ปลอดภัยจริงมั้ย? กับการใช้ ‘ถ้วยอนามัย’ ไอเท็มใหม่ของมนุษย์เมนส์สาย Eco-Friendly
วันนี้เราจะมาพูดถึง “ถ้วยอนามัย” ที่กลับมาเป็นเทรนด์ฮิตกันอยู่ตอนนี้ สิ่งที่หลายๆ คนพูดถึงกันมากก็คือในเรื่องของการที่มันสามารถช่วยเซฟโลกและบัดเจทในกระเป๋าของเราได้ด้วยอายุการใช้งานที่สามารถอยู่ได้นานเป็นปีๆ โดยที่ไม่ต้องซื้อเปลี่ยนบ่อยๆ เหมือนผ้าอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งที่เราใช้กันอยู่ในทุกๆ เดือน
และนี่คือ...สิ่งที่เรียกว่า ‘ถ้วยอนามัย’
เว็บไซด์ Heathline ได้อธิบายสิ่งที่เรียกว่า ‘ถ้วยอนามัย’ ไว้ว่าเป็นไอเท็มสุขอนามัยของสาวๆ ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ โดยมีลักษณะรูปทรงเหมือนกับกรวยหรือถ้วยขนาดเล็ก ที่ทำจากยางหรือซิลิโคน Medical Grade สามารถสอดใส่เข้าไปในช่องคลอดเพื่อไปกักเก็บประจำเดือนไว้ ซึ่งถ้าจะพูดกันจริงๆ และในต่างประเทศเองก็มีการใช้ถ้วยอนามัยนี้กันมานานหลายปีแล้ว เห็นได้จากแบรนด์ตามท้องตลาดทั่วไป ที่มีตั้งแต่ The Keeper, The Moon Cup, Lunette Menstrual Cup, DivaCup, Lena Cup, and Lily Cup
และเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ทางสำนักข่าวบีบีซีเองก็ยังเคยออกมาให้ความมั่นใจกับสาวๆ ว่า ‘ถ้วยอนามัย’ ที่ว่านี้เป็นไอเท็มที่มั่นใจได้ในประสิทธิภาพของการกักเก็บประจำเดือน ไม่ต้องกังวลกับปัญหาการรั่วซึม และเทียบเท่ากับการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด
กระแสความนิยม...ที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งจากผลการเก็บสถิติและข้อมูลของผู้หญิงในประเทศอังกฤษที่ตีพิมพ์ลงในเว็ปไซด์บีบีซีนั้นยังพบว่า เทรนด์การใช้ถ้วยอนามัยนี้กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่ในสหราชอณาจักรเอง ซึ่งเขาก็คาดคะเนว่าเหตุผลที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ นั้นก็น่าจะเป็นในเรื่องของการช่วยลดขยะจากการทิ้งผ้าอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งได้จำนวนมาก รวมถึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อผ้าอนามัยแบบเดิมได้ค่อนข้างมาก เพราะถ้วยหนึ่งมีอายุการใช้งานได้ยาวนานถึง 10 ปีเลยทีเดียว
Greenpeace ได้พูดถึงจำนวนขยะที่มาจากผ้าอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งว่า “ผ้าอนามัยปกติ ประกอบด้วยพลาสติก จำนวน 5 ชิ้น คือที่ปิดซอง ซองใส่ แผ่นติดกาวด้านหน้าและหลัง และตัวผ้าอนามัยเอง ซึ่งถ้า 1 เดือน เรามีประจำเดือน 5 วัน และเราต้องใช้ทั้งกลางวันกลางคืน เท่ากับว่าใน 1 ปี เราใช้ผ้าอนามัยไม่ต่ำกว่า 120 ชิ้น และเมื่อรวมกับบรรจุภัณฑ์ เราก็ใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งไปกว่า 600 ชิ้นเลยทีเดียว”
ในขณะที่ทางบีบีซีก็ได้มีการวิเคราะห์เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการซื้อไอเท็มที่เกี่ยวกับการมีประจำเดือนของผู้หญิงใน 18 ประเทศในเอเชีย ซึ่งพบว่า “ในแต่ละเดือน ผู้หญิงมีรายจ่ายโดยเฉลี่ยในการใช้จ่ายไปกับไอเท็มพวกนี้ประมาณ 6% ของเงินเดือน” เลยทีเดียว ซึ่งสมมุติว่าเงินเดือนอยู่ที่ 20,000 บาท ก็เท่ากับว่าคุณเสียเงินให้กับไอเท็มเหล่านี้เดือนละ 1,200 บาท ปีละ 14,400 บาท ซึ่งเป็นเงินจำนวนไม่น้อยเลยล่ะ
