ผู้ชายมีโอกาสหัวล้านมากกว่าผู้หญิง จริงมั้ย?
ว่าด้วยเรื่องของผมร่วง ศีรษะล้าน เป็นเรื่องน่ากลุ้มใจของชาวเรา หลายคนมักมีคำถามมากมายว่า เอ๊ะ! ระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงใครมีโอกาสหัวล้านมากกว่ากัน? เดี๋ยวเราจะหาคำตอบให้กับทุกคนได้รู้ไปพร้อมๆ กัน# หัวล้านเกิดขึ้นได้อย่างไร
‘หัวล้าน’ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพันธุกรรม ที่อาจมีคนในครอบครัวเราเป็นมาก่อนหน้านี้ เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย ซึ่งถูกถ่ายทอดมาผ่านพันธุกรรมนั่นเอง ซึ่งในประเทศไทยนั้นมักพบอาการผมร่วง ผมบาง ที่ส่งต่อทางพันธุกรรมในผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 18-90 ปี นอกจากนี้ยังมีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เกี่ยวข้องด้วยได้เช่นกัน อย่าง การใช้ยาบางชนิด การขาดสารอาหาร ความเครียด การสูบบุหรี่จัด การใช้สารเคมีดูแลเส้นผม แสงแดด มลภาวะ และอื่นๆ อีกมากมาย
รศ.ดร.พญ.รัชต์ธร ปัญจประทีป เผยสถิติว่าคนไทยประสบปัญหาผมบาง ผมร่วง ศีรษะล้าน สูงถึงร้อยละ 40 และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ด้วยสภาพแวดล้อมปัจจุบัน ทั้งความเครียด สภาพอากาศ และโภชนาการที่ไม่เหมาะสม
# ตัวแปรสำคัญของคุณผู้ชาย
น่าแปลกมากที่เราเดินไปที่ไหนก็ตาม มักเห็นคนหัวล้านเป็นผู้ชาย เลยทำให้เราคิดตามๆ กันไปว่า คนที่หัวล้านต้องเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิงแน่นอน ซึ่งตามหลักการก็ไม่ผิด เพราะเป็นเรื่องของฮอร์โมนเพศชายนั่นเอง ต้องเล่าก่อนว่า ฮอร์โมนเพศชายที่มีชื่อว่า ’เทสโทสเตอโรน’ ฮอร์โมนนี้มีอยู่ในกระแสเลือดทั่วทั้งร่างกายและศีรษะ และถูกเปลี่ยนเป็นฮอร์โมนชายที่ชื่อ DHT (Dihydrotestosterone) มีอยู่ในเซลล์เส้นผม ซึ่งส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเส้นผมผู้ชาย ทำให้ผมร่วงและยับยั้งการสร้างเส้นผมใหม่ ถึงแม้ว่าผมจะขึ้นมาใหม่แต่สุดท้ายมันก็จะร่วงและตายไปในที่สุด แต่ก็ไม่ใช่ผู้ชายทุกคนจะหัวล้านนะ เพราะจะต้องเกิดขึ้นทั้ง 2 ปัจจัยพร้อมกัน คือการมีฮอร์โมนเพศชายและการมียีนส์ด้อย ผมร่วง ศีรษะล้านนั่นเอง
# ทางเลือกของการรักษาอาการผมร่วง ผมบาง ศีรษะล้าน
การรักษาหนังศีรษะให้กลับมามั่นใจได้อีกครั้ง มีด้วยกันหลากหลายวิธี ซึ่งถือเป็นความท้าทายอันยิ่งใหญ่ของวงการแพทย์ด้านหนังศีรษะ เพราะอาการผมร่วง ผมบาง ศีรษะล้านที่เกิดขึ้นจากกรรมพันธุ์นั้นอาจจะรักษาให้หายขาดค่อนข้างยาก ซึ่งโดยทั่วไปจะรักษาด้วยการกินยา ทายา หรือการผ่าตัดปลูกผม หรืออย่างล่าสุดก็มีการรักษาทางเลือกสำหรับคนที่ประสบปัญหานี้ก็คือ การรักษาด้วยเลเซอร์ความเข้มข้นต่ำ
แต่ละวิธีจะมีขั้นตอนการรักษาอย่างไร และเหมาะกับใครนั้น มาดูกัน
1.การทานยาที่มีชื่อว่า ‘Finasterride’ ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ ทำให้ระดับฮอร์โมน DHT ที่หนังศีรษะลดลง มีผลโดยตรงกับการหลุดร่วงและกระตุ้นการงอกใหม่ของเส้นผม โดยอาจจะต้องกินติดต่อกัน 6 เดือน จึงจะเห็นผลที่ชัดเจน ผลข้างเคียงของยาชนิดนี้คือ อาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศและมีความต้องการทางเพศน้อยลง
