รู้มั้ย? ทำไมชอบสะดุ้งตื่นกลางดึกในเวลาเดิมๆ

ข่มตาหลับตั้งแต่สามทุ่ม กะว่าจะได้ตื่นมาแบบเฟรชๆ แต่ก็ดันสะดุ้งตื่น มองนาฬิกาที่ไร ก็ชอบเป็นเวลาตี 3 ทุกที จนอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมชอบตื่นเวลานี้ทุกครั้ง?



เจ้าอาการสะดุ้งตื่นกลางดึก หรือที่เรียกกันว่า “Nocturnal awakening” จริงๆ คืออาการที่เกิดขึ้นเป็นปกติ “ย้ำว่าปกติ” เพราะในวงจรการนอนของเราจะกินเวลาแค่ 90 - 110 นาที/รอบ โดยแบ่งวงจรการนอนออกเป็นช่วงหลับธรรมดา (Non-REM sleep) และช่วงหลับฝัน (REM sleep) ซึ่งในช่วงแรกที่เราหลับ สมองของเราจะดิ่งเข้าสู่สภาวะหลับลึกอย่างรวดเร็วประมาณ 1 - 2 รอบการนอน พอเข้าสู่รอบที่ 3 ก็จะไม่ค่อยหลับลึก แต่จะเข้าสู่ระยะหลับตื้น สลับกับหลับฝันซะมากกว่า (ดูในรูปประกอบ) ซึ่งในช่วงเวลาเหล่านี้ก็จะอยู่ประมาณตี 1 ถึงตี 3 นี่จึงเป็นสาเหตุที่เรามักสะดุ้งตื่นตอนตี 3 โดยคนปกติแล้วจะสะดุ้งตื่นแล้วหลับต่อได้เลยง่ายๆ แต่ถ้าใครมีอาการสะดุ้งตื่นเวลานี้ซ้ำๆ แล้วหลับต่อไม่ค่อยได้แล้ว อันนี้แหละที่อาจจะต้องมาดูสาเหตุกันให้ลึกหน่อย

Cr.https://bit.ly/3tO3cXH

อย่างไรก็ตาม การสะดุ้งตื่นนั้นก็อาจจะไม่ได้มาจากวงจรการนอนอย่างเดียว เพราะอาจมาจากสาเหตุอื่นๆ ได้เหมือนกัน ซึ่งแต่ละคนอาจมีสาเหตุที่แตกต่างกัน และจากการที่เราได้พูดคุยเก็บข้อมูลนั้น พอจะยกตัวอย่างได้อย่างคร่าวๆ  ได้ประมาณนี้ มาลองดูกันว่าสาเหตุไหนที่ตรงกับของคุณบ้าง

1. สภาพแวดล้อมการนอนไม่มีคุณภาพ
สภาพแวดล้อมการนอนเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพการนอนในแต่ละคืน การนอนในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดังรบกวน เสียงรถ เสียงคนข้างห้องคุยกันดังๆ หรือมีแสงไฟในห้องสว่างเกินไป ซึ่งประมาณ 50 - 60% ของการนอนจะอยู่ในช่วงหลับตื่น ทำให้แม้มีอะไรมารบกวนเพียงนิดเดียวก็ปลุกให้ตื่นได้

2. ปวดฉี่กลางดึก
ใครติดนิสัยชอบกินน้ำก่อนนอนก็มีโอกาสลุกขึ้นมาฉี่อยู่บ่อยๆ แต่ก็ใช่ว่ากินน้ำเยอะแล้วต้องลุกขึ้นมาฉี่เสมอไป เพราะการปวดฉี่นั้นอาจมาจากสาเหตุอื่นได้เหมือนกัน เช่น อาการของโรคเบาหวาน ระบบปัสสาวะทำงานผิดปกติ หรือคนท้องก็มักจะลุกมาเข้าห้องน้ำบ่อยในช่วงก่อนคลอด

3. มีความเครียดหรือกังวลมาก
ช่วงไหนที่ชีวิตเราเครียดมากๆ ร่างกายจะถูกกระตุ้นโดยคอร์ติซอลให้ทำงานอยู่ตลอด เลยมักสะดุ้งตื่นกลางดึกได้ ซึ่งความเครียดก็จะทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันเพิ่มขึ้น ทำให้ข่มตาหลับได้ยากขึ้นไปอีก

4. อายุเยอะขึ้น
ยิ่งอายุเยอะ โครงสร้างการนอนก็จะยิ่งผันผวนไปเรื่อยๆ ในผู้สูงวัยมักมีวงจรการนอนอยู่ในช่วงหลับตื่นมากกว่าช่วงหลับลึก ส่งผลกระทบให้ผู้สูงอายุสะดุ้งตื่นบ่อยขึ้นในกลางดึก ถึงหลับต่อก็หลับไม่สนิท ทำให้ส่วนมากตื่นมามักจะรู้สึกเพลีย ไม่สดชื่น

5. เป็นโรคเกี่ยวกับการนอน
เช่น โรคนอนไม่หลับ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ภาวะนอนไม่เป็นเวลา หรือภาวะฝันร้ายจนสะดุ้งตื่น ส่งผลให้คุณภาพและช่วงเวลาการนอนแย่ลง

แต่อย่างที่บอกไปข้างต้น ภาวะสะดุ้งตื่นขึ้นกลางดึกเป็นอาการที่เกิดได้ทุกคนและจะผล็อยหลับไปเอง แต่ถ้ายังตื่นในช่วงตี 3 - 4 แบบนี้อยู่ทุกคืน ติดต่อกัน 2 - 3 เดือน เราแนะนำให้รีบไปหาหมอเพื่อขอคำปรึกษา ก่อนที่จะกลายเป็นปัญหาการนอนเรื้อรัง ไม่มีพลังในการใช้ชีวิต
-->