ฟังแล้วต้องอึ้ง! เมื่อผลวิจัยบอกว่า 'ขอบขนมปัง' มีส่วนช่วยป้องกันมะเร็งได้
ไหนๆ เวลากินขนมปังแผ่น...ใครชอบแอบตัดขอบขนมปังทิ้งบ้าง? เราอยากจะบอกว่าขอบขนมปังที่หลายคนโยนเป็นอาหารให้ปลากินนั้น เขามีการศึกษามาแล้วว่า มีสารประกอบที่ช่วยป้องกันมะเร็งได้! เอ๊ะ ทำไมนักวิจัยเขาถึงสรุปผลการศึกษาแบบนั้น เรามาดูพร้อมๆ กัน...
เคยสงสัยมั้ย? สีน้ำตาลของขนมปังเกิดขึ้นได้อย่างไร
ถ้าพูดถึงขอบขนมปัง เราก็ต้องนึกถึงส่วนที่เป็นสีน้ำตาล เอ๊ะ! แล้วทำไมขอบขนมปังถึงไม่เป็นสีขาวเหมือนกับเนื้อขนมปังนุ่มๆ ตรงกลางแผ่น นั่นก็เพราะว่า...ขั้นตอนในการอบขนมปังจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาที่เรียกว่า เมลาร์ด (Maliiard reaction) เป็นปฏิกิริยาที่เกิดจากกรดอะมิโนแอล-ไลซีน แป้ง และน้ำตาล ที่ทำให้เกิด “สารไพรนิลไลซีน” ซึ่งนี่แหละ! คือตัวการที่ทำให้ผิวหน้าของขนมปังกลายเป็นสีน้ำตาล
“ขอบขนมปัง” ส่วนนี้นี่แหละ...มีประโยชน์
สารโพรนิลไลซีนไม่เพียงแค่ทำให้ขอบขนมปังของเราเป็นสีน้ำตาลเท่านั้นนะ แต่สารชนิดนี้ยังเป็น “สารต้านอนุมูลอิสระ” ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย สอดคล้องกับงานวิจัยของ Dr. Thomas Hofmann ที่มีการค้นพบว่า...ส่วนของขอบขนมปังที่เป็นสีน้ำตาลจะมีสารต้านอนุมูลอิสระ อย่าง สารโพรนิลไลซีน มากกว่าขนมปังส่วนที่เป็นเนื้อสีขาวมากถึง 8 เท่า เลยทีเดียว
ในการทดสอบไม่เพียงค้นพบว่าขอบขนมปังอุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ แต่นักวิจัยยังได้มีการทดสอบกับเซลล์ลำไส้ของมนุษย์ และพบว่าสารโพรนิลไลซีนสามารถเพิ่มระดับของเอนไซม์บางชนิดที่มีส่วนช่วยในการป้องกันมะเร็งได้อย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย
รู้มั้ย? ขนมปังก้อนเล็ก...สารต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าขนมปังก้อนใหญ่
ยัง...ผลการศึกษายังไม่จบเพียงแค่นั้น! แต่ Dr. Thomas Hofmann ยังมีการค้นพบอีกว่า สารต้านอนุมูลอิสระนี้จะเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้นหากขนมปังที่นำไปอบมีขนาดเล็ก เพราะขนมปังชิ้นเล็กจะทำให้มีพื้นผิวในการเกิดปฏิกิริยาเมลาร์ดได้มากกว่าขนมปังที่เป็นก้อนใหญ่ๆ หรือเป็นปอนด์
แม้ว่าขอบขนมปังสีน้ำตาลจะอุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ แต่ Dr. Thomas Hofmann ก็บอกว่า การอบในอุณหภูมิที่สูงจนขนมปังเกิดสีน้ำตาลเข้มเกินไป ก็จะกลายเป็นการลดระดับสารต้านอนุมูสอิสระแทนได้เหมือนกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.webmd.com/balance/news/20021108/stuffing-rich-in-antioxidants