มุ่งมั่นตามฝัน ฝ่าฟันทุกอุปสรรคจนก้าวขึ้นสู่การเป็น “นักกีฬาไอซ์ฮอกกี้ทีมชาติ”

ทันที่ที่เธอเดินเข้ามาในสตูดิโอ เราก็สัมผัสได้ถึงออร่าของความสดใสที่พุ่งออกมาจากตัวเธอ สมกับฉายา “เจ้าหญิงแห่งไอซ์ฮอกกี้” ที่เธอได้รับ ยิ่งพอได้นั่งคุยกันมากขึ้น ทำให้เรารู้เลยว่า “น้ำตาล วิลาสินี รัตนนัย” คือผู้หญิงที่ไม่ได้มีดีแค่ความสวย แต่เธอยังมีความเด็ดเดี่ยว แน่วแน่ และแข็งแกร่งกว่าที่เราคิดไว้มาก



เริ่มสัมผัสลานน้ำแข็งด้วย“สปีตสเกต”...แต่ต้องหยุดเล่นเพราะปัญหาสุขภาพ
“ตอนนั้นอายุประมาณ 17 ปี เราไปเล่นสเก็ตน้ำแข็งกับเพื่อนตามปกติ จนมีคนเห็นแววเลยชวนไปเล่นสปีดสเก็ต ซึ่งหลังจากที่ซ้อมมาสักพักก็เริ่มมีการจับเวลา พอเวลาของเราดีก็ได้ติดทีมชาติ ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งได้รับเหรียญรางวัลกลับมา” แต่เส้นทางของเธอก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป เธอต้องหยุดเล่นสิ่งที่เธอรักเพราะมีปัญหาสุขภาพเมื่อพบว่าเป็น “ไทรอยด์เป็นพิษ” “มีอาการใจสั่น ไม่มีแรงเล่น หัวใจเต้นเร็ว หายใจไม่ทัน เราต้องหยุดเล่นไปเป็นปี หยุดทุกอย่างเพื่อรักษาตัว หลังจากไปหาหมอก็ให้กินยา ดูแลสุขภาพ ที่สำคัญคือหมอย้ำว่าต้องไม่เครียด เพราะยิ่งเครียดจะยิ่งแย่”

กลับสู่สนามอีกครั้ง...ในฐานะ “โค้ช”
หลังจากที่ต้องพักรักษาตัวไปนานเกือบ 1 ปี เธอได้มีโอกาสกลับมาสัมผัสลานน้ำแข็งอีกครั้งในฐานะโค้ชสเก็ตน้ำแข็งในวัย 19 ปี การกลับมาครั้งนี้เธอมาพร้อมความมุ่งมั่นและตั้งเป้าหมายว่าอยากเป็นนักกีฬาไอซ์ฮอกกี้ เพราะเธอหลงรักในความเท่และท้าทายของกีฬาชนิดนี้ “เด็กๆ หลายคนบอกว่าอยากมาเล่นเพราะเห็นเราเป็นต้นแบบ พอได้ยินอย่างนั้นเราก็ดีใจ” แม้จะเป็นที่ชื่นชมของลูกศิษย์ แต่เธอก็ไม่ได้ยึดติดกับคำชม กลับโฟกัสไปที่งานสอนอย่างเต็มที่ “เมื่อเป็นโค้ช เราต้องดูจุดบกพร่องของเด็ก ว่าแต่ละคนควรพัฒนาตรงไหน แก้ไขจุดไหน สังเกตลูกศิษย์เยอะๆ แล้วดึงความสามารถของเขาออกมาให้ได้”

ฮึดสู้อีกรอบ...เพื่อก้าวสู่เส้นทางนักกีฬาอาชีพ
อย่างที่รู้กันว่าต้นทุนของการเล่นกีฬาไอซ์ฮอกกี้นี้ค่อนข้างสูง ซึ่งบางคนอาจโชคดีมีสปอนเซอร์หรือครอบครัวซัพพอร์ต แต่สำหรับเธอแล้ว ทุกอย่างเธอสร้างด้วยมือของเธอเอง “ตอนอายุ 15-16 คุณพ่อเสีย ตอนนั้นครอบครัวมีปัญหามาก ต่างคนต่างต้องดูแลตัวเอง เราก็ทำงานหาเลี้ยงตัวเองมาตลอดตั้งแต่เด็ก ซึ่งเรามีความผูกผันกับกีฬามาก เพราะกีฬาทำให้เราสู้ และเราก็สู้เพื่อกีฬา” และในที่สุดเธอก็ตัดสินใจเก็บเงินเพื่อเล่นไอซ์ฮอกกี้อย่างจริงจัง “เราเริ่มตอนอายุ 19 ซึ่งถือว่าค่อนข้างช้า แม้กีฬานี้จะไม่ค่อยเป็นที่รู้จักหรือเป็นที่นิยมมาก แต่พอเราได้เห็นนักกีฬาไอซ์ฮอกกี้ทีมชาติแล้วรู้สึกว่าเท่ ได้ทำอะไรเพื่อประเทศชาติ ก็พยายามโปรโมท ถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดียช่องทางต่างๆ ว่ากีฬาชนิดนี้มีอะไรมากกว่าที่เห็น ชวนเพื่อนๆ มาเล่น” และนอกจากความท้าทายแล้ว ผลดีที่ตามมาคือเรื่องของสุขภาพ “เมื่อก่อนเราไม่แข็งแรง แต่พอได้เล่นกีฬาแล้วมันทำให้เราแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ และกีฬาชนิดนี้ก็ไม่จำกัดอายุคนเล่น สามารถเริ่มและเล่นได้จนแก่เลย”



