รับมืออย่างไรเมื่อหัวใจเต้นเร็ว...ผิดปกติ

เพราะ “ความรัก” เป็นเรื่องของ “หัวใจ” จึงไม่แปลกอะไรถ้าใจจะเต้นเร็วเวลามีความรักหรือเจอคนที่ถูกใจ แต่ถ้าจะผิดปกติก็คงเป็นตอนที่ผ่านไประยะนึงแล้ว หัวใจก็ยังเต้นเร็วไม่ไหว จนแอบกลัว (ใจ) หลังจากที่รู้ว่า Dr.Magnus Thorsten Jensen แพทย์โรคหัวใจจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเจนทอฟ ได้บอกไว้ว่าคนที่มีหัวใจเต้นเร็วมักจะอายุสั้น แย่ละสิ! แบบนี้ต้องหาวิธีรับมือก่อนแล้ว



ใจ...เต้นแบบไหนที่ว่าเร็ว
หัวใจเต้นเร็ว เป็นอาการที่หัวใจมีอัตราการเต้นเร็วกว่าปกติ โดยปกติหัวใจจะมีอัตราการเต้นอยู่ที่  60 – 100 ครั้งต่อนาที แต่เมื่อหัวใจมีอัตราการเต้นมากกว่า 100 ครั้งต่อนาทีขึ้นไปจะถือว่าหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ โดยอันตรายของภาวะหัวใจเต้นเร็วอาจทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้เนื้อเยื่อ หรืออวัยวะในร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ทำให้มีอาการใจสั่น รู้สึกว่าหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ หายใจหอบเหนื่อย อ่อนล้า เวียนศีรษะ หรือรู้สึกหวิวๆ นอกจากนี้ยังอาจทำให้มีภาวะแทรกซ้อน เช่น เกิดลิ่มเลือด (Blood Clots) ซึ่งทำให้เกิดการอุดตันในเส้นเลือดที่สำคัญ นำไปสู่โรคที่ร้ายแรงอย่างหัวใจวาย (Heart Failure) ถือเป็นภาวะที่หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ไม่เพียงพอ จนอาจถึงขั้นเสียชีวิตกะทันหัน ซึ่งมักเกิดขึ้นกับภาวะหัวใจเต้นเร็วที่เกิดในหัวใจห้องล่าง (Ventricular Tachycardia) หรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างสั่นพริ้ว (Ventricular Fibrillation) โดยสาเหตุที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วแบ่งออกได้เป็นสาเหตุที่เกิดจากภายนอกและภายในของหัวใจและหลอดเลือด ดังนี้
 
#สาเหตุที่เกิดจากนอก
  • ภาวะขาดน้ำ (Dehydration)
  • ภาวะการสูญเสียเลือดเป็นจำนวนมากจนเกิดภาวะซีด 
  • การพักผ่อนไม่เพียงพอ 
  • การติดเชื้อ มีไข้สูง
  • ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (Thyrotoxicosis) ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism)
  • ท้องเสีย 
  • ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea – OSA)
  • การรับประทานยาบางชนิด
  • การใช้สารเสพติดที่มีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ
  • การดื่มเครื่องดื่มที่มีสารกระตุ้นหัวใจ เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฯลฯ

#สาเหตุจากภายใน
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
  • ผนังกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ
  • โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
  • โรคลิ้นหัวใจ
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • ภาวะที่เกิดจากไฟฟ้าหัวใจลัดวงจร เช่น Supraventricular Tachycardia – SVT หรือ Wolff Parkinson White Syndrome – WPW และ Atrial Fibrillation – AF เป็นต้น



ใจ (เต้น) เร็วดูแล (ด่วน) ได้
ถึงแม้ว่าการป้องกันหัวใจเต้นเร็วจะเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นหัวใจเต้นเร็วจากโรคหัวใจ แต่ก็ยังพอมีวิธีดูแล เพื่อช่วยลดความเสี่ยงให้น้อยลง และนอกจากจะปฏิบัติตามแนวทางการรักษาของแพทย์แล้ว ยังต้องสังเกตอาการ ความผิดปกติ และดูแลตัวเอง ดังนี้
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และกินอาหารที่มีประโยชน์
  • คุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ เพราะยิ่งมีน้ำหนักเกินจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจ
  • ควบคุมระดับคอเลสเตอรอลและความดัน ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ 
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และสารเสพติด
  • จำกัดการดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีนไม่เกินวันละ 1-2 แก้ว
  • ระมัดระวังการซื้อยามาใช้เอง เช่น ยาแก้ไอหรือยาแก้ไข้ เพราะมีส่วนประกอบที่สามารถกระตุ้นการทำงานของหัวใจให้เต้นเร็วได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาทุกครั้ง
  • ทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย เพื่อลดความเครียด

อย่าลืมนะว่าเรื่องหัวใจไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะมาดูแลได้…นอกจากตัวเราเอง
-->