ภัยร้ายที่แฝงอยู่ใน ‘เขียง’

 
พอโควิดเริ่มกลับมาระบาดอีกรอบ วิญญาณความเป็นเชฟในตัวก็เหมือนจะโดนขุดขึ้นมาอีกครั้ง แต่ครั้งนี้บอกเลยว่าพร้อมมาก! ไม่ว่าจะเป็นแผนการตุนเสบียงอย่างเฉียบแหลม เซ็ตจานชามเข้าชุด รวมถึงอุปกรณ์เครื่องครัวที่ครบครัน หากพูดถึงอุปกรณ์ทำครัว แน่นอนว่าทุกบ้านจะต้องมีเขียงอย่างน้อย 1 อัน ไม่ว่าจะเป็นเขียงไม้หรือเขียงพลาสติก แต่ใครจะไปรู้ล่ะว่าเขียงที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน...อาจมีภัยร้ายแฝงอยู่ก็เป็นได้!


 
เขียงไม่ผิด แต่วิธีใช้เขียงแบบผิดๆ ต่างหากที่ก่อโรค
ผส.ดร.วรงค์ศิริ เข็มสวัสดิ์ จากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ทาง Mahidol Channel ว่าการใช้เขียงด้วยวิธีการผิดๆ สามารถก่อให้เกิดโรคได้ ยิ่งบ้านไหนที่เริ่มเตรียมอาหารจากการหั่นเนื้อสัตว์เป็นอันดับแรกแล้วต่อด้วยการหั่นผัก จะเป็นการถ่ายทอดเชื้อโรคจากเนื้อสัตว์มาสู่ผักหรือผลไม้ได้ ยิ่งถ้าผักหรือผลไม้นั้นไม่ได้ผ่านกระบวนการความร้อน มันก็จะกลายเป็นแหล่งปนเปื้อนของจุลินทรีย์และเข้าสู่ร่างกายของเรานั่นเอง 
 
การใช้เขียงอย่างต่อเนื่องทั้งวันโดยไม่ทำความสะอาดหรือพักเขียงเลย ก็มีโอกาสเสี่ยงเหมือนกัน ยกตัวอย่างเขียงไม้ในร้านข้าวมันไก่ที่ใช้เขียงเดิมสับไก่ตลอดทั้งวัน ตอนเช้าทานไม่เป็นไร แต่ตอนเย็นอาจมีอาการท้องเสีย เนื่องจากจุลินทรีย์บนเขียงมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างวัน จาก 10 ตัวในตอนเช้า อาจเพิ่มเป็น 1 ล้านตัวได้ในตอนเย็น
 
 
เสี่ยงตั้งแต่อาหารเป็นพิษ ยันเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
ซึ่งเชื้อที่จะมาแฝงอยู่ในเขียงนั้นมันก็ขึ้นอยู่กับประเภทอาหารที่เราเตรียมด้วย อย่างเนื้อสัตว์จะมีเชื้อโรคอย่างอีโคไลหรือซาลโมเนลลาซึ่งเป็นสาเหตุของโรคทางเดินอาหาร มีเชื้อลิสทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคลิสเทริโอซิส ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้เกิดการอักเสบในเยื่อหุ้มสมอง อันตรายกว่าโรคทางเดินอาหารที่อาจแค่ท้องเสีย ท้องร่วง ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน 
 
 
Photo by Conscious Design on Unsplash
 

เขียงไม้ VS. เขียงพลาสติก แบบไหนดีกว่ากัน?
เคยสงสัยมั้ยว่าเขียง 2 ประเภทนี้มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันยังไง นี่คือข้อมูลที่ผส.ดร.วรงค์ศิริ ได้ให้ไว้ซึ่งดูเหมือนว่าเขียงไม้แม้จะเป็นวัสดุธรรมชาติ แต่การดูแลรักษาความสะอาดนั้นทำได้ยากกว่า
 
    เขียงพลาสติก
ข้อดี: น้ำหนักเบา ราคาถูก หาซื้อง่าย และทนทาน
ข้อเสีย: ถ้ามีการสึกกร่อนของพลาสติกแล้วมีการปนเปื้อนลงไปในอาหาร อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ 
 
    เขียงไม้
ข้อดี: เป็นวัสดุธรรมชาติ เวลาสึกกร่อนจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายหากเราบริโภคเนื้อไม้เข้าไป 
ข้อเสีย: สึกกร่อนง่าย เนื้อไม้จะมีรูพรุนค่อนข้างมากจึงสะสมความชื้นและจุลินทรีย์ได้ง่ายกว่าเขียงพลาสติก ยิ่งเป็นเขียงไม้ที่เก็บไว้นานอาจมีเชื้อราเกิดขึ้นได้ ซึ่งเชื้อราเป็นจุลินทรีย์ทั่วไปที่ทำให้ท้องเสีย และบางตัวอาจมีฤทธิ์สร้างสารพิษอย่างเช่นแอฟลาท็อกซินเป็นต้น 
 
 
ใช้เขียงยังไงให้ถูกวิธี? 
แนะนำว่าระหว่างที่มีการใช้งานเขียง หากมีการเปลี่ยนประเภทอาหารอย่างเช่นจากเนื้อสัตว์มาเป็นผัก ผลไม้ ให้ล้างหรือเช็ดเขียงให้สะอาดก่อน เมื่อใช้เขียงเสร็จแล้วต้องล้างให้สะอาดมากๆ โดยใช้น้ำยาล้างจานคู่กับสก๊อตช์ไบรต์ ไม่ควรใช้ฝอยขัดหม้อเพราะจะทำให้เกิดร่องบนเขียงได้ จากนั้นก็นำไปผึ่งให้แห้ง หากเป็นเขียงไม้ควรนำไปตากแดดอาทิตย์ละ 1-2 ครั้ง และควรเปลี่ยนเขียงใหม่เมื่อเริ่มมีรอยแยกหรือมีร่องลึก
 
หลายคนคงเคยเห็นพ่อค้า-แม่ค้าชอบปักปังตอลงบนเขียง ผส.ดร.วรงค์ศิริระบุว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่ควรทำ เพราะจะเป็นการสร้างร่องซึ่งเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค ซึ่งอาจมีการถ่ายทอดไปสู่อาหารเมื่อมีการสัมผัสโดนเขียง และเมื่อเรากินเข้าไปก็จะได้รับเชื้อที่ก่อโรคทางเดินอาหารได้นั่นเอง 


 
-->