รับมืออย่างไร เมื่อสงสัย ‘ไซนัสอักเสบ’

เชื่อว่าหลายคนเคยมีอาการหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ ติดต่อกันหลายวัน ปวดฟันกรามด้านบน หรือ ปวดศีรษะ โดยอาการเหล่านี้แอบคล้ายไข้หวัดธรรมดาจนแยกไม่ออก แล้วอย่างนี้อาการเหล่านี้จะนำไปสู่การเป็นโรคไซนัสอักเสบได้หรือเปล่า ไปดูกัน!



‘ไซนัสอักเสบ’ คืออะไร
โดยปกติรอบๆ โพรงจมูกของเราจะมีโพรงระบายอากาศตามธรรมชาติอยู่ข้างละ 1 โพรง ซึ่งความผิดปกติมักเกิดจากการอักเสบของโพรงจมูก รวมทั้งเกิดการติดเชื้อในโพรงจมูกด้วย เราจึงเรียกความผิดปกตินี้ว่า ‘เยื่อบุโพรงจมูกไซนัสอักเสบ’ แต่! ไซนัสอักเสบ ที่หลายคนเรียกกัน จริงๆ แบ่งออกไปอีก 2 ชนิด คือ ถ้าเราเป็นไซนัสอักเสบในระยะเวลา 3 เดือน เราจะเรียกว่า ‘ไซนัสอักเสบฉับพลัน’ แต่ถ้าเราเป็นเกิน 3 เดือนขึ้นไป เราจะเรียกว่า ‘ไซนัสอักเสบเรื้อรัง’ นั่นเอง

สังเกต! สัญญาณเตือน ‘ไซนัสอักเสบ’ มาแน่
สำหรับอาการที่จะบ่งบอกว่าเราเป็นไซนัสได้นั้นก็สังเกตได้ไม่ยาก ซึ่งเราสามารถประเมินความเสี่ยงเบื้องต้นได้ดังนี้
  • มีประวัติการเป็นภูมิแพ้มาก่อน แน่นอนว่ากลุ่มคนกลุ่มนี้มีโอกาสเกิดไซนัสอักเสบมากที่สุด เพราะว่ามีความเสี่ยงที่เยื่อบุโพรงจมูกจะอักเสบ จนเกิดการติดเชื้อในโพรงจมูกได้
  • มีอาการหวัดมาก่อนหน้านี้ อาจจะมีอาการคัดจมูก มีน้ำมูก มีเสมหะที่มีลักษณะข้น สีเหลืองหรือเขียว มีอาการเจ็บคอ ปวดหัว มีไข้ อ่อนเพลีย หรือไอเรื้อรัง สิ่งที่จะสังเกตได้ว่าเราเป็นไซนัสแน่ๆ คือการเป็นหวัดหรือมีอาการที่เรื้อรังเกิน 10 วัน เพราะไซนัสเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียนั่นเอง
  • สูบบุหรี่หรืออยู่ในสถานที่ที่อากาศเป็นพิษ แน่นอนว่าจะส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ทั้งควันบุหรี่ ควันพิษ ฝุ่น ซึ่งอาจทำให้เราเป็นไซนัสอักเสบได้เหมือนกัน
  • มีเนื้องอกในโพรงจมูก หรือมีริดสีดวงในจมูก อันนี้มีความเสี่ยงสูงอยู่แล้วที่จะเป็นไซนัสอักเสบ
  • การติดเชื้อจากฟัน ซึ่งอาจจะมีอาการปวดฟัน ลมหายใจมีกลิ่นเหม็นกว่าปกติ หรืออาจจะมีฟันผุ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการเป็นไซนัสอักเสบ
  • มีสาเหตุมาจากการว่ายน้ำ หลายคนคงเอ๊ะในใจ ว่าแค่ว่ายน้ำทำไมถึงเสี่ยงเป็นไซนัส สิ่งสำคัญคือ น้ำคลอรีนในสระว่ายน้ำ เพราะมีสารเคมีที่ไปกระตุ้นการอักเสบของเยื่อบุโพรงไซนัส รวมทั้งการสำลักน้ำในขณะที่เราว่ายน้ำด้วย
  • มีอาการปวดบริเวณใบหน้า เช่น บริเวณหัวตา หน้าผาก โหนกแก้ม จมูกบริเวณระหว่างคิ้ว และรอบๆ กระบอกตา ซึ่งตำแหน่งเหล่านั้น ถือเป็นตำแหน่งที่สำคัญของไซนัสอักเสบ



กระบวนการรักษา ‘ไซนัสอักเสบ’
ในกระบวนการการรักษามีด้วยกันหลายวิธี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของแต่ละคน ซึ่งขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของแพทย์ว่าเราควรได้รับการรักษาในรูปแบบไหน
  • การใช้ยา การรักษาด้วยวิธีการทั่วไป คือ การใช้ยาเพื่อให้ไซนัสทุเลาลง ซึ่งรูปแบบยาก็มีทั้งยากิน สเตียรอยด์พ่นจมูก และน้ำเกลือผสมสเตียรอยด์ล้างจมูก
  • การผ่าตัด สำหรับเคสการผ่าตัด ส่วนมากจะเกิดขึ้นจากคนที่มีอาการไซนัสเรื้อรัง นั่นหมายความว่าเคยได้รับการรักษาจากการใช้ยา แต่ไม่ดีขึ้น กลับมาเป็นอีก มีอาการเรื้อรัง หรือรักษามาเป็นระยะเวลานานแล้ว ดังนั้นการผ่าตัดจึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับกลุ่มคนที่เป็นไซนัสในกลุ่มนี้

สำหรับแนวทางการดูแลตัวเองให้ห่างไกลไซนัสก็ไม่ยากเลย พยายามหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดไซนัสอักเสบ เช่น งดสูบบุหรี่ หรืออยู่ใกล้คนสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงสภาพอากาศที่เป็นมลพิษ หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำเมื่อมีอาการหวัดกำเริบ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและพักผ่อนให้เพียงพอ

การรักษาไซนัสอักเสบควรได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที ซึ่งอาจมีผลรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย ดังนั้นถ้ารู้ตัวว่ามีความปกติ ควรรีบพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างเร็วที่สุด

สนใจ แพ็กเกจตรวจสุขภาพ คลิก!
-->