มะเร็งในคนอายุน้อย... เกิดขึ้นได้ยังไง



"โรคมะเร็ง" คือสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งเต้านม จากรายงานเรื่องโรคมะเร็งที่จัดทำโดยทีมแพทย์ชาวไทย นำโดย นพ. วีรวุฒิ อิ่มสำราญ อธิบายว่า นอกจากปัจจัยเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีเรื่องของพฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนแปลงไป มีคนอ้วนเพิ่มมากขึ้น รวมถึงคนไทยมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้น

หากอายุเป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดโรคมะเร็งแล้ว เราเลยสงสัยว่าแล้วคนที่อายุน้อยๆ ล่ะ ป่วยเป็นมะเร็งได้ยังไง... ในไทย อัตราการป่วยมะเร็งของคนอายุต่ำกว่า 15 ปีอยู่ที่ 74.9 ต่อ 1,000,000 ประชากร ซึ่งต่ำกว่าในประเทศแถบตะวันตก ขณะที่สมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (American Cancer Society) บอกว่า ทุกๆ ปีจะพบเด็กว่าเด็กชาวอเมริกันป่วยเป็นมะเร็งน้อยกว่า 1% ส่วนในสหราชอาณาจักรนั้นมีผู้ป่วยมะเร็งที่อายุต่ำกว่า 24 ปีประมาณ 1%



แล้วมะเร็งในเด็ก เกิดขึ้นได้ยังไง
องค์การอนามัยโลกบอกว่า มะเร็งในเด็กส่วนใหญ่ไม่สามารถป้องกันหรือคัดกรองได้ โดยมีเพียง 2-3 ชนิดเท่านั้นที่เกิดขึ้นโดยมีสาเหตุจากสภาพแวดล้อมและการใช้ชีวิต... โดยนักวิทยาศาสตร์ สันนิษฐานว่ามะเร็งที่เกิดขึ้นใน 10% น่าจะมาจากกรรมพันธุ์ ซึ่งวิธีรับมือกับมะเร็งที่ดีที่สุดคือ วินิจฉัยและได้รับการรักษาให้เร็วที่สุด โดยอัตราการหายขาดของผู้ป่วยที่อาศัยในประเทศรายได้สูง จะอยู่ที่ 80% ขณะที่อัตราการหายขาดในประเทศรายได้น้อยถึงปานกลางอยู่ที่ 20% เท่านั้น ซึ่งน่าจะมาจากการเข้าถึงการรักษาที่เหมาะสมทำได้ยากกว่า 

4 เนื้อร้าย ที่มักพบในเด็กไทย
ในแต่ละปีจะมีเด็กไทย 80 รายได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นมะเร็ง ซึ่งโรคนี้กลายเป็นสาเหตุแรกๆ ของการเสียชีวิตเลยทีเดียว... ส่วนชนิดของมะเร็งที่มักพบในเด็กไทย  พญ.ชญามน ทักษ์ประดิษฐ์ กุมารแพทย์ด้านโรคมะเร็งและโรคเลือดในเด็ก ศูนย์สุขภาพเด็ก รพ.พญาไท 3  ได้อธิบายว่ามี 4 ชนิด ดังนี้
• มะเร็งเม็ดเลือดขาวระยะเฉียบพลัน – พบมากเป็นอันดับ 1 หรือครึ่งหนึ่งของเด็กที่ป่วยเป็นมะเร็งเลยทีเดียว โดยเด็กจะมีอาการไข้ ซีด อ่อนเพลีย มีจุดจ้ำเลือดตามตัว ปวดตามร่างกายหรือกระดูก หากตรวจร่างกายแล้วพบว่าเด็กมีอาการตับโต เซลล์เม็ดเลือดผิดปกติ
• มะเร็งต่อมน้ำเหลือง – พบได้เป็นอันดับ 2 โดยเด็กจะมีไข้เรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ น้ำหนักลด อ่อนเพลีย มีก้อนแข็งใต้ผิวหนังหรือต่อมน้ำเหลืองโตตามร่างกาย
• มะเร็งสมองและระบบประสาท – พบได้บ่อยเป็นอันดับ 3  อาการที่แสดงขึ้นอยู่กับตำแหน่งของตัวโรคและชนิดของเซลล์มะเร็งว่าแบ่งตัวรวดเร็วหรือไม่ รวมถึงอายุของผู้ป่วยด้วย เด็กมักหาหมอด้วยอาการเดินเซ อาเจียน การมองเห็นผิดปกติ ปวดศีรษะ หรือชัก ขณะที่บางคนจะมีพัฒนาการช้ากว่าเกณฑ์
• มะเร็งต่อมหมวกไต (Neuroblastoma) – พบได้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ขวบ มักพบก้อนในช่องท้องร่วมกับอาการแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ไข้ ซีด อ่อนแรง ปวดตามร่างกายหรือกระดูก หรือมีก้อนแข็งนูนใต้ผิวหนัง โดยการดำเนินโรคค่อนข้างรวดเร็วและรุนแรง

รักษามะเร็งหายขาดแล้วอย่านิ่งนอนใจ เพราะเสี่ยง "โรคหัวใจ" มากกว่าเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่
หากได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ แล้วล่ะก็ เด็กคนนั้นก็สามารถหายขาดจากมะเร็งได้... ซึ่ง พญ.ชญามน ได้อธิบายไว้ว่า แม้ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันมะเร็งที่เกิดในเด็ก แต่ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งหัวใจหลักของการรักษามะเร็งในเด็กมี 3 วิธี คือ การให้ยาเคมีบำบัด (chemotherapy) การฉายแสง (radiation) และการผ่าตัด (surgery) ร่วมกับการดูแลป้องกันเรื่องการติดเชื้ออย่างถูกต้อง หากผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาดี ผู้ป่วยเด็กมีโอกาสหายขาดจากโรคได้สูงเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่

แต่เด็กที่หายจากมะเร็ง เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้วจะเสี่ยงโรคหัวใจล้มเหลวมากกว่าคนอื่นถึง 10 เท่า... ที่เป็นเช่นนี้ สมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (American Heart Association) ให้เหตุผลว่า เกิดจากกระบวนการรักษาโรคมะเร็งอย่างเคมีบำบัด ส่งผลให้อายุหัวใจเพิ่มมากขึ้นและยังกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาโรคหัวใจ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงโรคอ้วนและความดันโลหิตสูงมากกว่าคนอื่นด้วย

ทางที่ดีคือหมั่นสังเกตอาการของบุตรหลานในบ้าน ว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นหรือเปล่า หากพบแล้วก็อย่านิ่งนอนใจคิดว่าไม่เป็นอะไรมาก เพราะโรคมะเร็งในเด็ก ถ้าได้รับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วยวิธีการที่เหมาะสม ก็สามารถหายขาดได้เหมือนกันนะ 



 
-->