ลดน้ำหนักแบบผิดๆ ระวัง “สุขภาพพัง” ไม่รู้ตัว
ถ้าให้พูดถึงเรื่องลดน้ำหนักกันขึ้นมาปุ๊ป เชื่อว่าจะต้องมีหลายคนยกมือแล้วบอกว่ากำลังลดอยู่ หรือเพื่อนบางคนเจอทีไรก็จะบอกว่าลดน้ำหนักอยู่ทุกที แต่ทำไมไม่เห็นผอมลงเลย หรือบางคนลดน้ำหนักแทบตาย แต่กลับอ้วนขึ้น อย่างนี้แสดงว่าอาจกำลังลดน้ำหนักแบบผิดๆ อยู่ ลองมาดูว่าทำอะไรผิดหรือเปล่า จะได้รีบปรับพฤติกรรมกันด่วนๆ
Myth #1 การลดน้ำหนัก คือการอดอาหารเท่านั้น !!
มีหลายคนมากที่พอคิดจะลดน้ำหนักปุ๊ป สิ่งเดียวที่คิดจะทำคือ การอดอาหาร ไม่กินมื้อเย็นบ้าง หรือลดอาหารแบบหักดิบจากที่เกินอยู่ทุกวันไปเลย เอาจริงๆ มันเป็นวิธีที่ผิดอย่างร้ายแรง เพราะการที่เราอดอาหารโดยที่ไม่ได้มีการแพลน หรือจำกัดแคลลอรี่มากจนเกินไปโดยเฉพาะโปรตีน จะทำให้ร่างกายสะสมแคลอรี่มากกว่าที่เผาผลาญออกไป เลยทำให้ร่างกายต้องมาสลายกล้ามเนื้อเพื่อมาใช้เป็นพลังงานแทน พอเมื่อกล้ามเนื้อลดลง ก็ทำให้การเผาผลาญลดลงตาม แล้วยังไม่พอแค่นั้น ยังทำให้ระบบการเผาผลาญในร่างกายรวนกันไปหมด
- Better do this! ค่อยๆ ลดแคลลอรี่จากเดิมที่เคยกินให้น้อยลงแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัว ไม่ใช่ลดฮวบโดยที่ไม่ทันให้ร่างกายได้ปรับตัวเลย ซึ่งหลักการส่วนใหญ่คือ จะให้ลดแคลลอรี่ลงจากปกติวันละ 500 กิโลแคลอรี่ ซึ่งถ้าเราทำเป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์เราจะสามารถลดน้ำหนักได้ครึ่งกิโล แล้วต้องอย่าลืมว่าจะต้องกินอาหารให้ได้อย่างน้อยวันละ 1,600-1,800 กิโลแคลอรี เพื่อไม่ให้ระบบเผาผลาญหยุดทำงาน และระหว่างที่ลดน้ำหนักไม่ควรงดบริโภคโปรตีน เพื่อป้องกันการดึงโปรตีนจากกล้ามเนื้อมาใช้
Myth #2 กินแต่อาหารที่เป็นไขมันต่ำ
บางคนมีความเชื่อว่าการกินอาหารที่เป็นไขมันต่ำ หรือไม่มีแคลอรี่นั้น คือวิธีการลดความอ้วนที่ถูกต้อง แต่ในความเป็นจริงนั้นอาหารที่บอกว่าไขมันต่ำ หรือไม่มีไขมัน ไม่ได้หมายความว่าไม่มีแคลอรี่ เพราะการที่เรากินอาหารที่มีไขมันต่ำ หรือไม่มีไขมันเลย อาจช่วยลดแคลอรี่ได้มากกว่ากินอาหารปกติก็จริง แต่บางครั้งอาหารไขมันต่ำบางส่วนอาจมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายต่ำกว่าอาหารปกติชนิดเดียวกัน แถมยังอาจจะต้องมีการดัดแปลงเพิ่มแป้ง เกลือ หรือน้ำตาลลงไปเพื่อเพิ่มรสชาติให้อร่อยขึ้นหลังจากเอาไขมันออกไป เลยทำให้การกินอาหารไขมันต่ำแล้วจะช่วยลดน้ำหนักได้อาจจะไม่ใช่วิธีที่ถูกเสมอไป
- Better do this! เพราะฉะนั้นแล้วสิ่งที่ถูกต้องที่สุดคือ การอ่านฉลากโภชนาการ เราควรให้ความสำคัญกับรายละเอียด หรือส่วนประกอบของอาหารไม่ว่าจะเป็นปริมาณโปรตีน เกลือแร่ และสารปรุงแต่งอื่นๆ ไม่ใช่สนใจแค่ปริมาณแคลลอรี่รวม หรือปริมาณไขมันอย่างเดียว
Myth #3 ออกกำลังกายอย่างเดียวก็ลดน้ำหนักได้แล้ว
การออกกำลังกายคือหนึ่งในวิธีที่ช่วยให้เราลดน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง แต่ถ้าการที่เราออกกำลังกายอย่างเดียวโดยที่ไม่คุมอาหารเลย ไม่ช่วยให้เราผอมลงได้นะ ซึ่งเขามีงานวิจัยที่ทำในทหารซึ่งพวกเขาออกกำลังกายอย่างเดียว และสม่ำเสมอเป็นเวลา 3 ปี ผลที่ได้คือ บางคนอ้วนขึ้น บางคนน้ำหนักคงที่ เพราะพวกเขาไม่ได้คุมอาหาร หรือจำกัดอาหารร่วมด้วย ซึ่งในบางครั้งพวกเขาก็กินมากกว่าที่ร่างกายเผาผลาญออกไป
