ปวดหัวแบบนี้ ร่างกายกำลังบอกอะไรอยู่นะ
อาการปวดหัวเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุมาก ทั้งความเครียด ไมเกรน ไปจนถึงเนื้องอกในสมอง หรือโรคหลอดเลือดในสมอง แต่เราจะรู้ได้ยังไงว่าอาการปวดแบบนี้... มีสาเหตุมาจากอะไร? วันนี้เรามีข้อมูลจากศูนย์ระบบประสาท สมองและไขสันหลัง โรงพยาบาลพญาไท 2 มาดูลักษณะของอาการปวดหัวแต่ละแบบ พร้อมเช็คอาการของตัวเองเบื้องต้นกันก่อนดีกว่า
ปวดรอบศีรษะ... สัญญาณ “โรคเครียด”
นี่เป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด และมักจะมีสาเหตุมาจากความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือใช้สายตามากเกินไปจนกระตุ้นให้เกิดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อรอบศีรษะ ทำให้มีอาการปวดบริเวณหน้าผากไปจนถึงขมับทั้ง 2 ข้าง อาจลามไปจนถึงศีรษะด้านหลัง คอ บ่า และไหล่ได้ด้วย มักปวดต่อเนื่องตลอดทั้งวันหรือตลอดสัปดาห์ ถือเป็นอาการยอดฮิตสำหรับคนวัยทำงานเลยทีเดียว
DO: วิธีบรรเทาคือให้หยุดพักจากความเครียดเพื่อให้สมองได้ผ่อนคลาย หรือรับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการให้ดีขึ้น
ปวดหัวข้างเดียว ปวดขมับ... สัญญาณ “ไมเกรน”
ลักษณะอาการปวดไมเกรนคือมักปวดหัวข้างเดียวแบบตุ๊บๆ บริเวณขมับข้างใดข้างหนึ่ง อาจปวดสลับข้างซ้ายหรือขวา ปวดร้าวลงมาถึงกระบอกตา คลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ และหากได้รับสิ่งกระตุ้น เช่น แสงสว่าง เสียงดัง หรือกลิ่นฉุน ก็จะยิ่งกระตุ้นให้ปวดหัวรุนแรงมากขึ้นด้วย
DO: ควรหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นเหล่านี้ ไมเกรนสามารถบรรเทาลงได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวด เช่น ยาแอสไพริน ไอบูโพรเฟน หรือพาราเซตามอล แต่ใครที่มีอาการรุนแรงหรือเป็นไมเกรนเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านสมองและระบบประสาทจะดีที่สุด
ปวดหัวตรงโหนกแก้ม กลางใบหน้า... สัญญาณ “ไซนัสอักเสบ”
บริเวณกึ่งกลางของใบหน้าเป็นจุดของไซนัส ซึ่งหากมีอาการปวดอาจเกิดจากไซนัสอักเสบ โดยอาการปวดจะรุนแรงตั้งแต่โหนกแก้ม หน้าผาก ดั้งจมูก หว่างคิ้ว และหัวตา อาการปวดไซนัสอักเสบมักจะมาพร้อมกับอาการหวัดเรื้อรัง หายใจติดขัด มีน้ำมูกเขียว เป็นไข้ ไอ เจ็บคอ สาเหตุของอาการปวดเกิดจากไวรัสหรือแบคทีเรียที่อยู่ในโพรงไซนัส
DO: ควรใช้น้ำเกลือล้างจมูกเพื่อทำความสะอาด แต่หากมีการติดเชื้อจากแบคทีเรียแพทย์อาจสั่งยาฆ่าเชื้อร่วมด้วย ฉะนั้นหากมีอาการควรปรึกษาเเพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ
ปวดหัว ปวดใบหู ปวดกราม... สัญญาณ “โรคข้อต่อขากรรไกรและกล้ามเนื้อบดเคี้ยว"
หากคุณมีอาการปวดบริเวณหน้า ใบหู ช่วงกราม ขากรรไกร โดยเฉพาะตอนเช้าหลังตื่นนอน อ้าปากไม่ขึ้นหรือเคี้ยวอาหารไม่สะดวก เป็นไปได้ว่าอาจมีการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อบดเคี้ยว ข้อต่อขากรรไกร ซึ่งเกิดจากการนอนกัดฟันแบบไม่รู้ตัวระหว่างนอนหลับ
DO: วิธีรักษาอาการเบื้องต้น ให้ใช้น้ำอุ่นประคบบริเวณที่ปวด 20 นาที 3-5 ครั้งต่อวัน ทานยาแก้ปวด เลือกทานอาหารนิ่ม หลีกเลี่ยงอาหารแข็งที่ต้องกัด และหลีกเลี่ยงการเคี้ยวหมากฝรั่ง การนอนกัดฟันสามารถแก้ไขได้ด้วยการเข้าพบทันตแพทย์ ซึ่งส่วนใหญ่คุณหมอจะแนะนำให้ใส่ Splint ซึ่งเป็นอะครีลิคใส ใส่ฟันบนหรือล่างตอนนอน เพื่อลดการสึกของฟัน
ปวดหัวรุนแรง ฉับพลัน... สัญญาณ “โรคอันตรายทางสมอง”
ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดรุนแรงบริเวณรอบดวงตาแบบฉับพลันแบบไม่เคยเป็นมาก่อน การปวดหัวกินเวลานาน หรืออาจเป็นๆ หายๆ มองเห็นไม่ชัดเจน เห็นภาพซ้อน มีอาการชาหรืออ่อนแรง มีไข้ คอแข็ง อาการแบบนี้อาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของเยื่อหุ้มสมอง หรือสมองส่วนไฮโปทาลามัส ซึ่งมีความเสี่ยงโรครุนแรงทางสมอง อย่างเช่น “เนื้องอกในสมอง” หรือ “โรคหลอดเลือดสมอง” ได้
DO: ถ้ามีอาการแบบนี้ควรรีบพบแพทย์ทันที แม้จะมีอาการแค่ครั้งเดียว เพราะนี่อาจเป็นสัญญาณเตือนของระบบประสาทที่กำลังถูกทำลาย และอันตรายต่อชีวิต
เห็นมั้ยว่าอาการปวดหัวมีอยู่หลายรูปแบบมาก และอาจเป็นการส่งสัญญาณว่ากำลังมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในร่างกาย ฉะนั้นเราไม่ควรชะล่าใจและปล่อยทิ้งไว้เป็นอันขาด ใครที่มีอาการปวดหัว ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัดจะดีที่สุด!