พฤติกรรม (ต้อง) ห้ามทำ...ของพ่อแม่ รีบแก้ซะก่อน (ลูก) มีปัญหา

“เด็กมีปัญหาๆๆ” ที่ร้องเพลงนี้ขึ้นมาไม่ใช่ว่าหาแฟนไม่ได้หรอกนะ แต่แค่จะบอกว่าพ่อแม่ที่ชอบโทษลูกว่าเป็นเด็กมีปัญหา บางทีก็ไม่ได้เกิดที่ตัวเด็ก แต่เป็นที่ (พฤติกรรม) พ่อแม่เองนี่แหล่ะที่ทำให้เด็กมีปัญหา ยืนยันได้จากผลงานวิจัยของดอกเตอร์หมิง ที หวัง รองศาสตราจารย์วิชาจิตวิทยาการศึกษา ของมหาวิทยาลัยพิตต์เบิร์ก สหรัฐอเมริกา บอกว่าพ่อแม่ที่ชอบตะคอก ระเบิดอารมณ์ หรือเลี้ยงลูกด้วยอารมณ์นี่แหละที่จะเป็นเหตุทำให้ลูกมีปัญหา แล้วงี้จะมีพฤติกรรมอะไรอีกมั้ยนะที่พ่อแม่เผลอทำ จนเป็นเหตุให้ (ลูก) มีปัญหา



#ให้ลูกเจอปัญหา (บ้าง) อย่าเพิ่งรีบโอ๋
เสียงร้องของลูกเป็นเพลงเศร้าที่น่าปวดใจของพ่อแม่จริง แต่ก็ใช่ว่าถ้าลูกร้องเมื่อไหร่แล้วจะต้องรีบเข้าไปโอ๋ เพราะอย่างที่รู้อยู่ว่า “ผิดเป็นครู” ฉะนั้นถ้าจะปล่อยให้ลูกเรียนรู้ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นบ้างก็ไม่น่าจะเป็นอะไร ลองปล่อยให้ลูกน้อยพยายามทำอะไรด้วยตัวเอง จะผิดบ้างถูกบ้างเขาจะได้ค่อยๆ เรียนรู้ไปด้วยตัวเอง เพราะถ้าขืนยื่นมือเข้าไปอุ้มหรือคอยช่วยอยู่บ่อยๆ ลูกน้อยอยู่บ่อยๆ ก็จะเคยชิน จนไม่คิดพยายามทำอะไรด้วยตัวเอง และเมื่อทำแล้วเกิดความผิดพลาด ถ้าไม่ใช่เรื่องหนักหนา ก็ค่อยเข้าไปแนะนำ ส่วนถ้าเป็นเรื่องระเบียบวินัยหรือความรับผิดก็อาจต้องใช้เวลาฝึกฝนบ่อยๆ จนลูกน้อยซึมซับ รับรู้ และเข้าใจหน้าที่ของตัวเองในที่สุด 

#ปล่อยให้ระเบิดอารมณ์เต็มคาราเบล
จริงอยู่ว่าพ่อแม่ควรปล่อยให้ลูกเจอปัญหา อย่าเพิ่งรีบเข้าไปช่วยเหลือ ก็ไม่ได้แปลว่าเห็นลูกร้องแล้วจะปล่อยเฉยให้หยุดไปเอง แบบนั้นก็ดูเป็นพ่อแม่ที่ใจร้ายไปหน่อย หรือจะให้ไปโอ๋ก็อาจจะทำให้ลูกสงบลงได้ แต่ก็ทำให้ไม่ได้พัฒนา EQ ทางที่ดีพ่อแม่ควรจะสอนให้ลูกทำความเข้าใจกับอารมณ์ของตัวเองในเวลานั้น แล้วค่อยๆ สอนให้เขาเรียนรู้การรับมือจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้น เพื่อที่เมื่อเขาโตขึ้นจะได้เข้าใจและรับมือกับอารมณ์ที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นได้



#อย่าเอาความคิด (ลบ) มาลงที่ฉัน
ลูกคุณอาจกำลังร้องเพลงนี้ โดยเฉพาะเวลาที่คุณพูดกับเขาด้วยเรื่องราวที่เป็นเชิงลบ ถึงต่อจะให้เป็นเรื่องจริงก็เถอะ แต่บางครั้งลูกก็ยังเด็กเกิดกว่าที่จะทำความเข้าใจและแยกแยะได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณปฏิเสธที่จะซื้อของให้ลูกตามคำขอ โดยบอกเหตุผลว่าที่บ้านไม่มีเงินพอที่จะซื้อของชิ้นนั้น ซึ่งในมุมของพ่อแม่อาจมองว่าเป็นการสอนให้ลูกเรียนรู้และอยู่กับความเป็นจริง ซึ่งก็เป็นเรื่องดีอันนี้ไม่เถียง เพียงแต่ยังไม่ถึงเวลาที่เขาจะต้องรับรู้มากกว่า เพราะฉะนั้นพ่อแม่ควรที่จะใช้เหตุผลอื่น แล้วค่อยๆ สอนให้เขาเรียนรู้อยู่กับสถานการณ์ปัจจุบัน แล้วถ้าถึงเวลานั้นเขาจะเข้าใจ

#กดดัน เปรียบเทียบควรหยุด
เป็นธรรมดาที่ใครๆ ก็อยากให้ลูกได้ดี แต่อย่าลืมว่าความคาดหวังนั้นเป็นผลพวงที่ทำให้คุณเผลอหรือทำพฤติกรรมกดดันลูกอยู่หรือเปล่า แม้จะเป็นความหวังดี แต่ถ้าไม่ใช่วิธีที่ถูกก็จะทำให้ลูกกดดัน ขาดความมั่นใจ จนไม่มีความกล้าที่จะทำอะไร เพราะกลัวผลที่ออกมาจะดีไม่พอ ยิ่งถ้าชอบเอาลูกไปเปรียบเทียบกับบ้านอื่นด้วยนี่ต้องหยุดก่อนเลย เพราะนอกจากจะไม่ทำเกิดผลดีแล้ว ยังเป็นการสร้างแผลในใจให้ลูกเพิ่มยิ่งขึ้นไปอีก

#ลงโทษอย่างรุนแรง
ธรรมชาติของเด็กก็ต้องมีดื้อ มีซนเป็นเรื่องปกติ เพราะฉะนั้นเวลาที่เห็นลูกทำผิด พ่อแม่ก็ต้องว่ากล่าวตักเตือน โดยเริ่มจากระดับเบาก่อนค่อยไล่ขึ้นไปหนักขึ้น ถ้ามีการทำผิดซ้ำ หรือเป็นการทำผิดที่รุนแรงขึ้น ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องทำโทษด้วยการตีเสมอไป เพราะการทำโทษด้วยการลงไม้ลงมือ ดุด่าด้วยถ้อยคำรุนแรง อาจทำให้เด็กเลิกทำพฤติกรรมนั้นๆ ได้ก็จริง แต่ก็อาจทิ้งร่องรอยไว้ในความรู้สึกนึกคิด และเป็นการปลูกฝังความรุนแรงให้กับเด็กโดยที่พ่อแม่อาจไม่รู้ตัว  


เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากเป็นพ่อแม่รังแกฉัน ก็ต้องเลิกทำพฤติกรรมที่ว่ามานี้กันเถอะ
-->