ปอดบวม...รวมหลากวิธีดูแลตัวเอง
“ฝนตั้งเค้าอีกแล้ว” เพลงฮิตติดเพลย์ลิสต์ประจำซีซั่น ที่นอกจากเรื่องของฝนฟ้าแล้ว ยังจะมีโรคภัย ที่ไม่ใช่แค่โรคหวัดต่อคิวกันเข้ามา ถ้าหากว่าไม่ดูแลตัวเองให้ดี เพราะได้มีข้อมูลจากรายงานการเฝ้าระวังโรค สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขบอกไว้ว่าปัจจุบันสถานการณ์ “โรคปอดบวม” ที่ไม่รวมการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยในปี 2564 พบผู้ป่วย 125,129 ราย โดยพบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป ตามด้วยกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เพราะแบบนี้ไงถึงต้องให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเอง เพื่อที่ซีซั่นนี้...หรือซีซั่นไหน ก็จะได้รอดปอดบวม = ปอดอักเสบ?
ปอดบวม หรือ ปอดอักเสบ เป็นโรคหนึ่งที่มาพร้อมกับฤดูฝน และฤดูหนาว พบได้กับทุกวัย ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงสูงอายุ แต่ตามสถิติแล้ว โรคปอดบวม ถือได้ว่าเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และยังเป็นชนิดของปอดอักเสบที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเชื้อโรคที่เข้าสู่ปอดและทำให้เกิดการอักเสบของถุงลมปอดและเนื้อเยื่อโดยรอบ ได้แก่ เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา เชื้อที่พบจะแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มอายุ และสภาพแวดล้อมที่เกิดโรค ซึ่งอาการที่สำคัญ คือ มีไข้ ไอ เจ็บหน้าอก และหอบเหนื่อย โดยอาจไม่จำเป็นจะต้องเป็นครบทุกอาการ แต่ส่วนใหญ่มักมีอาการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนต้น หรือโรคหวัดนำมาก่อน หลังจากนั้นจึงมีอาการไอ และหายใจหอบตามมา รวมถึงบางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ ปวดท้อง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน รวมอยู่ด้วย
ปอดบวมกับอาการแทรกซ้อนที่ (อาจ) ตามมา
ภาวะแทรกซ้อนของปอดบวมโดยส่วนใหญ่จะเกิดในกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือผู้ที่มีสภาพร่างกายอ่อนแอ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ได้
- ฝีในปอด ส่วนใหญ่จะเกิดจากการติดเชื้ออย่างรุนแรง โดยมีการทำลายเนื้อปอดจนเกิดเป็นโพรง
- เชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย จนเชื้อแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดและไปตามอวัยวะอื่นๆ จนอาจเป็นที่มาของอาการอักเสบที่เยื่อหุ้มสมอง เยื่อบุหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ หรือมีอาการข้ออักเสบ
- เกิดของเหลวที่ก่อตัวขึ้นบริเวณระหว่างชั้นของเนื้อเยื่อปอดและภายในช่องอก หรือที่เรียกว่าน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด
- ถ้าหากเป็นปอดบวมขั้นรุนแรง หรือขั้นเรื้อรัง ก็อาจทำให้มีปัญหาเรื่องการหายใจ เนื่องจากออกซิเจนไม่เพียงพอจนอาจทำให้ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
- หลอดลมพอง ทำให้เกิดอาการไอเรื้อรัง และมีเสมหะเป็นจำนวนมาก
ป้องกัน รักษา อย่าปล่อยให้...ปอดบวม
สำหรับผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อจะสามารถดูแลและป้องกันตัวเองได้ด้วยการ...
- ไม่อยู่ในที่แออัด
- หลีกเลี่ยงควันไฟ หรือควันบุหรี่
- ดูแลให้ความอบอุ่นร่างกายอยู่เสมอ
- กินอาหารที่มีประโยชน์ ให้ครบ 5 หมู่
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรค โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงอย่าง เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงวัยที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือผู้ที่ผ่าตัดม้าม
นอกจากนี้ในส่วนของการรักษานั้นจะต้องขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อที่ผู้ป่วยได้รับ และความรุนแรงของอาการ โดยแบ่งการรักษาออกเป็น
- การรักษาตามอาการทั่วไป
- โรคปอดบวมที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จะรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ มักใช้ในผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง และไม่มีอาการแทรกซ้อน
- การรักษาปอดบวมที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักหายได้เองภายใน 1-3 สัปดาห์ แต่หากอาการไม่ดีขึ้น อาจมีอาการรุนแรงหรือรุนแรงมาก เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
ถึงยังไง ปอดบวม ก็ยังพอรับมือไหว แต่ถ้า ปลอด (ปอด) ใครมารัก นี่งานยากนะ...บอกเลย!