ภูมิแพ้กรุงเทพยังพอทน แต่ภูมิแพ้อากาศหนาวเอาอะไรมาไหว

อากาศเย็นๆ ช่วงนี้ เป็นสิ่งที่หลายคนชื่นชอบและเฝ้ารอ แต่รู้หรือเปล่าว่าสำหรับบางคนก็ไม่ใช่สิ่งที่อยากเจอเลย ก็เพราะเจอทีไรต้องมีอาการแพ้ที่ผิวหนัง คันยุบยิบ และกลายเป็นลมพิษตามมาทุกที แถมยิ่งตอนนี้ได้มีงานวิจัยโดยทีมแพทย์สเปน ที่นำโดย ดร.อิกนาซิโอ การ์เซีย-ดอวัล พบว่ามีอาการผื่นถึง 5 แบบที่สามารถเกิดกับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ก็เลยยิ่งทำให้เป็นกังวลจนต้องหาคำตอบเกี่ยวกับอาการ ภูมิแพ้อากาศหนาว หรือ ลมพิษจากความเย็น ให้ได้ ไม่อย่างนั้นคงไม่เป็นอันทำอะไร



ลมพิษจากความเย็นเป็นแบบนี้
ลมพิษจากความเย็น หรือ ลมพิษจากการสัมผัสความเย็น มีลักษณะเป็นผื่นลมพิษบริเวณผิวหนังเมื่อสัมผัสกับอากาศหนาวเย็น หรือทำกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น การว่ายน้ำ หรือการออกไปสัมผัสอากาศหนาวเย็นโดยไม่สวมใส่เสื้อกัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักมีอาการไม่รุนแรง เว้นในบางเคสที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น การทำกิจกรรมในน้ำเย็นที่ทำให้เกิดอาการเฉียบพลันที่เรียกว่า ภาวะอนาไฟแล็กซิส (Anaphylaxis) รวมถึงการเกิดผื่นลมพิษร่วมกับปัจจัยอื่นๆ เช่น การติดเชื้อ โรคภูมิคุ้มกันตัวเอง มะเร็งผิวหนัง กรรมพันธุ์ หรือการใช้ยาบางประเภทที่มีผลให้อาการกำเริบอย่างเฉียบพลัน 

ซึ่งอาการโดยทั่วไปมักจะเป็นผื่นแดง คัน เกิดอาการบวมแดงที่ฝ่ามือ ริมฝีปาก และคอหลังจากที่สัมผัสความเย็น โดยผู้ป่วยที่ว่ายน้ำท่ามกลางอากาศหนาวเย็นมักจะมีอาการรุนแรง ความดันโลหิตต่ำ จนอาจทำให้หน้ามืดเป็นลม หมดสติ หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น แขนและลำตัวบวม รวมถึงอาจเกิดการบวมบริเวณหนังตา ริมฝีปาก ลิ้น จนทำให้หายใจลำบากมีเสียงหวีดเวลาหายใจ แต่อาจจะแบ่งให้เฉพาะเจาะจงตามลักษณะอาการได้เป็น 4 ชนิด ดังนี้

1. ภาวะผื่นลมพิษที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ภายหลังจากการสัมผัสความเย็น 12 - 48 ชม. 
2. ภาวะผื่นลมพิษแบบเดอร์มาโทกราเฟีย (Dermatographia) เป็นลมพิษจากการสัมผัสความเย็นที่มีลักษณะเป็นรูปนูนตามรอยขีด ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อออกแรงกด หรือถูบนผิวหนังที่สัมผัสความเย็น 
3. ภาวะผื่นลมพิษโคลิเนอร์จิก (Cholinergic) เกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีการหลั่งสารโคลิเนอร์จิกส์ ซึ่งถูกกระตุ้นด้วยความเย็น ผู้ที่มีภาวะแพ้กลุ่มนี้จะเกิดผื่นเมื่อออกกำลังกายในสภาพอากาศเย็น แต่หากออกกำลังกายในสภาวะอากาศที่อุ่นแล้วยังเกิดลมพิษแสดงว่า เป็นภาวะลมพิษโคลิเนอร์จิกเพียงอย่างเดียว โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีอุณหภูมิมาเป็นตัวกระตุ้นร่วม
4. ภาวะผื่นลมพิษจากการสัมผัสความเย็นเฉพาะที่ ทำให้เกิดผื่นลมพิษบนผิวหนังบริเวณที่ห่างออกไปจากจุดที่สัมผัสความเย็นโดยตรง 



ป้องกัน รักษาไม่ให้ลมพิษมาก่อกวน
แม้ว่าโรคนี้จะไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่ก็สามารถป้องกันและรักษา ไม่ให้ลุกลาม ด้วยการ
  • ปรับอุณหภูมิแวดล้อมให้อบอุ่นพอดี
  • ควบคุมอาการแพ้ด้วยการกินยาก่อนออกไปสัมผัสความหนาวเย็น 
  • หลีกเลี่ยงการอาบน้ำเย็น หรือการว่ายน้ำ เพราะเมื่อลมหนาวมาปะทะร่างกายตอนตัวเปียก อาจทำให้อาการแพ้กำเริบรุนแรงเฉียบพลัน และนำไปสู่การจมน้ำได้
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่อบอุ่น และปกปิดมิดชิด หลีกเลี่ยงการสัมผัสสภาพอากาศที่เย็น 
  • ผู้ที่มีประวัติอาการแพ้รุนแรงควรพกยาฉีดอะดรีนาลีน (Adrenaline) ชนิดเข็มติดตัวไว้เสมอ
  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อลดโอกาสและความเสี่ยงที่อาการจะกำเริบ
  • ลดอาหารเย็นๆ เช่น ไอศกรีม และเครื่องดื่มเย็น
  • รักษาความสะอาดของร่างกาย และสิ่งของใกล้ตัวอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรค
  • เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันด้วยวิตามินซี และออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง จะช่วยให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

หากใครรู้ตัวว่าแพ้อากาศเย็นอยู่ก็ควรจะดูแลผิวเป็นพิเศษไม่ปล่อยผิวแห้ง โดยทาโลชั่นบำรุงผิวเป็นประจำทุกวัน และใส่เสื้อผ้าที่ให้ความอบอุ่นกับร่างกาย เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดการกำเริบของผื่น
-->