดยปกติแล้วต่อมไทรอยด์จะมีหน้าที่สร้างฮอร์โมนเพื่อทำให้ร่างกายอบอุ่นและช่วยให้การทำงานของอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายเป็นไปอย่างปกติ แต่หากว่าเมื่อไหร่ที่เกิดภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำ ก็อาจส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไม่เพียงพอ จนกระทบต่อระดับอุณหภูมิภายในร่างกาย ทำให้ต่ำลง รวมถึงการทำงานของอวัยวะต่างๆ ก็ทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร และเป็นสาเหตุของอาการหนาวสั่นได้ ตามมาด้วยความเหนื่อยล้า ท้องผูก ผิวแห้ง และซึมเศร้าได้เช่นกัน
หนาวสั่นแบบนี้ (ท่า) ไม่ดีแล้ว
ไม่ว่าอาการหนาวสั่นจะเกิดจากสาเหตุใด แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่มาพร้อมกับอาการเหล่านี้ คงจะไม่ดีแน่ถ้าปล่อยไว้
- หายใจลำบาก หรือหายใจมีเสียง
- เจ็บหน้าอกโดยไม่มีสาเหตุ หรือปวดท้องรุนแรง
- เหนื่อยล้ามากผิดปกติ
- ระดับอุณหภูมิร่างกายผิดปกติ คือ สูงกว่า 38 องศาเซลเซียสในเด็กอ่อนที่อายุน้อยกว่า 3 เดือน ส่วนในเด็กอายุ 3 เดือน ถึง 3 ปี ไม่ควรสูงกว่า 39 องศาเซลเซียส และสำหรับเด็กหรือผู้ใหญ่โดยทั่วไปแล้วอุณหภูมิร่างกายควรอยู่ในระหว่าง 35 – 40 องศาเซลเซียส
แต่ถ้าปรึกษาคุณหมอแล้วไม่เข้าข่ายอาการที่ว่ามา งั้นก็คงเป็น “สั่นสู้” มากกว่า คงไม่น่าจะต้องกังวลอะไร