ระวัง! ไถมือถือมากไป สุดท้ายคือ เดอกาแวง

ในโลก 5G ทุกวันนี้ สมาร์ทโฟนหรือโทรศัพท์มือถือ นับว่าเป็นอวัยวะที่ 33 ของร่างกายก็ว่าได้ ออกจากบ้าน ถ้านึกขึ้นได้ว่าลืมมือถือก็จะยอมยูเทิร์นรถจากถนนใหญ่ กลับเข้าซอยหมู่บ้านโดยเร็วพลัน และต่อให้สิ้นสุดหน้าที่การงานในแต่ละวัน ก็ยังคงมีมือถือเอาไว้ในมือ เพื่ออัพเดทข่าวสารดารา โปรโมชั่นชาบูหมูกระทะ และเหตุบ้านการเมืองอยู่ดี นั่นทำให้นิ้วโป้งของเราโดยเฉพาะข้างที่ถนัด ต้องรับศึกหนักอยู่ตลอดเวลา ในการไถขึ้น ไถลง เพื่อรับข้อมูลที่เรามองผ่านหน้าจอ ซึ่งเป็นสาเหตุให้บางคน รู้สึกเริ่มเจ็บบริเวณโคนนิ้วโป้งมาแบบไม่รู้สาเหตุ วันนี้ Health Addict จะมาให้ความรู้ของโรคนี้กัน



ก็แค่ใช้สมาร์ทโฟน...จะเจ็บได้ยังไงกัน
การเจ็บโคนนิ้วโป้ง จริงๆ มันมีสาเหตุมาจากการที่เราใช้นิ้วหัวแม่มือ หรือนิ้วโป้ง สัมผัสหน้าจอแล้วเลื่อนขึ้น เลื่อนลงในขณะที่โทรศัพท์ยังอยู่ในมือ ซึ่งข้อมูลจากไทยรัฐออนไลน์กล่าวว่า คนไทยใช้สมาร์ทโฟนเพื่อออนไลน์ต่อวัน สูงเป็นอันดับ 5 ของโลก นั่นหมายถึง 4.2 ชั่วโมงต่อวัน ลองนึกภาพตามว่าการใช้งานเอ็นนิ้วโป้งต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานขนาดนั้น มันมากจนทำให้เกิดการอักเสบของปลอกหุ้มเอ็นนิ้วโป้งได้มากขนาดไหน อาการนี้ มีชื่อเรียกเป็นภาษาทางการแพทย์ว่า โรคเดอ กาแวง (De Quervian disease) จริงๆ แล้ว เดอกาแวงนั้น ไม่ได้เกิดเฉพาะคนที่ใช้โทรศัพท์มือถือบ่อยๆ เท่านั้น บุคลากรทางการแพทย์บางท่านจะเรียกโรคนี้ว่า โรคแม่บ้าน เช่น จับตะหลิวทำกับข้าวบ่อยๆ สับหมูสับไก่อยู่เป็นนิจ กวาดบ้านทุกทีที่เห็นฝุ่นฝอย หรือลักษณะงานที่มีการใช้นิ้วโป้งในการทำงานเยอะนั่นเอง ถ้าหากเราใช้เยอะแล้วไม่ได้ดูแลทะนุถนอมนิ้วของเราให้สมกับที่ใช้งานมา อาการเจ็บและอักเสบก็จะมาเยือนเราได้ในท้ายที่สุดอย่างแน่นอน

ก่อนอื่นเราจะรู้ได้ไงว่าเราเป็นเดอกาแวงหรือเปล่า ในทางการแพทย์เรามีท่าทดสอบเฉพาะ (special test) ที่เรียกว่า Finkelstein’s test วิธีทดสอบคือ พับนิ้วโป้งเข้าหาฝ่ามือ คล้ายๆ กับชูเลขสี่ แล้วพับสี่นิ้วที่เหลือเข้ามาคล้ายท่ากำมือ (แต่เอานิ้วโป้งไว้ด้านใน) แล้วบิดข้อมือลงมาทางด้านนิ้วก้อย หากคนที่มีอาการของโรคเดอกาแวง แค่บิดข้อมือเพียงเล็กน้อย ก็จะเจ็บจี้ด สะดุ้งซี้ดที่บริเวณโคนนิ้วโป้ง อาจจะสะท้านไปถึงหัวไหล่กันเลยทีเดียวเชียว แต่หากว่าใครเจ็บมากๆ บางทีก็ไม่ต้องทดสอบในท่านี้นะคะ เพียงแค่ยกนิ้วโป้งขึ้นมาจะทำท่ากดไลค์ ก็ซี้ดได้เหมือนกัน คะแนนความเจ็บปวดเต็ม 10 ให้ทะลุไป 18 ก็ไม่เว่อร์นะคุณ

