รักตัวเองอย่างไร ไม่ให้กลายเป็นหลงตัวเอง
รักก็คือรัก หลงก็คือหลง เรื่องแบบนี้ไม่ต้องถามชาวประมง แต่คงต้องถาม นพ.สุกมล วิภาวีพลกุล จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวิตคู่และสุขภาพทางเพศ โรงพยาบาลพญาไท 2 มากกว่า เพราะแน่นอนว่าการรักตัวเองย่อมเป็นเรื่องดี แต่ถ้ามากเกินไปจะกลายเป็นหลงตัวเองหรือเปล่านะ ยิ่งมีรายงานวิจัยของทีมนักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (NYU) ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Personality and Individual Differences ฉบับล่าสุดบอกไว้ว่าจริงๆ แล้วคนที่หลงตัวเอง กลับรู้สึกไร้ค่าและเกลียดตนเองมากกว่าด้วยซ้ำ งานนี้คงต้องแยกแยะให้ออกระหว่าง “รัก” กับ “หลง” แล้วล่ะรักตัวเองที่แท้เป็นแบบนี้
ขึ้นชื่อว่าความรัก ไม่ว่าจะมอบให้กับใครย่อมเป็นสิ่งที่ดีทั้งนั้น ซึ่งที่ผ่านมาเราอาจให้ความรักกับคนอื่น จนลืมนึกถึงตัวเองไปบ้าง เพราะฉะนั้นก็คงไม่ใช่เรื่องผิดอะไรถ้าจะหันกลับมารักตัวเองบ้าง โดยคุณหมอได้ชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมที่แสดงออกว่ารักตัวเองไว้เป็นข้อๆ ดังนี้
- มีความหวังดีต่อตนเอง พยายามพัฒนาตนเองให้เก่งขึ้นดีขึ้น ไม่ทำตัวในทางเสื่อมเสีย
- มีความยับยั้งชั่งใจ ไม่ประพฤติในสิ่งผิด ไม่ทำให้ตัวเองและผู้อื่นเดือดร้อน
- รู้จักการปล่อยวาง คือยอมรับผลที่เกิดขึ้นหลังจากที่เราทำดีสุดความสามารถแล้ว
- ให้อภัยตนเองได้ เมื่อดำเนินชีวิตผิดพลาดและเรียนรู้ที่จะไม่ทำผิดในครั้งต่อไป
“รัก” กับ “หลง” อย่าสับสน เพราะ...ต่างกัน
ส่วนใครที่ไม่แน่ใจว่าที่เป็นอยู่นั้นเรียกว่ารักหรือหลง ให้เตรียมกระดาษปากกาแล้วมาเช็คลิสต์ไปพร้อมกันกับคุณหมอเลย
- คนรักตัวเอง รู้มาก แต่พูดน้อยเท่าที่จำเป็น...
คนหลงตัวเอง รู้น้อย แต่ชอบคุยโม้โอ้อวดเพื่อกลบเกลื่อนความไร้สามารถในเรื่องอื่นๆ
- คนรักตัวเอง เห็นความดีและความสามารถทั้งของตนเองและผู้อื่น พูดชื่นชมคนอื่นทั้งต่อหน้าและลับหลัง
คนหลงตัวเอง ชอบนินทาว่าร้ายผู้อื่น หยิบยกความผิดของคนอื่นมาบดบังความชั่วร้ายของตัวเอง
- คนรักตัวเอง เห็นความบกพร่องของตนเอง และพร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไข
คนหลงตัวเอง มองข้ามความบกพร่องของตัวเอง แต่เชี่ยวชาญในการจับผิดเรื่องคนอื่น
- คนรักตัวเอง มีความเห็นอกเห็นใจคนอื่นที่ด้อยกว่าตัวเอง อยากช่วยเหลือ
คนหลงตัวเอง ถนัดในการซ้ำเติมความผิดของผู้อื่น ชอบเอาปมด้อยของคนอื่นมาล้อเลียน
- คนรักตัวเอง มีมุทิตาจิต เมื่อเห็นผู้อื่นประสบความสำเร็จก็ชื่นชมยินดี
คนหลงตัวเอง ช่างอิจฉาริษยา เห็นคนอื่นได้ดีแล้วตัวเองเจ็บปวด
- คนรักตัวเอง อ่อนน้อม ถ่อมตน สุภาพและให้เกียรติผู้อื่น
คนหลงตัวเอง มักก้าวร้าว เย่อหยิ่ง ยโสโอหัง พูดจาขวานผ่าซาก ไม่รักษาน้ำใจคน