นี่ล่ะ! เสน่ห์ของกีฬาบนลานน้ำแข็ง ที่เธอหลงรัก
เมื่อเราถามว่าอะไรคือเสน่ห์ของกีฬาไอซ์ฮอกกี้ เธอยิ้มกว้างและบอกกับเราว่า “เยอะมากกกก” ทุกครั้งที่ไปซ้อม จะได้เจอเรื่องใหม่ๆ ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ค่อยๆ เพิ่มเสน่ห์ไปทีละนิด “เวลาได้เจอสถานการณ์ที่ไม่เคยเจอมาก่อน ทำให้เราต้องตัดสินใจเร็ว กล้าตัดสินใจมากขึ้น อีกอย่างคือการทำงานเป็นทีม และความท้าทายต่างๆ ที่ต้องเจอในทุกๆ วัน”

นอกจากความแข็งแรง เรื่อง “วินัย” ก็สำคัญมาก
ด้วยรูปร่างที่สูงยาวกว่าเพื่อนๆ และมีพื้นฐานทางด้านสปีดสเก็ต ทำให้เธอได้รับตำแหน่ง “กองหน้า” ที่มีจุดเด่นเรื่องความเร็วและความแข็งแรง “นักกีฬาไอซ์ฮอกกี้ส่วนใหญ่จะตัวเล็ก แต่เราตัวโต สูง ตัวหนากว่าเพื่อน จะได้เปรียบเวลาเบียดกับคู่ต่อสู้เพื่อเข้าทำประตู” ซึ่งเรื่องของการปะทะในสนามเธอบอกว่าเป็นเรื่องปกติของกีฬาชนิดนี้ แต่อาจจะไม่ได้รุนแรงถึงขนาดฟันหัก มีเจ็บเข่า เจ็บข้อเท้าบ้างหลังจบการแข่งขัน แต่นอกจากเรื่องของความแข็งแรง “วินัย” ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากเช่นกัน “ถ้าเราไม่มีความสม่ำเสมอในการฝึกซ้อม การบรรลุเป้าหมายก็จะเป็นไปได้ยากมาก” 

เป้าหมายปี 2019 คือคว้าเหรียญทองซีเกมส์
เมื่อเราถามถึงเป้าหมายที่เธอตั้งใจไว้ “ตอนนี้เป็นเป้าหมายระยะสั้นมากคืออยากไปซีเกมส์ อยากได้เหรียญทอง และอยากให้บรรจุกีฬาชนิดนี้ในการแข่งขันซีเกมส์ เรามั่นใจว่าทีมไทยสามารถสู้ได้ คว้าเหรียญทองแน่นอน” ส่วนปี 2019 นี้ จะมีการแข่งขันชาเลนจ์คัพที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ช่วงเดือนมีนาคม ซึ่งเธอเล่าว่าทั้งทีมมีเป้าหมายร่วมกันคือการคว้าเหรียญกลับบ้านให้ได้ 



ถึงจะเหนื่อยแต่ก็ไม่เคยท้อ...เพราะเชื่อมั่นในพลังบวก
แม้เส้นทางในชีวิตจะไม่ได้ราบรื่นตลอดทาง แต่การมองโลกในแง่ดีก็ทำให้เธอก้าวข้ามผ่านอุปสรรคต่างๆ มาได้ “คติของน้ำตาลคือเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะทำตัวดีได้ บางเรื่องที่ผ่านมาแล้วก็ใช้เป็นพลังขับเคลื่อนในการมีชีวิตที่ดีขึ้น เพราะไม่ว่าเราจะเจอปัญหา เจอเรื่องที่แย่ หรือทำผิดพลาดอะไรมา สุดท้ายแล้วมันจะผ่านไป” ในเรื่องของการแข่งกีฬาเองก็เหมือนกัน “ถ้าผลการแข่งขันมันไม่เป็นอย่างที่หวัง จะคิดเสมอว่าพรุ่งนี้เอาใหม่ เพราะการคิดถึงเรื่องแย่ๆ ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น คิดเสมอว่าต้องแก้ไขและพรุ่งนี้ก็ลงมือทำใหม่ เพราะเราเชื่อว่าถ้าคิดบวกแล้ว มันจะดีขึ้นเอง”

สุดท้ายเธอได้ส่งพลังบวกมาถึงเรา ที่เราอยากส่งต่อให้กับทุกคน “จริงๆ ไม่มีใครรู้ว่าน้ำตาลป่วย ไม่ค่อยได้บอกใคร เพราะเราคิดว่าเราปกติ แข็งแรง มีทุกอย่างเหมือนคนอื่น ดังนั้นทุกครั้งที่ลงสนามก็จะทำเต็มที่ จนลืมไปเลยว่าป่วย ซึ่งเราก็ดูแลตัวเองตามปกติ ถึงเวลาก็พัก ไปหาหมอตามนัด” และถึงแม้จะอายุแค่ยี่สิบต้นๆ แต่เธอก็อยากทำประโยชน์ให้กับคนอื่นบ้าง “เหมือนชีวิตเราเคยขาดความอบอุ่น เราเลยอยากให้ความอบอุ่นกับเด็กๆ อยากแบ่งปัน สร้างสิ่งดีๆ ให้กับสังคม”



 
-->