2.การทายาเฉพาะที่ ‘Minoxidil’ เป็นยาชนิดทา มี 2 แบบคือ เป็นแบบหยดและแบบสเปรย์ มีผลช่วยกระตุ้นการงอกของเส้นผม ซึ่งวิธีใช้นั้นก็ไม่ยาก คือหลังจากทำความสะอาดศีรษะแล้วเช็ดให้แห้ง ทาในตำแหน่งที่มีปัญหาผมร่วง ผมบาง วันละ 2 ครั้ง โดยจะเห็นผลการรักษาหลังจากเริ่มใช้ยาแล้วประมาณ 6 เดือน แต่หากหยุดใช้ยา อาการผมร่วงก็อาจจะกลับมาอีกครั้งได้ ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นเมื่อใช้ยาชนิดนี้คือ อาการระคายเคืองผิวหนัง ผื่นแพ้สัมผัส หรือมีขนขึ้นบริเวณใบหน้าของเราได้
3.การปลูกผมถาวรแบบ FUT เป็นการปลูกผมที่ถือเป็นเทคนิคมาตรฐานที่ใช้สากลกันอยู่ทั่วโลก โดยลักษณะการปลูกผมแบบ FUT คือการนำเอารากผมที่แข็งแรงนำไปไว้ทดแทนในตำแหน่งที่มีปัญหานั่นเอง ซึ่งก่อนการปลูกผม หมอผู้เชี่ยวชาญจะทำการตรวจวัดปริมาณพื้นที่ ที่เราต้องการปลูก เราใช้หน่วยการวัดเป็น ‘กราฟ’ ข้อดีคือ การปลูกผมไม่ยุ่งยาก ไม่ใช้ยาสลบ ใช้เพียงยาชาในบริเวณที่ต้องการทำการปลูกย้ายเซลล์รากผมเท่านั้น ผลลัพธ์ที่ได้ค่อนข้างชัดเจนและเห็นผลดีคือ มีความปลอดภัย ใช้เวลาในการทำไม่นาน ซึ่งเหมาะกับคนที่ศีรษะมีพื้นที่ที่มีปัญหาเยอะๆ ข้อเสียคือ มีแผลเป็นแนวยาวที่ได้มาจากการผ่าตัด
4.การปลูกผมถาวรแบบ FUE เป็นการปลูกผมแบบย้ายเซลล์รากผมไปปลูกในบริเวณที่เราต้องการ ใช้ผมบริเวณท้ายทอยหรือสามารถใช้เส้นขนบริเวณอื่นๆ มาใช้ทดแทนได้ด้วย เช่น หนวด เครา ขนหน้าอก เป็นต้น ซึ่งวิธีนี้ถือว่ามีความประณีตสูงมาก ข้อดีก็คือ ไม่มีแผลเย็บ ไม่ทิ้งรอยแผล เพราะว่ารอยแผลมีขนาดเท่ากับรูขุมขนเลย ส่วนข้อเสียก็คือ สามารถทำได้ในปริมาณน้อยๆ ไม่เกิน 2,500 กราฟ เหมาะกับคนที่มีปัญหาเฉพาะจุดและใช้เวลาในการปลูกนานกว่ารูปแบบ FUT
5.การรักษาด้วยเลเซอร์ความเข้มข้นต่ำ การรักษารูปแบบนี้ถือเป็นการรักษารูปแบบใหม่ที่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับผู้ที่มีปัญหาผมร่วง ผมบาง ศีรษะล้าน โดยแบ่งเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่
- หมวกหรือหวีเลเซอร์ปลูกผม เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่สามารถใช้เองได้ที่บ้าน พกพาสะดวก โดยอุปกรณ์เสริมมีลักษณะเป็นหมวกหรือหวีปลูกผมที่ปล่อยแสงเลเซอร์สีแดง เพื่อไปกระตุ้นการทำงานของเชลล์สร้างรากผมแบบเบาๆ เหมาะกับคนที่มีปัญหาผมร่วง ผมบาง ระยะเริ่มต้นไปจนถึงระดับปานกลาง สามารถทำติดต่อกัน 15-20 นาทีต่อวัน จะทำให้เส้นผมและรากผมแข็งแรงขึ้น ลดผมร่วง เกิดเส้นผมใหม่และเส้นผมหนาขึ้น
- แสงเลเซอร์พลังงานต่ำ เป็นการปรับเปลี่ยนเลเซอร์ที่ใช้ในการกำจัดขนส่วนเกินต่างๆ ให้เป็นเลเซอร์พลังงานต่ำ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นรากผมทั่วหนังศีรษะ เหมาะกับผู้ป่วยที่มีภาวะผมร่วง ผมบางในระยะเริ่มต้น แต่จะไม่เหมาะกับคนที่มีอาการมากหรือหนังศีรษะล้านแล้ว ซึ่งควรทำเลเซอร์ต่อเนื่อง ไม่ต่ำกว่า 5 – 10 ครั้ง ห่างกันทุก 2 สัปดาห์ โดยระยะเวลาที่เริ่มเห็นผล คือ 5 ครั้งหลังจากเริ่มทำเลเซอร์ และจะเห็นผลชัดเจน 3 เดือนหลังจากทำการรักษาด้วยเลเซอร์แล้ว คนไข้มีผมงอกใหม่ เส้นผมแข็งแรงขึ้น
สุดท้ายนี้ไม่ว่าจะใช้การรักษาหนังศีรษะด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเส้นผมและหนังศีรษะ เพื่อความปลอดภัยในการรักษาตามคำวินิจฉัยโดยแพทย์ ซึ่งจะได้ผลลัพธ์ที่ดีตามความต้องการของเรามากที่สุด