- คนรักตัวเอง อยากเรียนรู้จากคนอื่นในเรื่องที่ตัวเองยังไม่รู้ เปิดใจรับฟัง
คนหลงตัวเอง ชอบทำตัวเหนือกว่าคนอื่น รับไม่ได้ว่าผู้อื่นเขาเก่งกว่าเราในบางเรื่อง
- คนรักตัวเอง จะแก้ไขปัญหาอย่างสันติและสร้างสรรค์
คนหลงตัวเอง มักใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา
- คนรักตัวเอง มีความเสียสละ คิดถึงประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เป็นหลัก
คนหลงตัวเอง เห็นแก่ตัว ชอบเอาเปรียบผู้อื่นเมื่อมีโอกาส
- คนรักตัวเอง เป็นแหล่งกำเนิดความสุขของผู้อยู่ใกล้ชิดได้ฟังมธุรสวาจา
คนหลงตัวเอง เป็นมลพิษของคนรอบข้าง ใครอยู่ใกล้มักอึดอัด รำคาญ ได้ยินแต่เรื่องร้ายๆ
- คนรักตัวเอง มีรัศมีแห่งความเมตตา
คนหลงตัวเอง มีรังสีอำมหิต
- คนรักตัวเอง จะคิดว่า I am OK, You are OK
คนหลงตัวเอง จะคิดว่า I am OK but You are not OK.
Bryce Dallas Howard en el episodio 'Caída en picado' de 'Black Mirror'
รักตัวเองมากเกินไปจนกลายเป็นหลง...ได้หรือเปล่า?
การรักตัวเองที่มากเกินไปสามารถนำไปสู่การหลงตัวเองได้ไหม รัก กับ หลง ถึงแม้ว่าจะเป็นคนละเรื่อง (เดียว) กัน แต่ก็ทำให้สงสัยได้เหมือนกันว่าถ้ารักตัวเองมากเกินไปจะกลายเป็นหลงตัวเองหรือเปล่า ซึ่งเรื่องนี้คุณหมอได้อธิบายว่า “คนที่รักตัวเองมากเกินไปในกรณีนี้น่าจะหมายถึง immature หรือ unhealthy จนทำให้กลายเป็นคนเก่งที่คุยโม้แต่เรื่องความสำเร็จของตัวเอง ไม่ยอมรับฟังความเห็นของคนอื่น พูดจาทับถมคนอื่น ไม่ให้เกียรติคนอื่น ชื่นชมคนไม่เป็น ซึ่งการหลงตัวเองจะถือเป็นความผิดปกติได้ (Narcissistiv Personality Disorder) ก็ต่อเมื่อมีอาการต่างๆเหล่านี้มากกว่า 5 ข้อขึ้นไป”
- มักยึดตัวเองเป็นสำคัญมากเกินไป เช่น หวังว่าผู้อื่นจะเห็นว่าตัวเองพิเศษหรือเหนือกว่าในด้านต่างๆ
- มักหมกหมุ่นกับการคิดถึงความสำเร็จ อำนาจ ความร่ำรวย ความงาม หรือความรักในอุดมคติของตัวเอง
- เชื่อว่าตัวเองเป็นคนพิเศษ และบุคคลที่มีความพิเศษหรือสถานะทางสังคมที่สูงเทียบเท่ากันเท่านั้นถึงจะเข้าใจตน
- ต้องการความสนใจ การยอมรับ และความชื่นชมจากผู้อื่น
- คิดว่าสมควรได้รับอภิสิทธิ์ต่างๆ อย่างไม่มีเหตุผล
- แสวงหาประโยชน์จากผู้อื่น เพื่อให้ตนเองบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ
- ขาดความเห็นใจและนึกถึงผู้อื่น
- มักริษยาผู้อื่น หรือเชื่อว่าคนรอบข้างอิจฉาตนเอง
- มีความคิดหรือพฤติกรรมที่เย่อหยิ่ง จองหอง
โดยคุณหมอทิ้งท้ายว่าทั้งหมดนี้จะนำไปสู่ปัญหาความสัมพันธ์ในที่ทำงาน ในชีวิตคู่สมรสและครอบครัว ถือว่าเป็น High Conflict Person (HCP) บุคคลมลพิษแบบหนึ่ง แม้ผลงานมีประสิทธิผล แต่คนที่อยู่ด้วยหรือทำงานด้วยจะมีความสุขน้อยลง ความเครียดมากขึ้นได้