ปักหมุด! โรคที่เด็กๆ ต้องระวังช่วงหน้าฝน

ฝนตกอีกแล้ว คืนนี้คงหนาวกว่าคืนไหนไหน…. เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวฝนแบบนี้ เล่นเอาภูมิคุ้มกันสับสนไม่ใช่เล่น ผู้ใหญ่อย่างเรายังพาลเอาฟึดฟัดอยู่บ่อยๆ นับประสาอะไรกับเด็กที่ภูมิคุ้มกันยังอ่อนต่อโลก (โรค) นัก มาๆ ในช่วงฟ้าครึ้มๆ ฝนพรึมพรำแบบนี้ Tiny Talk ก็เลยอยากจะชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำความเข้าใจความเสี่ยงกับโรคยอดฮิตของลูกน้อยในหน้าฝนกัน รู้เขา รู้เรา เตรียมพร้อมไว้ก็รับมือโรคได้อย่างมืออาชีพ



#โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
โรคฮิตประจำปี ที่ขยันอัพเดทสายพันธุ์อย่างไม่หยุดหย่อน ส่วนใหญ่ก็จะทำให้ลูกน้อยมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดเมื่อยตามตัว ไอ ระคายเคืองที่คอ มีน้ำมูก คัดแน่นจมูก เป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่ายโดยเฉพาะในวัยเรียน แต่วัยก่อนเข้าเรียนก็เสี่ยงไม่แพ้กัน แถมยิ่งอายุน้อย ยิ่งต้องระมัดระวังอาการแทรกซ้อนเป็นพิเศษ ในกรณีที่ลูกยังไม่สามารถสื่อสารอาการที่เป็นได้ ให้สังเกตการหายใจของลูก ว่าหน้าอกมีการกระเพื่อมแรงกว่าปกติหรือไม่ มีเสียงหวีดๆ ตามจังหวะหายใจหรือไม่ รวมไปถึงการทานน้ำและนมว่าทานได้น้อยลงไหม หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อลดความเสี่ยง และด้วยความขยันพัฒนาสายพันธุ์ จึงแนะนำให้เข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี โดยสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป ก็จะช่วยลดความรุนแรงของโรค และลดโอกาสเสี่ยต่อภาวะแทรกซ้อนได้กว่า 80% เลยทีเดียว

#โรคมือเท้าปาก
เกิดจากการติดเชื้อไวรัส (Enterovirus 71, Coxsackie) พบบ่อยในเด็กเล็ก 6 เดือนถึง 3 ปี โดยเมื่อติดเชื้อลูกจะเริ่มมีไข้ต่ำๆ แต่จุดสังเกตสำคัญคือ มีผื่น มีตุ่มน้ำใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า มีแผลในปาก กระพุ้งแก้ม ลิ้น เหงือก บางรายอาจมีผื่นที่ขาและก้นร่วมด้วย มักจะติดต่อผ่านทางการไอ จาม น้ำลาย รวมไปถึงอุจจาระ โรคนี้มักจะทำให้ลูกทานอะไรไม่ค่อยได้เพราะแผลในปาก จึงอาจทำให้เสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำได้ ส่วนใหญ่อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นใน 7-10 วัน 

#โรค RSV
โรคนี้ก็คล้ายกับอาการของไข้หวัด แต่ความน่ากลัวอยู่ตรงที่ไวรัสชนิดนี้สามารถทำให้ทางเดินหายใจ หลอดลม ปอดอักเสบได้ หากเมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกเริ่มมีไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส ไอมากจนอาเจียน หายใจเร็วหอบจนชายโครงหรืออกบุ๋ม หายใจออกลำบากหรือหายใจมีเสียงวี้ด ทานอาหารหรือนมได้น้อยลง ซึมลง แล้วละก็ ควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด อีกสิ่งสำคัญที่ต้องรู้ก็คือ โรคนี้ยังไม่มียารักษา ทำได้เพียงการรักษาตามอาการ แต่ส่วนใหญ่เด็กๆ จะมีอาการดีขึ้นใน 1-2 สัปดาห์ แต่ก็สามารถเป็นซ้ำได้เมื่อร่างกายอ่อนแอ ดังนั้นหมั่นล้างมือให้ลูก หลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งของร่วมกับผู้อื่น ก็จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงลงได้