- Better do this! การออกกำลังกายควบคู่ไปกับการควบคุมปริมาณอาหารแต่ละมื้อ ยังคงเป็นวิธีลดน้ำหนักที่เวิร์คสุด และเเนะนำว่าถ้าไม่อยากให้แพลนลดน้ำหนักแตกกระเจิงล่ะก็ ควรกินอาหารนอกบ้านให้น้อยลง เพราะมีรายงานจากมหาวิทยาลัยทัฟส์ สหรัฐอเมริกาบอกว่า อาหารที่กินในร้านอาหารสำหรับคน 1 คนในมื้อเดียวนั้น มีปริมาณมากพอที่จะกินได้ทั้งครอบครัวเลยทีเดียวล่ะ
Myth #4 พอน้ำหนักเริ่มลงก็เริ่มปล่อยตัว
มีหลายคนมากที่พอลดน้ำหนักได้ในช่วงแรก แล้วก็เริ่มชะล่าใจ หยุดคุมอาหาร และกลับไปกินตามใจที่อยากกินเหมือนเดิม แถมหยุดออกกำลังกายด้วย เลยทำให้น้ำหนักที่อุตส่าห์ลดไป กลับคืนมาอย่างรวดเร็ว เผลอๆ อาจได้เด้งกลับมามากกว่าเดิมด้วยซ้ำ
- Better do this! พยายามทำอย่างต่อเนื่อง อย่าเพิ่งหยุด หรือกลับไปทำพฤติกรรมแบบเดิม ซึ่งน้ำหนักอาจจะคงที่ หรืออาจจะไม่ลดลงก็ตาม แต่อย่างน้อยที่สุดควรป้องกันไม่ให้น้ำหนักที่ลดไปเพิ่มขึ้นมาภายใน 6 เดือนก่อน แล้วหลังจากนั้นจะแพลนว่าจะเริ่มกลับมาลดน้ำหนักอีกครั้ง หรือยังไงก็ค่อยว่ากันอีกที
Myth #5 ออกกำลังกายหนักๆ ทุกวันจะยิ่งผอมเร็ว
การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเป็นตัวช่วยในการลดน้ำหนักได้เวิร์คที่สุดก็จริง แค่บางครั้งการที่เราอัดตารางกายออกกำลังกายแบบหักโหมเพราะคาดหวังว่าจะช่วยให้ลดน้ำหนักได้เร็วขึ้นนั้นไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง แล้วอาจจะทำได้แค่ช่วงแรกเท่านั้น แต่หลังจากนั้นได้ไม่นานก็จะยอมแพ้ภายใน 2 อาทิตย์ เพราะนอกจากจะเป็นการฝืนร่างกายตัวเองเกินไปแล้ว ยังอาจทำให้ร่างกายบาดเจ็บจากการออกกำลังกายที่มากไปด้วย
- Better do this! ออกกำลังกายอาทิตย์ละ 2-3 วัน เว้นวันให้กล้ามเนื้อบางส่วนได้ฟื้นฟูบ้างอะไรบ้าง เพื่อให้เราได้ออกกำลังกายในวันถัดไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมไปถึงยังไม่ทำให้เป็นการกดดัน และเครียดจนล้มเลิกความตั้งใจไปในเวลาอันรวดเร็ว
Myth #6 ไม่สนใจเรื่องการนอน เพราะไม่ได้คิดว่าเกี่ยวข้องอะไร
หลายคนที่ลดน้ำหนักอาจไม่เคยคิดว่าการนอนดึก จะเกี่ยวข้องกับการลดน้ำหนักได้ยังไง ซึ่งถ้าให้ไปถามผู้เชี่ยวชาญทุกคนร้อยทั้งร้อยต้องบอกว่า การนอนหลับเนี่ยแหละเกี่ยวข้องกับการลดน้ำหนักอย่างรุนแรงเลย แล้วยิ่งถ้าในช่วงที่จริงจังด้วยแล้วล่ะก็การนอนไม่เพียงพอจะทำให้ระดับฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) ที่เป็นฮอร์โมนกระตุ้นความหิวถูกผลิตออกมามากขึ้น แต่ในทางกลับกันการผลิตฮอร์โมนเลปติน (Leptin) ต่ำลงซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมความหิว และระดับไขมันในร่างกาย พอเมื่อระดับฮอร์โมนทั้งสองตัวนี้สวนทางกัน แพลนลดน้ำหนักที่ตั้งเป้าไว้ก็มีสิทธิ์พังได้อย่างง่ายดายเลยล่ะ
- Better do this! ปกติการนอนหลับให้เพียงพอ 7-8 ชม. นั้นเป็นสิ่งปกติที่ควรทำกันอยู่แล้วถึงต่อให้ไม่ลดน้ำหนักก็ตาม แต่แนะว่าในช่วงที่ลดน้ำหนักนั้นการเข้านอนแต่หัวค่ำก็จะยิ่งดี หรือการนอนให้ได้ 7-9 ชม. เพราะช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อที่เราออกกำลังกายมาให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น แถมระดับฮอร์โมนในร่างกายก็ไม่แปรปรวนอีกด้วย