รู้จักกับ “ศิลปะเซรามิก” มนตร์เสน่ห์แห่งศาสตร์ศิลป์ กับช่างปั้นเจนฯ ใหม่



“ศิลปะเซรามิกเปรียบเสมือนตัวแทนความคิดสร้างสรรค์ ความสุข และความทุกข์ของคนบนโลกนี้ได้” อินสปายเรชั่นนี้เกิดขึ้นหลังจากที่เราได้พูดคุยกับช่างปั้นและนักออกแบบเซรามิกที่มากความสามารถ อย่าง เอิร์ธ-ปพิชชา ธนสมบูรณ์ เธอคือคนที่เต็มเปี่ยมด้วยพลังใจและความมุ่งมั่น ที่ในวันนี้เธอจะมาเปิดโลกให้เราได้รู้จักกับ “ศิลปะเซรามิก”



เพราะ ศิลปะเซรามิก “ไม่ใช่” แค่งานเพ้นท์ลงภาชนะแบบง่ายๆ
ตอนแรกเราคิดว่างานเซรามิกก็แค่งานเพ้นท์ลงภาชนะ จาน ชาม เครื่องประดับแบบง่ายๆ แต่เธอเล่าว่าขั้นตอนค่อนข้างซับซ้อนมากกว่านั้น “การผลิตงานแต่ละชิ้นมันต้องผ่านหลายขั้นตอนมาก ช่วงเวลาที่ต้องรังสรรค์งาน เอิร์ธต้องให้ความใส่ใจกับมันอยู่ตลอด และต้องประยุกต์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์กับศิลปะให้เข้ากันได้อย่างเหมาะสม”
 

ขั้นตอนในการทำ ต้องอาศัย “ทักษะและความชำนาญ”
“ขั้นตอนที่ต้องรู้หลักๆ คือ การขึ้นรูป การเผา การก่อเตา การรู้จักสารเคมีเพื่อทำน้ำเคลือบ เช่น ผสมอะไรแล้วได้สีอะไร ตรงนี้ช่วยทำให้เกิดไอเดียต่างๆ สามารถครีเอทสูตรการทำลวดลายออกมาเองได้เรื่อยๆ ทุกครั้งที่ได้ลองคิด ลองทำ มันทำให้เอิร์ธตื่นเต้นมาก เพราะลวดลายหรือสีที่ผสมจะยังไม่โชว์ให้เห็นจนกว่ามันจะออกมาจากเตา คอยลุ้นอยู่ตลอดว่าผลลัพธ์ของแต่ละชิ้นงานจะออกมายังไง แล้วลวดลายที่เราลองทำมันจะสวยหรือเปล่า? ”
 
   

นี่คือ...วัตถุดิบหลักในงานศิลปะเซรามิก   
เธอบอกว่าศิลปะเซรามิกนั้นจะใช้ดินเป็นส่วนประกอบหลักในการขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งความหมายของดินในด้านของการทำเซรามิกนั้นมีหลายอย่าง เช่น กลุ่มแร่ อย่างแร่คาโอลิไนต์ที่มีสีขาว และยังต้องผ่านเทคนิคผสมสีในดินก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนอื่นๆ ต่อไปอีกด้วย
 
 

จุดประกายความคิด พัฒนาความครีเอทีฟ ด้วย “Arts” 
“เมื่อรู้สึกผ่อนคลาย สมาธิก็จะเกิด ตอนนั้นนั่งจ้องท้องฟ้าอยู่ตลอด สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของมันเลยเกิดไอเดียอยากทำลวดลายท้องฟ้าใส่ลงชามด้วยลวดลายที่ต่างกัน กลายเป็นผลงานที่ชื่อ ‘Every Day’ โดยเลียนแบบลายของท้องฟ้าที่เปลี่ยนไปใน 30 วัน ลงไปในชาม 30 ใบ ตอนนั้นคิดว่าจะใช้เทคนิค nerikomi ซึ่งผ่านกระบวนการหลายขั้นตอนมาก เช่น การเผา การผสมสีหลายๆ สี การทำดินซ้อนกัน การรีด การม้วนเพื่อทำให้เป็นแผ่นเดียวก่อนมาขึ้นรูป รวมไปถึงการเผาแล้วเอากระดาษทรายมาขัด และยังมีกระบวนการอื่นๆ อีกมาก ทำให้ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการลงไปในเนื้องานอยู่พอสมควร”
 
   

ความภูมิใจกับผลงานและการได้รับรางวัลจากการประกวดระดับชาติ
“จำได้ว่างานนี้เป็นผลงานต่อยอดมาจากการทำทีสิส หลังจากเรียนจบก็ลองส่งเข้าประกวด The National Ceramic Competition 2018  ใครที่ทำงานหรือศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการของเซรามิกจากทั่วประเทศสามารถมาลงสมัครได้ จริงๆ ตอนนั้นคิดแค่ว่ามาลองเวทีครั้งแรกเลยใช้งานธีสิสส่งไปเดีกว่า ชื่อผลงานคือ ‘Above the Surface of the Earth’ เอิร์ธไม่ได้คาดหวังอะไร แต่พอประกาศผลแล้วรู้ว่าได้รับรางวัล ก็รู้สึกดีใจมาก”
 
  

“Get close to Nature” หัวใจหลักของการสร้างผลงาน
ไม่ว่าจะงานศิลปะแขนงไหน เธอเชื่อว่ามนตร์เสน่ห์ของมันก็คือ ธรรมชาติรอบๆ ตัว “ ศิลปะเป็นสิ่งใกล้ตัว งานเซรามิกก็เช่นกัน เอิร์ธมองว่าศิลปะมันมาจากธรรมชาติที่ทุกคนมักมองว่าไม่มีค่า อย่างศิลปะประเภทนี้ต้องใช้ดิน ทุกครั้งที่เอิร์ธสัมผัสดินแล้วปั้นงาน มันทำให้สัมผัสได้ถึงสิ่งรอบตัว ศิลปะสอนให้รู้ว่าธรรมชาติและความสุนทรีย์มันอยู่กับเราตลอดเวลา  ถ้าใครสนใจอยากลองทำ หรือสัมผัสกับงานอาร์ทแบบเซรามิก เอิร์ธแนะนำให้ลองทำเวิร์คช๊อปสั้นๆ มันไม่ยากที่จะลองค้นหาความสุข หาอินสปายเรชั่น และตัวตนของเราเอง” 

ไปส่องผลงานของเธอกันได้ ที่ IG: flowersinthevase.ceramics เห็นว่าเธอมีแพลนจะเปิดสตูดิโอของตัวเองด้วยนะ เพื่อจัดเวิร์ตช้อปให้คนที่หลงรักงานอาร์ตได้เข้ามาทำกิจกรรมร่วมกัน 


 
-->