#โรคไข้เลือดออก
โรคนี้ที่มี “ยุงลาย” ตัวร้าย เป็นพาหะ อาการที่สังเกตง่ายที่สุดก็คือ มีไข้สูงติดต่อกัน 3 วันขึ้นไป ดวงตาและใบหน้าเริ่มแดง และอาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย โดยเฉพาะตรงบริเวณชายโครงด้านขวา เนื่องจากไข้เลือดออกสามารถทำให้เกิดภาวะตับอักเสบขึ้นได้ วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ พยายามอย่าให้ยุงกัด ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์กันยุงหลากหลายชนิด สารพัดแบรนด์ที่สามารถใช้ได้ตั้งแต่แรกเกิด มีติดบ้านไว้ อุ่นใจกว่าแน่นอน หรือหากอยากเสริมความมั่นใจให้ชัวร์ก็มีวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ที่สามารถลดความรุนแรงของโรคได้กว่า 90%  และลดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ขวบขึ้นไป โดยฉีดทั้งหมด 3 เข็ม ห่างกันเข็มละ 6 เดือน



#โรคอีสุกอีใส
โรคยอดฮิตตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ที่ต้องระวังมายังรุ่นลูก โรคนี้คือติดต่อกันง่ายมาก โดยเฉพาะในวัยเรียน ลูกติดจากเพื่อน พี่เอามาติดน้อง เป็นทอดกันไป อาการที่เด่นชัดก็คือ มีผื่นขึ้น ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นตุ่มน้ำใสเกิดขึ้นตามตัว โดยเริ่มจากบริเวณท้อง ลามไปตามต้นแขน ขา และใบหน้า หลังจากนั้นจะเกิดเป็นสะเก็ดและแผลเป็นขึ้นได้ มักหายได้เองภายใน 2 - 3 สัปดาห์ ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ซึ่งมีประสิทธิภาพค่อนข้างดี เริ่มฉีดในเด็กตั้งแต่ 1 ขวบเป็นต้นไป และฉีดกระตุ้นอีกครั้งตอน 4 ขวบ

#โรคท้องเสียหรืออุจจาระร่วง
หรือที่แม่ๆ คุ้นหูกันว่า “โรต้าไวรัส” ฮอตฮิตแค่ไหน ตอบได้จากงานวิจัยที่พบว่าในเด็กแรกเกิดถึงอายุ 5 ขวบแทบทุกคนจะเคยติดเชื้อนี้มาแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษโดยเฉพาะในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ขวบ เพราะเป็นช่วงวัยที่กำลังหัดหยิบจับสิ่งของ อาจจะเผลอสัมผัสเชื้อเข้าปากโดยไม่รู้ตัว ซึ่งไวรัสชนิดนี้จะเข้าไปก่อให้เกิดการอักเสบในกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้เกิดอาการท้องเสีย อาเจียน เบื่ออาหาร ทานน้ำทานนมน้อย เสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำรุนแรงได้ ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่จะมีการหยอดวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าให้เด็กเล็กตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป โดยมี 2 ประเภท คือแบบให้ 2 ครั้ง และแบบให้ 3 ครั้ง เลยช่วยให้พ่อแม่อย่างเราสบายใจว่าอย่างน้อยก็มีเกราะป้องกันโรคไว้ประมาณนึง

#โรคไอพีดีและปอดบวม
เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อ “นิวโมคอคคัส” ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และปอดบวมได้ เป็นโรคที่มีความรุนแรงมากในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ เชื้อ IPD สามารถติดต่อผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย คล้ายโรคหวัด แต่น่ากลัวกว่าตรงที่เชื้อชนิดนี้จะมีชีวิตอยู่ภายในอากาศได้นานกว่าปกติ หากลูกน้อยติดเชื้อโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ การติดเชื้ออาจทำให้พิการหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยทีเดียว คุณพ่อคุณแม่จึงควรระวังอย่าให้ลูกโดนฝนหรืออย่าพาไปในที่ที่มีคนเยอะๆ โดยไม่จำเป็น
-->