How to ไม่เป็นเดอ กาแวง
เอาล่ะ ทีนี้เชื่อว่าหลายคนอยากรู้ว่า เราจะดูแลยังไงดี จะป้องกันอาการเจ็บที่จะเกิดขึ้นได้ยังไงบ้าง ขอแบ่งง่ายๆ เป็น 2 ส่วนคือ เราต้องเพิ่มความยืดหยุ่นด้วยการยืดและเพิ่มความแรงให้กล้ามเนื้อหัวแม่มือและกล้ามเนื้อในมือ เพื่อให้พร้อมรับการใช้งานอันหนักหน่วงในแต่ละวัน มาเริ่มกันที่การยืดก่อน ท่าที่ทำง่ายแต่ต้องระวังมาก คือการพับนิ้วโป้งลงมาหาฝ่ามือแล้วกำมือ จะคล้ายๆท่าทดสอบเฉพาะที่กล่าวมาข้างต้น แต่บิดค่อยๆข้อมือลงให้ช้าที่สุดและรู้สึกตึงบริเวณโคนนิ้วโป้ง ค้างไว้ประมาณ 10 วินาที ห้ามรู้สึกเจ็บเด็ดขาด!! เพราะนั่นจะถือว่าเป็นการ overstretching อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้

ต่อมาคือจากเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ วิธีง่ายๆ คือ แบมือไปด้านหน้าเหยียดนิ้วตรง แล้วยกหรือกางนิ้วโป้งแยกออกจากทั้งสี่นิ้วและหุบลง หรืออีกวิธีที่ง่ายและใช้สิ่งของรอบตัวได้คือ การใช้หนังยาง ยางรัดผมหรือยางรัดแกงก็ได้ ที่ไม่ยานเกินไป โดยให้นิ้วมือทั้งห้าอยู่ติดกันในลักษณะคล้ายขนมจีบ นำยางมาครอบไว้ที่วงนอกของนิ้วมือ และค่อยๆ กางนิ้วออกต้านแรงของยาง ทั้งสองท่าที่เพิ่มความแข็งแรงนี้ ทำซ้ำประมาณ 10-15 ครั้งได้เลยถ้าไม่เมื่อยหรือล้า สามารถทำได้มากกว่าหนึ่งรอบต่อหนึ่งวัน และถ้าหากมีเวลา สิ่งหนึ่งที่อยากจะแนะนำก็คือ การแช่น้ำอุ่นหรือน้ำเย็นตามอาการ ซึ่งจะแนะนำว่า หากวันไหนใช้งานเยอะแล้วรู้สึกเจ็บเยอะ ให้ใช้น้ำเย็น จำไว้ว่า ย. ยักษ์ เหมือนกัน เจ็บเยอะก็ใช้เย็น แต่ถ้าหากไม่มีอาการเจ็บ มีเพียงอาการตึงๆ เมื่อยๆ ที่นิ้วโป้งหรือกล้ามเนื้อในมือ ให้แช่น้ำอุ่น ประมาณ 15-20 นาที จะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยป้องกันการเกิดโรคเดอกาแวงได้ดี

แต่ถ้าหากใครเจ็บมากๆ จะขยับหรือหยิบจับอะไรก็เจ็บไปซะหมด (ซึ่งนั่นหมายความว่าอาการของโรคเป็นค่อนข้างมาก) อาจจำเป็นต้องใช้ตัวประคองข้อมือ (Wrist support/ Thumb support) ในขณะที่เราจำเป็นต้องใช้งานจริงๆ หยุดพักไม่ได้เลยพี่ชายจ๋า ก็จะสามารถลดปวด ช่วยให้การทำกิจวัตรประจำวันของเรานั้นง่ายขึ้น และบางคนอาจจะต้องใส่ตอนนอนด้วย เนื่องจากป้องกันการเคลื่อนไหวที่จะทำให้เกิดการบาดเจ็บเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว

ป้องกัน ดีกว่ารักษา
ด้วยเทคโนโลยี 5G และการสื่อสารผ่าน Social media จะเห็นได้ว่าการใช้โทรศัพท์มือถือเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ จำเป็นต้องใช้และใช้ตลอดเวลาด้วย ซึ่งผลจากการใช้งานที่มากเกินความสามารถของนิ้วโป้งอันน้อยนิดก็จะมีของแถมคือโรคปลอกหุ้มเอ็นนิ้วโป้งอักเสบ แต่จากที่กล่าวมานั้นเห็นไหมว่า จริงๆ แล้วโรคนี้ เป็นโรคที่ป้องกันได้ เพียงแค่เราต้องให้เวลาและเอาใจใส่กับนิ้วโป้งของเรา ดูแลให้สมกับที่ใช้งานเขามาอย่างหนักหน่วงทั้งวัน ซึ่งบอกเลยว่าจากประสบการณ์  เดอกาแวง เป็นโรคที่รักษานานมากกว่าจะหาย เพราะเรายังจำเป็นต้องใช้มืออยู่ทุกวัน อย่างน้อยก็แปรงฟัน กินข้าว สระผม ซึ่งเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คนที่เคยเป็นจะบอกว่าเป็นโรคที่น่ารำคาญ ถึงหายแล้วก็จะรู้สึกขลุกขลิกดุ๊กดิ๊กอยู่ที่เอ็นหัวแม่มือนั่นแหละ หากทำตามคำแนะนำข้างต้นแล้วยังรู้สึกว่ามีอาการของโรคอยู่ ควรรีบไปพบแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด เพื่อการรักษาที่ทันท่วงที ... 
 
-->