ส่องเบื้องหลัง! จิตวิทยาของการเปิดเพลงในร้านอาหาร
เคยสังเกตกันมั้ยว่าเดี๋ยวนี้เวลาเดินเข้าร้านอาหารแทบทุกร้าน ไม่ว่าจะร้านเล็กร้านใหญ่ ก็มักจะมีเพลงเปิดคลอกันทั้งนั้น แต่รู้มั้ยว่าเขาไม่ใช่แค่เปิดไปเฉยๆ ตามเพลย์ลิสต์ที่เจ้าของร้านชอบไปยังงั้นหรอกนะ เพราะเรื่องนี้มันมีเบื้องลึกเบื้องหลังอยู่…ถ้าอยากรู้ว่าคืออะไร มาดูกัน!เมื่อเพลงถูกเปิดอย่างมีวัตถุประสงค์
นีลล์ เบอร์ตัน นักจิตวิทยา นักปรัชญา และนักเขียนแห่งมหาวิทยาลัย Oxford ได้เคยพูดไว้ว่า ความจริงแล้วการเปิดเพลงในร้านอาหารมักจะมีเป้าหมายหลักๆ อยู่ 2-3 อย่างด้วยกัน คือหนึ่งเพื่อเพิ่มอรรถรสในการทานอาหาร และสร้างบรรยากาศ สองเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสั่งอาหารหรือส่งเสริมเมนูต่างๆ และสามเพื่อให้ลูกค้าใช้เวลาอยู่ในร้านน้อยที่สุด เรียกว่าทานไว ลุกไว ซึ่งอาจจะเหมาะกับร้าน Fast Food ที่ไม่ต้องการให้คนนั่งแช่นานๆ นั่นเอง
จังหวะเพลง vs พฤติกรรมผู้บริโภค
อยากที่บอกว่าเขามีการศึกษามาแล้วว่าจังหวะของเพลงนั้นมีผลกระทบต่อความเร็วในการทานอาหารและการใช้เวลาของลูกค้าในร้านอาหารนั้นๆ เช่น หากเปิดเพลงที่มีจังหวะเร็วจะช่วยกระตุ้นให้ลูกค้าทานอาหารเร็วขึ้น ทำให้มีการหมุนเวียนโต๊ะได้เร็วขึ้น ในขณะเดียวกันหากเลือกที่จะเปิดเพลงช้าก็มีแนวโน้มที่ลูกค้าจะใช้เวลาอยู่ในร้านนานขึ้น แต่ก็อาจกระตุ้นให้มีการสั่งอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มเติมได้เหมือนกัน
สร้างบรรยากาศ และความรู้สึกเชิงบวก
การเลือกเพลงให้สอดคล้องไปกับธีมของร้านก็เป็นสิ่งสำคัญ เช่น ถ้าอยากสร้างบรรยากาศร้านให้ดูสนุกสนาน ให้เลือกเปิดเพลงป๊อบ ถ้าอยากได้ความหรูหราให้เปิดเป็นเพลงคลาสสิค นอกจากนี้โทนเสียงของดนตรียังสงผลต่อการรับรู้รสชาติและประสบการณ์การทานอาหารของลูกค้าได้ด้วย ซึ่งมีงานวิจัยของ Crossmodal Research Laboratory ของมหาวิทยาลัย Oxford พบความเชื่อมโยงระหว่างโทนเสียงกับรสชาติที่สามารถช่วยสร้างประสบการณ์การทานอาหารให้ดีขึ้นได้ เช่น เสียงสูงกับรสหวาน ลูกค้าที่ฟังเพลงที่มีเสียงเครื่องดนตรีสูง อย่าง เปียโน หรือฟลูต ในขณะที่ทานของหวานจะรับรู้ถึงรสชาติความหวานที่ลึกซึ้งขึ้น ขณะเดียวกัน หากลูกค้าฟังเพลงที่มีเสียงโน้ตต่ำหรือเสียงทุ้ม เช่น เสียงเบส หรือกลองหนักๆ ที่มักจะเชื่อมกับรสขม ก็จะทำให้รู้สึกว่าอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีรสขมสนั้นมีความเข้มข้นมากขึ้น
และนี่ก็เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วน ที่เรายกมาพูดคุยกันเท่านั้น คราวหน้าที่ไปทานอาหารก็ลองสังเกตกันดูว่าเป็นอย่างที่เราพูดไว้จริงหรือเปล่า หรือถ้าใครมีไอเดียหรืออยากแชร์ประสบการณ์ก็อย่าลืมมาแชร์กันนะ