มาทำความรู้จัก ‘ไฟโบรมัยอัลเจีย’ โรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง

 

หลังจากที่นักร้องสาว ‘เลดี้ กาก้า’ ได้ออกมาเปิดเผยเกี่ยวกับชีวิตของเธอในภาพยนต์สารคดี ‘Gaga: Five Foot Two’ ที่ออกอากาศทาง Netflix ซึ่งในสารคดีชุดนี้เธอได้เปิดเผยถึงอาการป่วยที่เธอเผชิญ ใครที่ได้ดูแล้วจะเห็นฉากที่เธอกำลังนอนรักษาโรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) หรือโรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง ที่่สร้างความทรมานให้เธอไม่น้อย การออกมาเล่าประสบการณ์ครั้งนี้ทำให้คนทั่วไปได้ตระหนักถึงตัวโรคและผู้ป่วยมากขึ้น ซึ่งแฟนๆ ของเธอต่างร่วมกันส่งกำลังใจและขอบคุณที่เธอออกมาแชร์ประสบการณ์อันแสนเจ็บปวดครั้งนี้



ในสหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยโรคไฟโบรมัยอัลเจียประมาณ 2% ของประชากรทั้งหมดหรือประมาณ 5 ล้านคน ซึ่งกว่า 90% ของผู้ป่วยพบว่าเป็นเพศหญิง และพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 35-60 ปี 

‘ไฟโบรมัยอัลเจีย’ โรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง
ข้อมูลจากคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลอธิบายเอาไว้ว่า ‘ไฟโบรมัยอัลเจีย’ เป็นกลุ่มอาการปวดเรื้อรังที่มักกระจายตัวหลายแห่งตามร่างกาย โดยเฉพาะตำแหน่งที่เป็นกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ซึ่งบริเวณที่มักพบบ่อยคือ ศีรษะ คอ บ่า หลัง บางคนอาจมีอาการปวดเหมือนกล้ามเนื้ออักเสบทั้งตัว โดยมีอาการเรื้อรังนาน 3 เดือนขึ้นไป นอกจากนี้ยังอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น อ่อนเพลีย นอนหลับไม่สนิท เครียด ซึมเศร้า สมาธิและความจำถดถอย ซึ่งความรุนแรงของโรคก็จะมีความแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย 

อะไรคือสาเหตุของโรคนี้?
ศ.พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เคยให้ข้อมูลไว้ในรายการพบหมอรามาว่า ปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุของโรคที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากระบบประสาทหรือสารสั่งประสาทที่เกี่ยวข้องกับความเจ็บปวดที่ทำงานมากผิดปกติ รวมถึงอาจมีปัจจัยอื่นๆ ที่กระตุ้นให้เกิดโรค เช่นความเครียดหรือความผิดปกติทางด้านจิตใจ หรือผู้ที่เคยเคยมีประวัติประสบอุบัติเหตุและมีการกระทบกระเทือนไปถึงสมองหรือประสาทไขสันหลัง เป็นต้น

แยกให้ออก! ไฟโบรมัยอัลเจีย...ต่างจากออฟฟิศซินโดรมยังไง
หลายคนมักเข้าใจผิดว่านี่เป็นออฟฟิศซินโดรม เพราะมีอาการปวดเมื่อยเหมือนๆ กัน แต่ถ้าลองลงรายละเอียดดูก็จะพบว่าอาการปวดออฟฟิศซินโดรมมักจะปวดเป็นจุดเดียว แต่ไฟโบรมัยอัลเจียจะมีอาการปวดทั้ง 2 ข้างเท่าๆ กัน ปวดหลายจุดตามร่างกาย อาจปวดได้มากเป็นสิบๆ จุดพร้อมกัน และมีอาการปวดเรื้อรังนาน 3 เดือนขึ้นไป  

 
onhealth

แนวทางการรักษา 
ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคไฟโบรมัยอัลเจียให้หายขาด การรักษาจึงเน้นการประกับประคองอาการเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งก็จะมีตั้งแต่การใช้ยาบรรเทาอาการปวด ยาคลายเครียด การทำกายภาพบำบัด ไปจนถึงแพทย์ทางเลือกอย่างการนวดซึ่งช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อและช่วยผ่อนคลายความเครียด หรือการฝังเข็มเพื่อแก้ปัญหาการนอนหลับไม่สนิท

จะเห็นว่าโรคไฟโบรมัยอัลเจียเป็นโรคที่ส่งผลต่อหลายระบบในร่างกาย ไม่ใช่แค่อาการปวดเมื่อยเพียงอย่างเดียว หากสงสัยว่าอาการที่เป็นอยู่ใช่โรคไฟโบรมัยอัลเจียรึเปล่า ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียด


 
-->