เซฟโลกได้ เซฟเงินดี...แต่เรื่อง Hygiene ก็ต้องยืนหนึ่ง
มาดูเรื่องของความไฮยีนกันบ้างดีกว่า ซึ่งเมื่อพูดถึงการนำกลับมาใช้ซ้ำ สิ่งที่หลายคนกำลังเป็นกังวลก็คือเรื่องของสุขอนามัย เพราะมันเป็นสิ่งที่ต้องเข้าไปอยู่ในร่างกายของเรา แล้วจะมั่นใจได้ยังไงว่ามันจะปลอดภัย ยิ่งใช้ต่อเนื่องกันเป็นปีๆ ความไฮยีนยิ่งต้องยืนหนึ่ง ตรงจุดนี้เราได้ไปศึกษาข้อมูลของแบรนด์ Organicup ซึ่งเขาได้อธิบายถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “ตัวถ้วยอนามัยนั้น ทำมาจากวัสดุที่เป็นซิลิโคนที่เป็นเกรดการแพทย์ 100% ซึ่งมีส่วนประกอบของซิลิคอน ออกซิเจน คาร์บอน และไฮโดรเจน ซึ่งไม่ได้มีการผสมสารเคมีอื่นใด จึงทำให้มั่นใจได้ว่าถูกสุขลักษณะ และไฮยีน รวมถึงเมื่อถ้วยได้เข้าไปอยู่ภายในปากมดลูกจะเป็นจุดที่เป็นสุญญากาศ ทำให้ปิดกั้นการเกิดแบคทีเรียได้” ทางแบรนด์ยังบอกอีกว่าจริงๆ แล้วการติดเชื้อต่างๆ น่าจะมาจากแบคทีเรียที่อยู่บนมือของเราด้วยซ้ำ ที่พอไปจับถ้วยก็อาจทำให้ปนเปื้อนมากกว่า เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญคือเราต้องแน่ใจว่าก่อนที่จะใส่ถ้วยอนามัยต้องล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ก่อนทุกครั้ง และหลังจากใช้งานเสร็จควรลวกน้ำร้อนเพื่อชำระล้างสิ่งสกปรกไม่ให้ตกค้าง
“เพื่อสุขอนามัยที่ดี แนะนำให้เปลี่ยนถ้วนอนามัยทุกๆ 8-12 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการเกิดแบคทีเรียที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้”
ลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดภาวะ TSS
อีกหนึ่งความกังวลก็คือการใช้ถ้วยอนามัยนั้นจะมีโอกาสเกิดภาวะช็อคเฉียบพลันจากพิษของแบคทีเรีย (Toxic Shock Syndrome – TSS) ซึ่งปกติแล้วพิษของแบคทีเรียจะไม่อันตรายต่อร่างกายของเรา แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เรามีแผล ก็มีสิทธิที่มันจะสามารถเข้าไปตามกระแสเลือดแล้วทำให้เกิดภาวะเป็นพิษนี้ได้ และความร้ายแรงคือมันจะทำให้ระบบภายในของร่างกายล้มเหลวอย่างน้อย 3 ระบบ ซึ่งอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 7 ใน 10 คน
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าวัสดุสังเคราะห์ที่ถูกนำมาใช้ในผ้าอนามัยแบบสอดอาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะนี้ได้ รวมถึงการที่มีผ้าอนามัยแบบสอดเข้าไปอยู่ในร่างกายเป็นเวลานานเกินไป ซึ่งจะทำให้เกิดแบคทีเรียจำนวนมาก และอาจส่งผลอันตรายต่ออวัยวะต่างๆ ในร่างกายได้ แต่กับการใช้ถ้วยอนามัยนั้น อย่างที่บอกว่าเราควรเปลี่ยนทุกๆ 8-12 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นความเสี่ยงในการก่อให้เกิดแบคทีเรียก็ย่อมน้อยกว่าการใส่ผ้าอนามัยแบบสอด
เอาเป็นว่าใครที่สนใจ ตอนนี้หลายๆ แบรนด์ก็เริ่มมีขายกันบ้างแล้ว แต่สิ่งสำคัญก็คือ การเลือกวัสดุของถ้วยอนามัยควรเลือกที่ทำมาจากซิลิโคนเกรดการแพทย์ ราคาอาจจะสูงซักนิดเมื่อเทียบกับวัสดุที่ทำมาจากพลาสติก แต่เรื่องแบบนี้เชื่อเถอะว่าความปลอดภัยต้องยืนหนึ่ง