รู้จักโรคฉี่หนู พร้อมวิธีป้องกันฉบับคนเมือง
เริ่มเข้าหน้าฝนแบบนี้ สิ่งหนึ่งที่ต้องคอยระวังให้ดีเลย คือโรคที่มากับฝน โดยเฉพาะ ‘โรคฉี่หนู’ ที่ถือเป็นโรคอันตราย และมักจะระบาดหนักๆ ในช่วงที่ฝนตก โดยเชื้อมักจะอยู่น้ำที่ท่วมขังรอการระบาย ซึ่งทำให้ในกรุงเทพฯ ช่วงที่มีฝนตกหนัก เราก็มีโอกาสเจอกับเชื้อนี้ได้มากขึ้น แล้วจะเกิดอะไรขึ้น? ถ้าเราไม่รู้จักการป้องกันตัวที่ถูกต้อง ฉะนั้นวันนี้เราไปทำความรู้จักโรคนี้กันดีกว่า
โรคฉี่หนูมายังไง ติดต่อทางไหน?
โรคฉี่หนู (Leptospirosis) เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เกิดจากเชื้อในกลุ่ม Leptospira มีสัตว์ฟันแทะอย่างหนู เป็นพาหะนำโรค โดยเชื้อจะถูกเก็บอยู่ที่ไตของหนู และปนเปื้อนออกมากับฉี่ และสามารถเข้าสู่ร่างกายคนได้จากการที่เราสัมผัสกับน้ำหรือดินที่ปนเปื้อนเชื้อ เชื้อกลุ่มนี้สามารถเข้าทางบาดแผล เยื่อบุตา ปาก จมูก หรือแม้แต่การกินน้ำที่ปนเปื้นเชื้อโรคเข้าไป นอกจากนี้ เรายังสามารถติดโรคจากการโดนสัตว์ที่มีเชื้อกัด ซึ่งไม่ใช่แค่หนูเท่านั้น แต่สัตว์อย่างสุนัขก็เป็นพาหะได้ด้วยนะ
อาการแบบไหน ควรรีบหาหมอ
อาการของโรคฉี่หนูนั้น มีตั้งแต่อาการเบาๆ ไปจนถึงอาการหนักและสามารถเสียชีวิตได้ แต่โดยส่วนใหญ่กว่า 90% อาการจะไม่รุนแรง โดยอาการในระยะแรก (Leptospiremic Phase) จะเริ่มจากการมีไข้สูง ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน สับสน และปวดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อน่อง นอกจากนี้ ยังอาจมีภาวะเยื่อบุตาบวมแดง ต่อมน้ำเหลืองโต ดีซ่าน ซึ่งบางรายอาจมีตับ และม้ามโตได้ด้วย
สำหรับในระยะที่สอง (Immune Phrase) ร่างกายจะเริ่มมีปฏิกริยาต่อเชื้อ และสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา ซึ่งอาการจะมีความรุนแรงน้อยกว่าในระยะแรก โดยมักจะมีไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ และคลื่นไส้อาเจียน ในบางรายอาจพบภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ม่านตาอักเสบ และพบตับและไตทำงานผิดปกติด้วย
ถ้ามีอาการคลับคล้ายคลับคลาว่าน่าจะเป็นโรคฉี่หนู ก็ควรจะรีบไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาให้เร็วที่สุด เพราะถือว่าเป็นโรคที่มีโอกาสทำให้เสียชีวิตได้ แม้อัตราเสียชีวิตจะต่ำเพียง 10 - 15% ก็ตาม โรคฉี่หนูสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งชนิดของยาก็จะแตกต่างกันไปตามความรุนแรงของอาการ โดยผู้ป่วยควรได้รับยาโดยเร็วที่สุด หรือภายใน 4 วัน หลังเริ่มมีอาการป่วย ก็จะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพและลดความรุนแรงของโรค
ดูแลตัวเองฉบับคนเมือง ให้ห่างไกลโรคฉี่หนู
ด้วยไลฟ์สไตล์ของคนในเมือง ที่ไม่ได้ทำงานอยู่ในภาคการเกษตร หรืองานที่คลุกคลีกับท่อระบายน้ำ ก็ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไม่มาก สิ่งที่ต้องระวังที่สุด คือ การเดินลุยน้ำท่วมขัง อย่างที่เรามักจะเห็นภาพคนเดินลุยน้ำไปเรียน หรือไปทำงานกัน ในช่วงที่ฝนตกหนักจนมีน้ำท่วม เพราะเชื้อพวกนี้มักจะปนเปื้อนอยู่ในน้ำ และถ้าเท้าเรามีแผล เชื้อก็จะสามารถเข้าสู่ร่างกายได้
การป้องกันที่ง่ายที่สุดก็คือ! การไม่เดินลุยน้ำท่วมขังนั่นเอง แต่ถ้าจำเป็นก็ควรสวมอุปกรณ์ป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นรองเท้าบูทกันน้ำ กางเกง และถุงมือกันน้ำ เพื่อช่วยเซฟไม่ให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายเมื่อต้องสัมผัสกับน้ำสกปรก นอกจากนี้ยังควรรักษาสุขอนามัยบริเวณบ้าน ไม่ปล่อยให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของหนู รวมทั้งดูแลเรื่องอาหารการกินให้สะอาดปลอดภัย ก็จะลดโอกาสติดเชื้อโรคฉี่หนูลงไปได้